รู้จัก อย. ให้มากขึ้นเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค

อย. หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration: FDA) เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบและดูแลผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลต่อสุขภาพและร่างกาย โดยสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใดที่ต้องการจำหน่ายในประเทศไทยจำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยจากอย.ก่อน

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไม่เพียงทำหน้าในการตรวจสอบอาหารและยาอย่างที่เราทราบกัน แต่ยังดูแลผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นของใช้ภายในบ้าน อย่างน้ำยาล้างจานหรือยาฆ่าแมลง ไปจนถึงเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ โดยบทความนี้ ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตราอย. และเคล็ดลับที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมาฝากกัน

2646-อย.

อย. มีหน้าที่อะไรบ้าง?

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามีหน้าที่กำกับดูแล กำหนดมาตรฐานความปลอดภัย ตรวจสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ อนุญาตและเพิกถอนทะเบียนสินค้า จำแนกและจัดประเภทของสินค้าหรือสารเคมีทั้งก่อนจำหน่ายและหลังจำหน่าย ไปจนถึงควบคุมการโฆษณาสินค้าไม่ให้โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง โดยประเภทสินค้าที่อยู่ในการดูแลของอย. ได้แก่

  1. อาหาร อย.มีหน้าที่ในการตั้งมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหาร
  2. ยา ไม่ว่าจะเป็นยาสำหรับคนหรือสัตว์ วัคซีน และสารเคมีที่ใช้ในทางการแพทย์
  3. สารเสพติด อย.มีหน้าที่จัดประเภท อนุญาต และควบคุมผลิตภัณฑ์ที่มีสารเสพติดเป็นส่วนประกอบ
  4. สารเคมีอันตราย อย่างผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ยาฆ่าแมลง และสารเคมีทางการเกษตร
  5. เครื่องสำอาง อย่างการตรวจสอบส่วนประกอบที่เป็นอันตราย หรือสารควบคุมบางชนิดที่อาจส่งผลเสียเมื่อมีปริมาณมาก เช่น สเตียรอยด์และสารปรอทที่มักลักลอบใส่ในเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ประทินผิว
  6. เครื่องมือทางการแพทย์ เช่น เข็มฉีดยา ปรอทวัดไข้ หน้ากากอนามัย  หรือเครื่องวัดความดัน

ทั้งนี้ อาจสรุปโดยคร่าว ๆ ได้ว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามีหน้าที่ในการดูแลผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะ ทั้งในเชิงคุณภาพ เชิงพาณิชย์ และเชิงบริโภค โดยเริ่มตั้งแต่ผลิต นำเข้า จัดจำหน่าย ไปจนถึงหลังการใช้และการบริโภค

ข้อมูลเกี่ยวกับอย.ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

หลายคนอาจทราบว่าอย.มีหน้าที่ในการตรวจสอบสินค้าและออกเครื่องหมายความปลอดภัยหรือตราอย.ให้กับสินค้าเท่านั้น ซึ่งจริง ๆ แล้วหน่วยงานนี้มีหน้าที่อื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เช่น

  • ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ ใบอนุญาต ชื่อบริษัทที่นำเข้าและจัดจำหน่าย และที่อยู่ของบริษัทได้
  • ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน อย่างผลิตภัณฑ์หมดอายุหรือหมดอายุก่อนวันที่ระบุไว้ ได้รับอันตรายจากการบริโภค ผลิตภัณฑ์ไม่สมบูรณ์ หรือฉลากผลิตภัณฑ์แสดงข้อมูลไม่ครบถ้วน
  • ผู้บริโภคที่ต้องการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในการดูแลของอย. สามารถยื่นเรื่องขอใบอนุญาตได้
  • อย. มีหน้าที่รับร้องเรียนจากผู้บริโภค ถึงผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย เช่น ใช้สารเคมีต้องห้ามหรืออันตราย และผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบ รวมทั้งโฆษณาชวนเชื่อที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง
  • อย.มีหน้าที่ในการให้ข่าวสารและข้อมูลทางสุขภาพที่เป็นประโยชน์ อย่างการดูแลสุขภาพ การใช้ผลิตภัณฑ์อย่างปลอดภัย และให้ความกระจ่างเกี่ยวกับความเชื่อหรือข่าวลือที่อาจส่งผลต่อสุขภาพ

ในการตรวจสอบสินค้า ติดต่อ หรือร้องเรียนสามารถทำได้บนเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และเบอร์โทรศัพท์ 1556

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับตราสัญลักษณ์อย.

