วิตามินบี 12

วิตามินบี 12

วิตามินบี 12 เป็นวิตามินละลายน้ำที่สังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้รักษาและป้องกันภาวะขาดวิตามินบี 12 เนื่องจากร่างกายของคนเราสร้างขึ้นเองไม่ได้ จำต้องได้รับจากอาหารเป็นหลัก แพทย์อาจสั่งจ่ายวิตามินเสริมชนิดนี้ให้แก่ผู้ป่วยซึ่งเป็นโรคที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินบี 12 เช่น โรคติดเชื้อเอชไอวี โรคขาดสารอาหาร โรคมะเร็งบางชนิด โรคอัลไซเมอร์ โรคหัวใจ หรือใช้เป็นวิตามินเสริมแก่หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์น้อย มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ติดสุรา เป็นต้น

วิตามินบี 12

วิตามินบี 12 มีหน้าที่สำคัญหลายอย่าง เช่น ช่วยเปลี่ยนสารอาหารที่รับประทานเข้าไปให้อยู่ในรูปของกลูโคสเพื่อเป็นแหล่งพลังงานในร่างกาย เสริมการทำงานของระบบประสาทและไขสันหลัง ช่วยในกระบวนการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง ป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดมีขนาดใหญ่ผิดปกติ ช่วยสร้างไขกระดูก เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร และเยื่อบุทางเดินหายใจ ช่วยสังเคราะห์สารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ เป็นต้น

ทั้งนี้ วิตามินบี 12 มีอีกชื่อหนึ่งว่าโคบาลามิน (Cobalamin) และแยกย่อยได้เป็นหลายชนิด เช่น ไซยาโนโคบาลามิน (Cyanocobalamin) ไฮดรอกโซโคบาลามิน (Hydroxocobalamin) อะดีโนซิล โคบาลามิน (Adenosyl Cobalamin) หรือเมทิลโคบาลามิน (Mecobalamin) แต่ชนิดที่นำมาใช้รักษาภาวะขาดวิตามินบี 12 มากที่สุด คือ ไซยาโนโคบาลามิน ในปัจจุบัน วิตามินบี 12 มักเป็นส่วนประกอบในวิตามินบีรวม หรือรวมอยู่ในวิตามินชนิดอื่น เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมวิตามินชนิดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้วิธีฉีดหรือพ่นแทนการรับประทาน

เกี่ยวกับวิตามินบี 12

กลุ่มยา วิตามิน
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้เอง
สรรพคุณ ป้องกันและรักษาการขาดวิตามินบี 12
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทานชนิดเม็ด ยาฉีด ยาพ่น

คำเตือนของการใช้วิตามินบี 12

  • ผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับหัวใจ โรคตับ โรคไต ภาวะติดเชื้อ โรคตาบางชนิด โรคเม็ดเลือดแดงข้น โรคเก๊าท์ โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กหรือกรดโฟลิก ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ และผู้ที่กำลังรับประทานยาหรือได้รับการรักษาเกี่ยวกับไขกระดูก ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ทุกครั้ง
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการย่อยและการดูดซึมสารอาหารหรือวิตามินบี 12 ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เช่น เป็นโรคโลหิตจางชนิดร้ายแรงจากการขาดวิตามินบี 12 เคยเข้ารับการผ่าตัดกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก ได้รับการฉายแสงบริเวณลำไส้เล็ก เป็นต้น โดยทั่วไป ผู้ป่วยเหล่านี้จะได้รับวิตามินบี 12 ในรูปแบบการฉีดหรือพ่นทางจมูกแทน เพราะร่างกายดูดซึมวิตามินชนิดนี้ผ่านการรับประทานได้ไม่ดี  
  • หญิงมีครรภ์ กำลังวางแผนจะมีบุตร หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานวิตามินบี 12 และใช้ภายใต้คำแนะนำอย่างเคร่งครัด

ปริมาณการใช้วิตามินบี 12

วิตามินบี 12 ในรูปแบบอาหารเสริมมีให้เลือกหลากหลายสูตร บางสูตรมีส่วนประกอบหรือวิตามินชนิดอื่นเพิ่มเติม ทำให้ปริมาณการใช้อาจแตกต่างกันออกไป สำหรับผู้ป่วยภาวะขาดวิตามินบี 12 ทั่วไป ผู้ใหญ่ควรรับประทาน วันละ 25-2,000 ไมโครกรัม เด็กควรรับประทานวันละประมาณ 0.5-3 ไมโครกรัม ส่วนการใช้วิตามินบี 12 ในรูปแบบอื่นอาจต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล ซึ่งปริมาณและระยะเวลาในการใช้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์หรือเภสัชกรเป็นหลัก เพราะต้องมีการประเมินสาเหตุและความรุนแรงของอาการผู้ป่วยร่วมด้วย

