ลูกไอไม่หยุด รวมสาเหตุและวิธีดูแลอาการ

ลูกไอไม่หยุดเป็นอาการป่วยที่มักทำให้พ่อแม่กังวลใจ อาการไอไม่หยุดหรือไอเรื้อรังในเด็กมีหลายลักษณะ เด็กอาจมีอาการไอแห้ง ไอมีเสมหะ หรือไอมีเสียงดัง ซึ่งอาการจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น การติดเชื้อในทางเดินหายใจ ไซนัสอักเสบ ภูมิแพ้ หอบหืด และโรคอื่น ๆ

อาการไอเป็นปฏิกิริยาของร่างกายในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคออกจากระบบทางเดินหายใจ โดยทั่วไป อาการไอในเด็กมักเกิดขึ้นช่วงสั้น ๆ และหายได้เอง แต่กรณีที่ลูกไอไม่หยุดต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน จะส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และรบกวนการนอนหลับ พ่อแม่ควรสังเกตอาการและดูแลลูก เพื่อช่วยบรรเทาอาการไอไม่หยุดให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น

ลูกไอไม่หยุด

9 สาเหตุที่ทำให้ลูกไอไม่หยุด

ลูกไอไม่หยุด ไอบ่อย หรือไอเรื้อรังไม่หายขาด อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

1. อาการไอหลังติดเชื้อไวรัส (Post-Viral Infections)

ภาวะนี้พบได้บ่อยหลังจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด ไข้หวัดใหญ่ และการติดเชื้อไวรัส RSV ที่พบได้บ่อยในเด็ก โดยทั่วไปการติดเชื้อเหล่านี้มักหายไปภายใน 1–2 สัปดาห์

แต่เด็กบางคนอาจมีอาการไอต่อเนื่องได้อีก 3–8 สัปดาห์ โดยอาจเกิดการอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสก่อนหน้านี้ หรือจากการที่เสมหะหรือน้ำมูกไหลลงคอ

2. ไซนัสอักเสบ (Sinusitis)

ไซนัสอักเสบในเด็ก เกิดได้จากการติดเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุที่อาจทำให้ลูกไอไม่หยุดได้ โดยเกิดจากการอักเสบของเยื่อบุโพรงอากาศบริเวณข้างจมูก ทำให้คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอมีเสมหะนานประมาณ 7–10 วัน เด็กอาจมีอาการอื่นด้วย เช่น ไข้ต่ำ อ่อนเพลีย ปวดกระบอกตา ปวดหัว และลมหายใจมีกลิ่นเหม็น

3. หลอดลมอักเสบ (Bronchitis)

หลอดลมอักเสบในเด็กจะมีอาการหลักที่สังเกตได้คือ ลูกไอไม่หยุด โดยอาจไอแห้งหรือไอมีเสมหะสีใส เหลือง เขียว เจ็บคอ เจ็บหน้าอกจากการไอบ่อย คัดจมูก ปวดหัว มีไข้ อ่อนเพลีย

สาเหตุอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ และการติดเชื้อแบคทีเรีย เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด และภูมิแพ้ อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดลมอักเสบมากขึ้น

4. ภูมิแพ้ (Allergies)

ภูมิแพ้เป็นภาวะที่ร่างกายตอบสนองต่อสารบางอย่างผิดปกติ เช่น อาหาร ไรฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ สะเก็ดผิวหนังสัตว์เลี้ยง ทำให้ร่างกายปล่อยสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ออกมา 

พ่อแม่อาจสังเกดได้ว่าลูกไอไม่หยุด คัดจมูก น้ำมูกไหล คันตา คันจมูก คันตา ตาแดง ใบหน้า รอบปาก และลำคอบวม มีผื่นขึ้นตามตัว ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี หรือเกิดเฉพาะฤดูกาลก็ได้ ขึ้นอยู่กับสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้

5. โรคหืด (Asthma)

โรคหืด หรือที่เรียกกันว่าหอบหืด เป็นภาวะที่ทางเดินหายใจตีบแคบลงเมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ ควันบุหรี่ และมลภาวะ โรคหืดเป็นสาเหตุของอาการไอเรื้อรังในเด็กที่พบบ่อย ทำให้ลูกไอไม่หยุด เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด ซึ่งจะทำให้นอนหลับไม่เต็มอิ่ม  

6. กรดไหลย้อน (Acid Reflux)

ลูกไอไม่หยุดอาจเป็นผลจากภาวะกรดไหลย้อนได้ โดยเกิดจากการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหาร ทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมา 

ทารกและเด็กเล็กที่ไม่สามารถบอกอาการได้ อาจอาเจียนนมหรืออาหารที่รับประทานออกมา และงอแงไม่ยอมรับประทานอาหารหรือนม ส่วนเด็กโตอาจมีอาการจุกเสียดท้อง เรอบ่อย แสบร้อนบริเวณอก และมีอาการไอ โดยเฉพาะเวลานอนลง

7. สิ่งแปลกปลอมติดในทางเดินหายใจ

หากมีอาหาร ของเล่น หรือสิ่งของชิ้นเล็กติดอยู่ในลำคอ อาจทำให้เกิดการสำลัก หายใจติดขัด และทำให้ลูกไอไม่หยุด กรณีที่สิ่งแปลกปลอมมีขนาดเล็กหรืออุดกั้นทางเดินหายใจเพียงบางส่วน การไอจะช่วยให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกจากลำคอได้ แต่กรณีที่อาการรุนแรง อาจทำให้ลูกหายใจไม่ออก ร้องไม่ออก ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ หรือหมดสติได้