ในแต่ละประเทศมีหน่วยงานอย. หรือ FDA แต่อย.ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ซึ่งหลายครั้งเราอาจเห็นข่าวเกี่ยวกับการจับกุมสินค้าจากต่างประเทศที่ไม่ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยจากอย.ภายในประเทศ ทำให้สินค้าเหล่านั้นผิดกฎหมาย สาเหตุส่วนหนึ่งก็เพราะในแต่ละประเทศมีการกำหนดปริมาณสารที่ใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน บางสินค้าอาจถูกกฎหมายในประเทศที่ผลิต แต่เป็นสินค้าต้องห้ามในประเทศไทย ดังนั้น การเลือกซื้อบางผลิตภัณฑ์จากร้านค้าที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพื่อจำหน่ายจึงอาจผิดกฎหมาย สำหรับการซื้อมาบริโภคเอง ส่วนใหญ่มักไม่มีปัญหา หากไม่ได้มีปริมาณมากหรือดูเป็นการกักตุนเพื่อจำหน่าย ยกเว้นในกรณีที่สินค้าเหล่านั้นเป็นของผิดกฎหมาย อย่างยาเสพติด 

เลือกสินค้าปลอดภัยด้วยตราอย.

โดยส่วนใหญ่สินค้าอุปโภคบริโภคที่หาซื้อได้จากห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อทั่วไปค่อนข้างปลอดภัย เพราะได้รับตรวจมาตรฐานความปลอดภัยและได้รับตราอย.ก่อนจัดจำหน่าย แต่การเลือกซื้อสินค้าตามร้านค้าแผงลอย หรือการซื้อสินค้าทางออนไลน์ ทั้งจากเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และแอปพลิเคชันที่ส่วนหนึ่งไม่ได้รับการจดทะเบียนร้านค้า หรือเป็นตัวแทนจำหน่ายจากบริษัทโดยตรง อาจทำให้มีความเสี่ยงที่ผู้ซื้อจะถูกหลอกขายสินค้าปลอม สินค้าลอกเลียนแบบ สินค้าหมดอายุ สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือสินค้าที่มีส่วนประกอบที่เป็นอันตราย ที่อาจทำให้ผู้ซื้อได้รับความเสียหายทั้งด้านทรัพย์สินและสุขภาพ

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย หากจำเป็นต้องเลือกซื้อสินค้าจากช่องทางอื่นที่ไม่ใช่ห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อ ควรศึกษาข้อมูลของสินค้าจากบริษัทที่จำหน่าย สอบถามผู้ขายถึงมาตรฐานความปลอดภัย และหากได้สินค้ามาแล้ว ควรนำเลขจดแจ้งสินค้าที่มากับตราอย.มาตรวจในเว็บไซต์ของอย.ก่อน โดยเฉพาะสินค้าประเภทยาและอาหารเสริม เพราะเคยมีกรณีที่สินค้าบางอย่างถูกสวมเลขจดแจ้งหรือเป็นเลขจดแจ้งปลอม และทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ซื้อ

สุดท้ายนี้ ควรศึกษาข้อมูลของผลิตภัณฑ์ก่อนซื้อ รวมทั้งมองหาตราอย.หรือสัญลักษณ์การรับรองอื่นที่ออกโดยหน่วยงานที่มีความหน้าเชื่อถือ ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยในทรัพย์สินและสุขภาพของผู้ซื้อ