ศึกษาขั้นตอนก่อนทำตาสองชั้น

การทำตาสองชั้น เป็นกระบวนการศัลยกรรมด้วยการกรีดเปลือกตา แล้วเย็บหนังตากลับเข้าด้วยกันเพื่อทำให้เกิดชั้นตาขึ้นมา ทั้งนี้อาจรวมถึงการผ่าตัดเอาผิวหนังและไขมันบริเวณชั้นตาที่มีมากเกินออกไปด้วย ซึ่งการทำตาสองชั้นจะช่วยให้ใบหน้าดูมีชีวิตชีวามากขึ้นและแต่งหน้าง่ายขึ้น รวมถึงช่วยแก้ไขความยากลำบากในการมองเห็นในกรณีของผู้สูงอายุที่ตาชั้นบนหย่อนคล้อย

อย่างไรก็ตาม แม้การทำตาสองชั้นจะมีประโยชน์ แต่ก็อาจมีความเสี่ยงได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่สนใจทำตาสองชั้นควรศึกษาถึงขั้นตอนการทำ ข้อดี ข้อเสีย และความเสี่ยงให้ดีก่อนตัดสินใจ ซึ่งพบแพทย์ได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ไว้แล้วในบทความนี้

ศึกษาขั้นตอนก่อนทำตาสองชั้น

ประโยชน์ของการทำตาสองชั้น

ชั้นหนังตาที่มีพื้นที่ผิวหรือไขมันมากเกินไปอาจส่งผลให้หนังตาดูหนาคล้อย บวมพอง และดูมีอายุ การผ่าตัดเอาผิวหนังและไขมันที่มีมากเกินออกไปจึงช่วยให้ใบหน้าดูอ่อนเยาว์ มีชีวิตชีวา นอกจากนี้ยังเป็นทางเลือกของคนตาชั้นเดียวที่ต้องการมีตาสองชั้นเพื่อช่วยเสริมให้มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น

แม้ว่าการทำตาสองชั้นส่วนใหญ่มักจะทำเพื่อความสวยความงาม แต่สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาชั้นหนังตาหย่อนคล้อยบดบังการมองเห็น การผ่าตัดเอาไขมันและผิวหนังที่ตาออกนี้ยังสามารถช่วยทำให้มองเห็นภาพต่าง ๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ใครบ้างที่สามารถทำตาสองชั้นได้ 

ผู้เข้ารับการผ่าตัดทำตาสองชั้นส่วนใหญ่จะเป็นหญิงวัยรุ่นตอนกลางหรือช่วงอายุ 20 ปี ต้น ๆ ส่วนผู้ชายที่ต้องการทำตาสองชั้นก็พบได้บ้าง โดยมากอยู่ในช่วงอายุ 20 ตอนปลายถึงช่วง 30 ตอนต้น สาเหตุของการทำตาสองชั้นในผู้หญิงอาจมาจากตาชั้นเดียวที่ทำให้แต่งหน้าลำบาก หรือคนที่ติดสติกเกอร์ตาสองชั้นเป็นประจำและไม่อยากเสียเวลายุ่งยากอีกต่อไป 

ส่วนคนที่มีอายุสูงขึ้นมาอาจต้องการทำตาสองชั้นเนื่องจากหนังตาชั้นบนเริ่มหย่อยคล้อยและบดบังการมองเห็นของดวงตา

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องการทำตาสองชั้นควรมีสุขภาพดี นอกจากนี้แพทย์ยังต้องพิจารณาถึงวุฒิภาวะของคนไข้ โดยควรมีอายุมากพอที่จะใช้ยาระงับประสาทแบบรับประทานหรือฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ รวมถึงมีความเข้าใจและยอมรับความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังจากผ่าตัดได้

หากเป็นวัยรุ่นอายุ 15–16 ปี แพทย์ยิ่งต้องดูวุฒิภาวะ เพราะวัยรุ่นหลาย ๆ คนในช่วงวัยนี้อาจยังไม่พร้อมเผชิญปัญหาจากภาวะแทรกซ้อนที่มีโอกาสเกิดขึ้น และหากทำก็ควรเลือกขั้นตอนที่ง่ายและมีโอกาสผิดพลาดได้น้อยที่สุด

