ยาแก้ปวดไมเกรน
ยาแก้ปวดไมเกรน (Ergotamine และ Caffeine) เป็นยาสำหรับรักษาอาการปวดศีรษะและส่วนอื่น ๆ ที่มีสาเหตุมาจากไมเกรน และอาจใช้รักษาอาการอื่นตามแพทย์เห็นเหมาะสม ตัวยาประกอบด้วยสาร 2 ชนิดคือ เออร์โกทามีนและคาเฟอีน ซึ่งออกฤทธิ์โดยทำให้เส้นเลือดที่อยู่รอบสมองหดตัวแคบลง ส่งผลให้อาการปวดศีรษะไมเกรนบรรเทาลง
เกี่ยวกับยาแก้ปวดไมเกรน
กลุ่มยา | ยารักษาไมเกรน |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้เอง |
สรรพคุณ | รักษาอาการปวดศีรษะจากไมเกรน |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยาเม็ด |
คำเตือนการใช้ยาแก้ปวดไมเกรน
- ยานี้อาจเป็นอันตรายต่อเด็กอ่อนและทารกในครรภ์ หญิงมีครรภ์ ขณะระหว่างคลอดบุตร และหญิงที่ให้นมบุตรไม่ควรรับประทาน
- ผู้ป่วยโรคหลอดเลือด โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไต หรือมีการติดเชื้อรุนแรงไม่ควรใช้ยานี้
- การได้รับนิโคตินอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยารุนแรงได้ ผู้ที่สูบบุหรี่หรือใช้สารนิโคตินควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
- การใช้ในปริมาณมากหรือต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้มีอาการเสพติดการใช้ยา ผู้ใช้ยาแก้ปวดไมเกรนควรรับประทานตามปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์กำกับ
- การใช้ยานี้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ยังไม่เป็นที่ยืนยันว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษา
- แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงยาชนิดอื่นที่ใช้ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการทำปฏิกิริยากันของยา
- ผู้ที่กำลังใช้ยาตัวใด ๆ ต่อไปนี้ ไม่ควรรับประทานยาแก้ปวดไมเกรน
- ยารักษาไมเกรน เช่น ซูมาทริปแทน (Sumatriptan) และอีลีทริปแทน (Eletriptan)
- ยาปฏิชีวนะ เช่น คลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin)
- ยารักษาโรคติดเชื้อรา เช่น โวริโคนาโซล (Voriconazole) คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ไอทราโคนาโซล (Itraconazole)
- ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี เช่น ดีลาเวอร์ดีน (Delavirdine) ฟอสแอมพรีนาเวียร์ (Fosamprenavir) ซาควินาเวียร์ (Saquinavir) อะทาซานาเวียร์ (Atazanavir) ริโทนาเวียร์ (Ritonavir) เอฟฟาไวเร็นซ์ (Efavirenz) และอินดินาเวียร์ (Indinavir)
ปริมาณการใช้ยาแก้ปวดไมเกรน
โรคปวดศีรษะไมเกรน
- เด็กอายุ 6-12 ปี เออร์โกทามีน 1 มิลลิกรัม รับประทานเมื่อมีอาการ เพิ่มปริมาณครั้งละ 1 มิลลิกรัม ทุก 30 นาที จนทุเลา (ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 3 มิลลิกรัม/วัน และไม่เกิน 5 มิลลิกรัม/สัปดาห์)
- ผู้ใหญ่ เออร์โกทามีน 2 มิลลิกรัม รับประทานเมื่อมีอาการ เพิ่มปริมาณครั้งละ 1 มิลลิกรัม ทุก 30 นาที จนทุเลา (ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 6 มิลลิกรัม/วัน และไม่เกิน 10 มิลลิกรัม/สัปดาห์)
โรคปวดศีรษะคลัสเตอร์
- ผู้ใหญ่ เออร์โกทามีน 2 มิลลิกรัม รับประทานเมื่อมีอาการ เพิ่มปริมาณครั้งละ 1 มิลลิกรัม ทุก 30 นาที จนทุเลา (ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 6 มิลลิกรัม/วัน และไม่เกิน 10 มิลลิกรัม/สัปดาห์)
หมายเหตุ: ปริมาณดังกล่าวในตารางเป็นปริมาณของสารเออร์โกทามีนที่แนะนำในหนึ่งเม็ดยา
การใช้ยาแก้ปวดไมเกรน
- ยานี้ไม่สามารถใช้รักษาอาการปวดศีรษะประเภทอื่นได้
- รับประทานตามปริมาณและระยะเวลาที่แนะนำ หากใช้มากเกินไปอาจทำให้อาการแย่ลงและเกิดผลข้างเคียงตามมา
- รับประทานได้ทั้งในระหว่างมื้ออาหารและขณะท้องว่าง
- เมื่อมีอาการปวดศีรษะสามารถรับประทานได้ทันที และอาจเพิ่มปริมาณยาตามแพทย์แนะนำ ทุก 30 นาทีหากอาการไม่ดีขึ้น แต่ไม่ควรรับประทานเกิน 6 มิลลิกรัม (ปริมาณเออร์โกทามีน) ภายใน 24 ชั่วโมง หรือเกินกว่า 10 มิลลิกรัมต่อสัปดาห์โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
- หากลืมรับประทานยาและยังมีอาการปวดศีรษะอยู่ สามารถรับประทานได้ทันที และไม่ต้องเพิ่มปริมาณทดแทน
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาแก้ปวดไมเกรน
- ยาแก้ปวดไมเกรนมีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยคือ อาการคลื่นไส้ และในรายที่มีอาการชนิดรุนแรงเหล่านี้ ควรต้องได้รับการรักษาพยาบาลจากแพทย์ทันที
- อาการแพ้รุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก มีผื่นคัน ลมพิษ ลิ้น ปาก ริมฝีปาก หรือใบหน้าบวม
- นิ้วมือนิ้วเท้าเย็น ซีด หรือเป็นสีฟ้า
- ชาตามผิวหนัง มือและเท้า
- ปวดศีรษะ วิงเวียน ประสาทหลอน
- ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียนอย่างต่อเนื่อง
- อัตราการเต้นของหัวใจไม่ปกติ ชีพจรเต้นอ่อน หายใจลำบาก
- ตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง เจ็บกล้ามเนื้อ อาการชัก
- อารมณ์แปรปรวน
- การใช้ยาแก้ปวดไมเกรนปริมาณมากต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้หลอดเลือดหดตัวมากเกินไป ส่งผลให้แขนขาขาดเลือดจนเน่าและรุนแรงถึงขั้นต้องตัดทิ้งได้ โดยผู้ใช้ยาอาจมีอาการเย็นตามแขนและขา หัวใจเต้นช้า เนื้อเขียวเพราะขาดออกซิเจน ปวดกล้ามเนื้อ และปวดบริเวณส่วนหน้าของหัวใจ เป็นต้น