สมองบวม

ความหมาย สมองบวม

สมองบวม (Cerebral Edema) เป็นภาวะที่มีของเหลวส่วนเกินสะสมในสมอง อาจเกิดขึ้นกับสมองบางส่วนหรือทั่วทั้งสมอง จนทำให้สมองบวมและมีความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการบาดเจ็บและอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ซึ่งภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากรับการรักษาไม่ทันการณ์

1747 สมองบวม rs

อาการของสมองบวม

อาการของสมองบวมขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรง ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในทันที โดยทั่วไปสามารถสังเกตได้จากอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดหัว เวียนหัว
  • ปวดคอ คอแข็ง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • อาการชา
  • มีปัญหาในการมองเห็น
  • เดินลำบาก
  • พฤติกรรมและอารมณ์เปลี่ยนแปลงไป
  • พูดผิดปกติ หรือพูดลำบาก
  • อ่อนแรง
  • สูญเสียความทรงจำ
  • ไม่รู้สึกตัว
  • หมดสติ
  • ชัก

สาเหตุของสมองบวม

ภาวะสมองบวมนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • การบาดเจ็บของสมอง เมื่อได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างถูกกระแทกหรือพลัดตกจากที่สูง อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสมองและทำให้เนื้อเยื่อในสมองเกิดการบวม รวมทั้งการบาดเจ็บอย่างรุนแรงจนกะโหลกศีรษะแตกก็ทำให้เส้นเลือดในสมองแตกหรือส่งผลให้สมองบวมได้เช่นกัน
  • โรคหลอดเลือดสมอง สมองบวมอาจเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองได้ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือด (Ischemic Stroke) ซึ่งมีสาเหตุมาจากการอุดตันของลิ่มเลือดบริเวณสมอง ทำให้เลือดและออกซิเจนไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้อย่างเพียงพอ จนทำให้เซลล์ในสมองตายและส่งผลให้สมองเกิดการบวมในเวลาต่อมา
  • การติดเชื้อ แบคทีเรียหรือไวรัสบางชนิดอาจทำให้เกิดโรคและความผิดปกติที่นำไปสู่สมองอักเสบและเกิดการบวมได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีหนองที่เยื่อหุ้มสมอง ไข้สมองอักเสบ และโรคทอกโซพลาสโมซิส เป็นต้น  
  • เนื้องอก หากมีเนื้องอกขนาดใหญ่อาจไปปิดกั้นการไหลเวียนของน้ำในไขสันหลัง ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะสมองบวมและทำให้ความดันในกะโหลกสูงขึ้น

การวินิจฉัยสมองบวม

อาการสมองบวมสามารถวินิจฉัยได้ค่อนข้างยาก ต้องมีการตรวจอย่างละเอียดและเหมาะสม โดยการวินิจฉัยนั้นจะขึ้นอยู่กับอาการและสาเหตุ ซึ่งอาจมีขั้นตอนดังนี้

  • การซักประวัติทางการแพทย์ เช่น สอบถามถึงอาการต่าง ๆ โรคประจำตัว และประวัติการรักษาโรค เป็นต้น
  • การตรวจร่างกาย โดยแพทย์จะตรวจระบบประสาทและสมองร่วมกับตรวจบริเวณศีรษะและคอ อาจรวมถึงตรวจบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บด้วย
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (CT Scan) เป็นการตรวจเพื่อให้สามารถเห็นภาพรายละเอียดต่าง ๆ รวมทั้งความผิดปกติของสมองและความรุนแรงของโรค
  • การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) เป็นการตรวจหาความผิดปกติของสมองอย่างละเอียด เพื่อให้สามารถระบุความผิดปกติของสมองได้
  • การตรวจเลือด แพทย์จะตรวจเลือดเพื่อประกอบการวิเคราะห์ถึงสาเหตุในการเกิดสมองบวม

การรักษาสมองบวม

สมองบวมถือเป็นภาวะอันตรายที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นหรืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยการรักษานั้นมีจุดประสงค์เพื่อทำให้เลือดและออกซิเจนไหลเวียนเข้าสู่สมองได้ตามปกติและลดภาวะสมองบวม ซึ่งแพทย์อาจรักษาหลายวิธีร่วมกัน ดังนี้

  • ให้ยาลดสมองบวม การใช้ยาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ โดยทั่วไปแพทย์อาจให้ยาบรรเทาอาการบวมและป้องกันการเกิดลิ่มเลือด เพื่อให้ร่างกายตอบสนองต่ออาการบวมช้าลง ซึ่งแพทย์อาจให้ยาลดสมองบวมชนิดที่มีความเข้มข้นสูงในผู้ป่วยบางราย เพื่อเอาของเหลวออกมาจากสมองและทำให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น เพราะอาการสมองบวมนั้นอาจเกิดขึ้นได้จากของเหลวส่วนเกินด้วย
  • ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ เป็นการให้ของเหลวหรือยาผ่านทางการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เพื่อช่วยไม่ให้ความดันเลือดลดต่ำเกินไป ซึ่งการรักษานี้จะทำให้ร่างกายและสมองได้รับเลือดอย่างเพียงพอ โดยแพทย์มักให้ยาหรือของเหลวที่เหมาะกับคนไข้ เนื่องจากของเหลวบางชนิดอาจทำให้อาการสมองบวมแย่ลงได้
  • ระบายน้ำไขสันหลังจากสมอง เป็นการผ่าตัดนำท่อใส่เข้าไปบริเวณกะโหลกเพื่อระบายน้ำส่วนเกินออกจากสมอง โดยจะช่วยลดความดันในกะโหลกศีรษะและลดอาการบวมได้
  • ลดอุณหภูมิร่างกาย แพทย์จะทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดลง เพื่อช่วยลดอัตราการเผาผลาญในสมองและบรรเทาอาการบวม แต่การรักษาเช่นนี้อาจทำได้ยากและยังไม่เป็นที่แพร่หลาย อีกทั้งยังจำเป็นต้องศึกษาประสิทธิภาพในการรักษาด้วยวิธีนี้เพิ่มเติม
  • ผ่าตัดกะโหลกศีรษะ อาจทำได้หลายวิธี ซึ่งมักใช้กับภาวะสมองบวมที่มีความรุนแรง เพื่อลดความดันในกะโหลกศีรษะ โดยการผ่าตัดกะโหลกศีรษะอาจเป็นการตัดบางส่วนของกะโหลกศีรษะออก หรืออาจตัดส่วนที่เป็นต้นเหตุของอาการบวมอย่างเนื้องอกออกไป รวมทั้งรักษาต้นเหตุของอาการบวม เช่น รักษาหลอดเลือดเเดงหรือหลอดเลือดดำในสมอง เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนจากสมองบวม

ภาวะสมองบวมถือเป็นอาการที่มีความรุนแรงมาก หากไม่รับการรักษาอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หรือหากรับการรักษาช้าเกินไปก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวตามมา เช่น การคิด การตัดสินใจ หรือการนอนหลับผิดปกติ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป การสื่อสารมีปัญหา ความสามารถในการจำลดลง เป็นต้น

การป้องกันสมองบวม

วิธีการป้องกันภาวะสมองบวมอาจทำได้ ดังนี้

  • ไม่สูบบุหรี่
  • ป้องกันการบาดเจ็บบริเวณศีรษะ เช่น คาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับรถหรือนั่งรถ สวมหมวกนิรภัยเพื่อป้องกันการกระแทกที่ศีรษะ สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเมื่อต้องเล่นกีฬาที่มีการปะทะกัน เป็นต้น
  • หากมีปัญหาความดันโลหิตสูงควรรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ เพื่อควบคุมอาการให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