กระบวนการทำตาสองชั้น

การทำตาสองชั้นมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

การเตรียมตัว

ก่อนการทำศัลยกรรมตาสองชั้น แพทย์จะซักถามเกี่ยวกับประวัติการผ่าตัดที่ผ่านมา รวมถึงอาการหรือโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ เช่น สอบถามว่ามีอาการตาแห้ง มีโรคต้อหิน ภูมิแพ้ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเกี่ยวกับไทรอยด์ หรือเบาหวานหรือไม่ นอกจากนี้ ยังสอบถามถึงยารักษาโรค วิตามิน อาหารเสริม และยาสมุนไพรที่กำลังใช้อยู่ รวมถึงพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือการใช้สารเสพติด

ผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดทำตาสองชั้น ควรได้รับการตรวจร่างกายอย่างละเอียดและพูดคุยกับศัลยแพทย์เกี่ยวกับกระบวนการทำ การดูแลหลังผ่าตัด ประโยชน์และความเสี่ยง รวมถึงผลลัพธ์ของการทำตาสองชั้นที่ตนเองต้องการ เพื่อให้เกิดความพึงพอใจในผลการผ่าตัดมากที่สุด

เช่นเดียวกับการศัลยกรรมตาอื่น ๆ ผู้ที่ทำตาสองชั้นจะได้รับการตรวจต่อไปนี้ก่อนถึงกระบวนการผ่าตัด

  • การตรวจร่างกาย อาจมีการทดสอบการผลิตน้ำตาของดวงตาและวัดส่วนต่าง ๆ ของหนังตา
  • การตรวจสายตา ต้องมีผลสอดคล้องกับเงื่อนไขของการคุ้มครองการผ่าตัดศัลยกรรม
  • การถ่ายภาพชั้นหนังตาในมุมต่าง ๆ เอาไว้ เพื่อช่วยในการวางแผนผ่าตัด รวมถึงการประเมินถึงผลข้างเคียงจากการผ่าตัดในระยะสั้นและระยะยาว

คนไข้ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หยุดรับประทานยาระงับปวดอย่างแอสไพริน ไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน รวมทั้งยา อาหารเสริม และสมุนไพรใด ๆ ที่จะส่งผลให้มีเลือดออกมากยิ่งขึ้น โดยควรงดใช้ยาเหล่านี้ 2 สัปดาห์ก่อนและหลังผ่าตัด ควรงดสูบบุหรี่เป็นเวลาหลายสัปดาห์ก่อนการผ่าตัดเพราะจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของร่างกาย

นอกจากนี้ยังควรทบทวนคำแนะนำหลังการผ่าตัดเพื่อเตรียมความพร้อมหลังผ่าตัดเรียบร้อย โดยเตรียมยาบรรเทาอาการปวด หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็น เช่น แผ่นเจลประคบเย็น น้ำตาเทียม และผ้าทำแผลแผ่นเล็กไว้ที่บ้านให้พร้อมสำหรับการดูแลตนเองหลังผ่าตัด โดยควรมีคนขับรถพากลับบ้านหากไม่พักฟื้นที่โรงพยาบาลในวันผ่าตัด หรือมีคนเฝ้าไข้หากต้องนอนที่โรงพยาบาลในคืนนั้น

ขั้นตอนการผ่าตัดทำตาสองชั้น

การทำตาสองชั้นโดยทั่วไปสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่ วิธีเปิดแผลและวิธีเย็บแผล ซึ่งวิธีหลังนิยมใช้กับผู้ที่มีผิวชั้นตาบางอย่างชาวเอเชีย และหากคนไข้มีไขมันที่ชั้นตามากเกินก็อาจนำออกมาผ่านแผลเจาะขนาดเล็ก ส่วนวิธีเปิดแผลมักใช้กับผู้ที่มีหนังตามากเกินไป