ทั้งนี้ ปริมาณวิตามินบี 12 ที่ร่างกายควรได้รับต่อวันตามแต่ละช่วงอายุ มีดังนี้

เด็ก

  • แรกเกิด-อายุ 5 เดือน ควรได้รับวิตามินบี 12 จากน้ำนมแม่เป็นหลัก
  • อายุ 6-11 เดือน ควรได้รับวิตามินบี 12 ประมาณ 0.5 ไมโครกรัม/วัน
  • อายุ 1-3 ปี ควรได้รับวิตามินบี 12 ประมาณ 0.9 ไมโครกรัม/วัน
  • อายุ 4-8 ปี ควรได้รับวิตามินบี 12 ประมาณ 1.2 ไมโครกรัม/วัน

วัยรุ่นและผู้ใหญ่

  • อายุ 9-12 ปี ควรได้รับวิตามินบี 12 ประมาณ 1.8 ไมโครกรัม/วัน
  • อายุ 13 ปีขึ้นไป ควรได้รับวิตามินบี 12 ประมาณ 2.4 ไมโครกรัม/วัน
  • หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินบี 12 เพิ่มจากปริมาณปกติประมาณ 0.2 ไมโครกรัม/วัน
  • คุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรได้รับวิตามินบี 12 เพิ่มจากปริมาณปกติประมาณ 0.4 ไมโครกรัม/วัน

การใช้วิตามินบี 12

  • ก่อนใช้วิตามินบี 12 ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากเคยมีประวัติการแพ้ยา มีโรคประจำตัว หรือกำลังใช้ยา สมุนไพร และอาหารเสริมใด ๆ เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียง
  • ควรปฎิบัติตามรายละเอียดบนฉลากหรือตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรเปลี่ยน เพิ่ม หรือลดปริมาณการใช้ด้วยตนเอง รวมทั้งควรกลับไปพบแพทย์ทุก ๆ 3-6 เดือน เพื่อตรวจดูระดับวิตามินบี 12 ในร่างกายและประเมินระยะเวลาในการรักษาต่อไป
  • โดยปกติ ควรรับประทานวันละ 1 ครั้ง หลังมื้ออาหาร อาจเลือกรับประทานในช่วงเวลาเดิมของทุกวัน เพื่อช่วยให้จดจำได้ง่าย และไม่ควรรับประทานวิตามินซีในช่วงเวลาใกล้เคียงกับวิตามินบี 12 เพราะอาจทำให้ร่างกายดูดซึมวิตามินบี 12 ได้น้อยลง ควรเว้นช่วงอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
  • ควรรับประทานวิตามินบี 12 อย่างเหมาะสมตามแต่ละรูปแบบ เพื่อให้ร่างกายดูดซึมไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ชนิดเม็ดควรกลืนไปทั้งเม็ดและดื่มน้ำตามมาก ๆ ไม่ควรหัก แบ่ง หรือเคี้ยวก่อนกลืน ชนิดอมใต้ลิ้นควรวางใต้ลิ้นให้ละลาย ไม่ควรกลืนไปทั้งเม็ด ส่วนชนิดฉีดเข้าร่างกายควรได้รับการฉีดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสถานพยาบาลเท่านั้น
  • ในกรณีที่ลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด ควรรับประทานยาทันที หากใกล้ถึงเวลา ให้ข้ามไปรับประทานยาในครั้งถัดไป ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • ปริมาณการใช้วิตามินบี 12 ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ การตอบสนองของร่างกาย และประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย หากต้องการซื้อวิตามินมารับประทานเองควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงปริมาณและวิธีการใช้ที่เหมาะสม โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ หญิงกำลังให้นมบุตร ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ หรือผู้สูงอายุ เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจต้องการวิตามินบี 12 ในปริมาณมากกว่าบุคคลทั่วไป
  • ผู้ป่วยโรคโลหิตจางชนิดร้ายแรงจากการขาดวิตามินบี 12 ควรได้รับกรดโฟลิกควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงได้ตามปกติ
  • หากมีอาการผิดปกติหรือรุนแรงขึ้นหลังใช้ ควรรีบไปพบแพทย์

ผลข้างเคียงจากการใช้วิตามินบี 12

วิตามินบี 12 มักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรืออาการแพ้ หากใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม บางรายอาจมีอาการท้องเสียหรือผื่นขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายกำลังปรับตัว โดยอาการมักดีขึ้นในไม่ช้า ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคโลหิตจางชนิดรุนแรงอาจเสี่ยงเกิดภาวะโพแทสเซียมต่ำ ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริวง่าย และหัวใจเต้นผิดปกติได้ หากมีอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์ทันที

นอกจากนี้ หากมีอาการแพ้ยา จนทำให้รู้สึกวิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ เกิดผื่นแดง คัน และมีอาการบวมบริเวณใบหน้า คอ ลิ้น หรือมีอาการรุนแรงอื่น ๆ เช่น ปวดท้อง ปากหรือเล็บเขียวคล้ำ มีเลือดออกตามไรฟันหรือจมูก แน่นหน้าอก หายใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ตัวซีด เหนื่อยง่ายผิดปกติ เจ็บตา น้ำหนักเพิ่มขึ้นผิดปกติ ปัสสาวะน้อยลง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที