ร้อนใน

ความหมาย ร้อนใน

ร้อนใน หรือแผลร้อนใน (Aphthous Ulcers) คือแผลขนาดเล็กและตื้น มีสีเหลืองหรือขาวล้อมรอบด้วยสีแดง เกิดขึ้นที่เนื้อเยื่ออ่อนในช่องปากหรือเหงือก บางรายก็พบว่าเกิดขึ้นบริเวณด้านในริมฝีปาก แก้มหรือลิ้น เป็นแผล ทำให้เจ็บ และรับประทานอาหารหรือพูดคุยได้ลำบาก

โดยส่วนใหญ่ แผลร้อนในจะสามารถหายไปได้เองใน 1-2 สัปดาห์ โดยที่ไม่ต้องรักษา แต่ก็มีวิธีต่าง ๆ ที่จะช่วยบรรเทาอาการของแผลร้อนในได้ แต่หากพบว่าแผลร้อนในมีขนาดใหญ่กว่าปกติหรือมีความเจ็บปวดมากกว่าปกติ และไม่มีทีท่าว่าจะหายไป ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีการรักษา

ร้อนใน

อาการร้อนใน

อาการแผลร้อนในจะเป็นแผลบวมแดงและเจ็บขึ้นในช่องปาก เช่น บริเวณแก้ม ลิ้นหรือด้านในริมฝีปาก เป็นแผลสีแหลืองหรือขาวเป็นวงกลมหรือรี บวมแดงและมีอาการเจ็บที่แผล บางรายอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ต่อมน้ำเหลืองบวม เป็นไข้ หรือรู้สึกไม่สบาย

หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์

  • แผลร้อนในที่ใหญ่กว่าปกติ
  • แผลเดิมยังคงอยู่ แต่มีแผลใหม่เกิดขึ้นก่อนแผลเก่าจะหาย หรือพบว่าเป็นบ่อย
  • เป็นแผลร้อนในนาน 2 สัปดาห์หรือมากกว่า
  • แผลที่ลุกลามไปยังบริเวณริมฝีปาก
  • แผลที่ไม่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยตัวเอง
  • รับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มได้ลำบากมาก
  • เป็นแผลร้อนในพร้อมกับมีไข้สูง

ผู้ที่มีผิวฟันแหลม หรือมีอุปกรณ์ทันตกรรมในช่องปากที่อาจกระตุ้นให้เกิดแผลร้อนใน ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อหาทางแก้ไข้

สาเหตุของอาการร้อนใน

สาเหตุของการเกิดแผลร้อนในยังไม่เป็นที่แน่ชัด โดยโอกาสที่จะเป็นแผลร้อนในจะเพิ่มมากขึ้นหากพบว่ามีสมาชิกในครอบครัวมักเป็นแผลร้อนใน ซึ่งอาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือปัจจัยทางสภาพแวดล้อมที่เหมือนกัน เช่น เกิดจากสารก่อภูมิแพ้หรืออาหารบางชนิด รวมไปถึงสิ่งกระตุ้นที่อาจทำให้เกิดแผลร้อนใน ได้แก่

  • การตอบสนองต่อแบคทีเรียในปาก
  • เชื้อไวรัส
  • เกิดการบาดเจ็บที่ปาก
  • เกิดจากความเครียด
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
  • มีประจำเดือน
  • มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
  • การแพ้อาหาร หรือการขาดวิตามินและแร่ธาตุ

การวินิจฉัยอาการร้อนใน

โดยทั่วไป การเป็นแผลร้อนอาจไม่ต้องทำการทดสอบใด ๆ แพทย์หรือทันตแพทย์สามารถระบุโรคได้ด้วยการตรวจดูที่แผล แต่ในบางกรณี ที่เป็นรุนแรงและต่อเนื่อง แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการตรวจเลือดหรือตรวจชิ้นเนื้อ ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการและการแพร่กระจายของแผลร้อนในที่รุนแรง ดังนี้

  • มีความผิดปกติหรือความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
  • เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับฮอร์โมน
  • ขาดวิตามินหรือแร่ธาตุ
  • เกิดจากเชื้อไวรัส

การรักษาอาการร้อนใน

การรักษาด้วยตนเอง

แผลร้อนในสามารถหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยดูแลตัวเองได้ด้วยการรักษาสุขอนามัยในช่องปาก อาทิ กลั้วปากด้วยน้ำเกลือที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน โดยผลิตภัณฑ์ที่เลือกใช้ควรจะไม่มีสี ใส ปราศจากสารเติมแต่งและวัตถุกันเสีย มีความสมดุลกับน้ำในเซลล์ร่างกาย บรรจุอยู่ในขวดใสเพื่อให้มองเห็นสิ่งแปลกปลอมได้ง่าย และมีฝาล็อกที่ปิดสนิทเพื่อป้องกันการปนเปื้อน

นอกจากนี้ ควรแปรงฟันโดยใช้แปรงที่มีขนอ่อนนุ่ม และใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก หรือหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด เพื่อให้แผลร้อนในหายได้เร็วขึ้น รวมไปถึงดื่มนม รับประทานโยเกิร์ตหรือไอศกรีม ก็สามารถช่วยลดความเจ็บปวดจากแผลร้อนในได้

นอกจากนี้ ยาใช้เฉพาะที่บางชนิดที่หาได้ตามร้านขายยาทั่วไป ก็สามารถบรรเทาอาการเจ็บแผลร้อนในได้ เช่น ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide)

การรักษาโดยแพทย์

ผู้ป่วยควรพบแพทย์หากเป็นแผลร้อนในนานกว่า 3 สัปดาห์ ซึ่งรักษาด้วยตัวเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาบ้วนปากต้านแบคทีเรีย หรือยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของยาเดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) หรือยาลิโดเคน (Lidocaine) เพื่อลดการอักเสบและความเจ็บปวด นอกจากนั้น แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาคอร์ติโคสเตอรอยด์ เช่น ยาไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone)

ภาวะแทรกซ้อนของอาการร้อนใน

หากเป็นแผลร้อนใน และปล่อยไว้เป็นเวลานานโดยไม่ได้ทำการรักษา อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ เช่น

  • เกิดความเจ็บและลำบากในการพูด แปรงฟัน หรือรับประทานอาหาร
  • เกิดความอ่อนเพลีย
  • เป็นไข้
  • เกิดการอักเสบของผิวหนังบริเวณข้างเคียง

ผู้ป่วยควรพบแพทย์ หากเจ็บปวดมากจนทนไม่ไหว รักษาด้วยตัวเองแล้วไม่ได้ผล เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่อาจทำให้เกิดปัญหารุนแรง หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว

การป้องกันอาการร้อนใน

แผลร้อนในมักเกิดจากสาเหตุที่ควบคุมไม่ได้ เช่น อาการเจ็บป่วย หรือกรรมพันธุ์ ดังนั้นจึงป้องกันการเกิดอาการได้ยาก แต่สามารถลดความถี่ในการเป็นแผลร้อนในให้น้อยลงได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

การดูแลสุขภาพและอนามัยของช่องปาก 

แปรงฟันหลังมื้ออาหารเป็นประจำหรือใช้ไหมขัดฟันวันละครั้ง จะช่วยให้ช่องปากสะอาดไม่มีเศษอาหารที่อาจกระตุ้นให้เกิดแผลร้อนใน บ้วนปากด้วยน้ำเกลือปราศจากเชื้อหลังรับประทานอาหารและก่อนนอนโดยควรเลือกน้ำเกลือที่ฆ่าเชื้อด้วยความร้อน ใส ปราศจากสิ่งเจือปน และมีบรรจุภัณฑ์แบบใสที่มองทะลุได้ง่ายพร้อมฝาปิดสนิท ควรหลีกเลี่ยงยาสีฟันที่มีส่วนผสมของโซเดียม ลอริล ซัลเฟตหรือหลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่ง นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่จัดฟันอาจมีส่วนที่มีความคมทำให้บาดและอาจเกิดแผลร้อนในได้ ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อหาทางป้องกัน

การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร 

พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่จะทำให้เกิดความระคายเคืองในปาก เช่น ถั่วทอด มันฝรั่งทอด อาหารที่มีรสจัด อาหารเค็มจัดและผลไม้ที่มีกรดมาก เช่น สับปะรดหรือส้ม รวมไปถึงหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพจะช่วยป้องกันการขาดวิตามินและแร่ธาตุ ควรรับประทานผักและผลไม้หรือธัญพืชมาก