ขั้นแรกของการผ่าตัดทำตาสองชั้น ศัลยแพทย์มักฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณรอบ ๆ ดวงตาร่วมกับการใช้ยาระงับความรู้สึกชนิดรับประทาน หลังจากยาออกฤทธิ์จึงผ่าที่หนังตาชั้นบนตามรอยชั้นตาธรรมชาติ จากนั้น หากต้องนำเอาไขมันหรือผิวหนังออก ก็จะแยกผิวหนังออกจากเนื้อเยื่อด้านล่างแล้วจึงนำเอาไขมัน ผิวหนัง หรือกล้ามเนื้อที่อาจมีมากเกินออก 

ขั้นตอนสุดท้ายคือการเย็บแผลให้มีขนาดเล็กมาก ๆ ซึ่งแผลที่หนังตาชั้นบนนี้จะคงอยู่เป็นเวลา 3–6 วันจึงจะหาย

การพักฟื้นหลังการผ่าตัด

แผลจากการผ่าตัดชั้นหนังตามักฟื้นตัวได้ในเวลาไม่นานนัก แม้ว่าจะมีอาการบวมแดงมากกว่าเดิมในวันถัดมาหลังจากผ่าตัด แต่อาการเหล่านี้มักจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยใน 48 ชั่วโมงนี้หากหมั่นใช้น้ำแข็งประคบเย็ที่แผลก็จะช่วยลอดอาการบวมแดงรอบ ๆ ดวงตาและที่ใบหน้าได้มาก คนไข้อาจหนุนหมอนให้สูงขึ้นก็สามารถช่วยลดบวมได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ควรหมั่นทำความสะอาดดวงตาเบา ๆ และใช้ขี้ผึ้งหรือยาหยอดตาตามคำแนะนำของแพทย์ ป้องกันดวงตาจากแดดและลมด้วยการสวมใส่แว่นตากันแดด ในวันแรก ๆ ยังไม่ควรรับประทานยาระงับปวดหรือยาอื่น ๆ ที่จะทำให้เลือดออกเพิ่มขึ้น หากจำเป็นควรรับประทานแต่พาราเซตามอลบรรเทาปวด

ควรเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก งดสูบบุหรี่ ไม่ใส่คอนแทคเลนส์หรือขยี้ดวงตา ทั้งนี้ช่วงการพักฟื้นมักใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์จึงกลับไปทำงานได้ตามปกติ

ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการหายใจเหนื่อยหอบ หัวใจเต้นผิดปกติ เจ็บหน้าอก มีเลือดออก มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น หรือเจ็บที่ดวงตาขึ้นมาอย่างรุนแรง

ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด

กระบวนการผ่าตัดใด ๆ ก็ตามล้วนมีความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกมาก การเกิดลิ่มเลือดขึ้นในหลอดเลือดดำ รวมทั้งเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพ้ยาชาได้ ส่วนภาวะข้างเคียงเฉพาะการผ่าตัดชั้นหนังตาที่มีโอกาสเกิดขึ้น ได้แก่

  • ตาพร่าหรือมองเห็นภาพซ้อนชั่วคราว
  • ดวงตาทั้งสองข้างอาจดูไม่สมมาตรกัน
  • ชั้นหนังตาพับผิดปกติหรือเป็นรอยพับไม่ชัด
  • หนังตาตก
  • หนังตาบนร่นขึ้น
  • สีของชั้นหนังตาไม่สม่ำเสมอ
  • มีเลือดสะสมใต้ชั้นผิวหนัง ซึ่งมักหายไปได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์
  • รอยแผลเป็นที่สังเกตเห็นได้

ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่รุนแรงซึ่งอาจเกิดขึ้นได้มีดังนี้

  • กล้ามเนื้อดวงตาได้รับบาดเจ็บ
  • หนังตาชั้นล่างหย่อนคล้อยลง
  • ตาบอด ซึ่งภาวะแทรกซ้อนนี้พบได้น้อยมาก