8. วัณโรค (Tuberculosis)

วัณโรคในเด็กเป็นโรคติดต่อเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเชื้อสามารถแพร่กระจายได้ง่ายทางอากาศ เช่น การไอ จาม หรืออาจติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค อาการของวัณโรคทำให้ลูกไอไม่หยุดเป็นเวลานานกว่า 3 สัปดาห์ เจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด อ่อนเพลีย ไม่ยอมดื่มนมหรือรับประทานอาหาร และมีไข้

9. ไอกรน (Pertussis/ Whooping Cough)

ไอกรนเป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อาการระยะแรกจะคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น มีน้ำมูก และไอเล็กน้อย แต่หลังจากนั้นอาจทำให้ลูกไอไม่หยุดต่อเนื่องกันจนทำให้หายใจไม่ทัน จึงพยายามหายใจเข้าอย่างแรงจนเกิดเสียงดังวู้ป แล้วจะเริ่มไอใหม่ บางคนอาจมีอาการหน้าเขียวและอาเจียนด้วย

คำแนะนำในการดูแลเมื่อลูกไอไม่หยุด

หากสาเหตุที่ทำให้ลูกไอไม่หยุดเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไซนัสอักเสบ และหลอดลมอักเสบ อาการมักจะดีขึ้นหลังจากพ่อแม่ดูแลอาการลูกที่บ้าน เช่น

  • ให้ลูกพักผ่อนมาก ๆ งดออกไปวิ่งเล่น หรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงจนกว่าจะหายดี กรณีที่เป็นโรคติดต่อ ควรลูกให้หยุดเรียน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปสู่ผู้อื่น
  • ให้ดื่มน้ำบ่อย ๆ ตลอดทั้งวัน เช่น น้ำเปล่า นม น้ำผลไม้ หรือซุป เพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียไป และช่วยบรรเทาอาการไอ 
  • หลีกเลี่ยงให้เด็กสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ มลภาวะ และควันบุหรี่ ควรทำความสะอาดบ้านและที่นอนเด็กเป็นประจำ  และใช้เครื่องฟอกอากาศ เพื่อช่วยกำจัดฝุ่นละอองสะสมภายในบ้าน
  • ล้างจมูกให้ลูกด้วยน้ำเกลือ และให้เด็กสูดไอน้ำร้อนจากชามหรืออ่าง ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก และกำจัดเสมหะที่เหนียวข้น ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการไอได้
  • ให้เด็กนั่งพักอย่างน้อย 30 นาทีหลังรับประทานอาหาร ไม่ให้ไปวิ่งเล่นหรือนอนลงทันที เพื่อป้องกันอาการกรดไหลย้อน
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจกระตุ้นให้เกิดกรดไหลย้อน เช่น ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว น้ำอัดลม และช็อคโกแลต
  • ใช้ยาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ และยาแก้ไอสำหรับเด็ก ซึ่งควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้เสมอ โดยเฉพาะเด็กเล็กและทารก

แต่กรณีที่ลูกไอไม่หยุดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ไซนัสอักเสบและหลอดลมอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย และวัณโรค ควรพาลูกไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะที่ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียให้รับประทาน 

รวมทั้งเด็กที่มีอาการของภูมิแพ้และโรคหืด ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาหารของโรค และรับคำแนะนำในการดูแลรักษา เช่น ยาแก้แพ้ ซึ่งช่วยบรรเทาอาการลูกไอไม่หยุดได้

สัญญาณลูกไอไม่หยุดที่ควรรีบไปพบแพทย์

หากดูแลอาการในเบื้องต้นแล้ว ยังสังเกตว่าลูกไอไม่หยุดนานกว่า 14 วัน หรือมีอาการอื่น ๆ เหล่านี้ ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์

  • หายใจลำบาก หายใจเร็วผิดปกติ หายใจไม่ออก
  • หายใจมีเสียงหวีด
  • ไอเป็นเลือด
  • ปวดหัวและปวดหูอย่างรุนแรง
  • มีไข้สูง 
  • มีอาการของภาวะขาดน้ำ
  • อ่อนเพลียมาก กระสับกระส่าย ร้องไห้งอแงมาก
  • น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลง การเจริญเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ
  • ลูกไอไม่หยุดจากการมีอาหารหรือสิ่งแปลกปลอมติดคอ
  • ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเขียวหรือม่วงคล้ำ

ลูกไม่หยุดเกิดได้จากหลายสาเหตุ ในเบื้องต้นพ่อแม่สามารถดูแลอาการลูกได้ที่บ้าน ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการไอได้  แต่หากมีอาการไอเรื้อรัง การไปพบแพทย์จะช่วยรักษาได้อย่างตรงจุด และช่วยให้ลูกใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น 

ทั้งนี้ ลูกไอไหม่หยุดอาจป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพลูกให้แข็งแรง ให้ลูกล้างมือให้สะอาด และพาลูกไปฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคติดเชื้อ เช่น วัคซีนบีซีจีป้องกันวัณโรค วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคไอกรน