ยาลดน้ำมูก
ยาลดน้ำมูก เป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์ช่วยลดการบวมขยายของเส้นเลือดในจมูก ลดการอักเสบ และลดการสร้างน้ำมูก นำมาใช้บรรเทาอาการคัดจมูกหรือมีน้ำมูกที่เกิดจากหวัด ไข้หวัด ไข้ละอองฟาง โพรงจมูกอักเสบ โรคภูมิแพ้อื่น ๆ หรืออาจใช้รักษาโรคชนิดอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
ยาลดน้ำมูกมีทั้งชนิดซื้อใช้ได้เองหรือต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์ และมีรูปแบบของยาหลายประเภท ได้แก่ ยาพ่นจมูก ยารับประทานชนิดเม็ด ยาน้ำ ยาผงสำหรับละลายน้ำ ยาหยอดจมูก เป็นต้น
ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาซูโดเอฟีดรีนและยาฟีนิลเอฟรีน
ยาลดน้ำมูกมักใช้เพียง 3 หรือ 4 ครั้ง/วันเท่านั้น ผู้ป่วยควรใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ ส่วนยาชนิดพ่นไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 1 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้อาการคัดจมูกแย่ลงได้
คำเตือนในการใช้ยาลดน้ำมูก
ยาลดน้ำมูกแต่ละชนิดล้วนมีข้อบ่งชี้ ข้อควรระวังในการใช้ยา และส่วนประกอบในยาที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงอาการป่วยในปัจจุบัน ประวัติทางการแพทย์ และประวัติการแพ้ยาต่าง ๆ รวมทั้งศึกษาวิธีการใช้ยาและคำเตือนบนฉลากให้ดีก่อนใช้ยาเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาผิดวิธี
ตัวอย่างข้อควรระวังในการใช้ยาลดน้ำมูก ได้แก่
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงการแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่หรือเพิ่งหยุดใช้ไป เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้ โดยเฉพาะยากลุ่มเอมเอโอไอ (Monoamine Oxidase Inhibitor: MAOI) เช่น ยาเซเลจิลีน และยาไอโซคาร์บอกซาซิด ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ความดันโลหิตเพิ่มสูงถึงขั้นเป็นอันตราย เป็นต้น
- ห้ามใช้ยาฟีนิลเอฟรีนและยาซูโดเอฟีดรีน ภายใน 14 วันหลังจากใช้ยากลุ่มเอมเอโอไอ เช่น ยาไอโซคาร์บอกซาซิด ยาลีเนโซลิด และยาฟีเนลซีน เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ต่อมลูกหมากโต โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ ภาวะการไหลเวียนโลหิตผิดปกติ และต้อหิน
- ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ใช้ยานี้ ส่วนเด็กอายุ 6-12 ปี ให้ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
- ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ใช้ยาซูโดเอฟีดรีน และก่อนให้เด็กใช้ยาแก้ไอ(https://www.pobpad.com/ยาแก้ไอ)หรือยาแก้หวัดชนิดใดก็ตาม ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพราะการใช้ยาผิดชนิดหรือผิดวิธีอาจทำให้เกิดอันตรายต่อเด็กถึงขึ้นเสียชีวิตได้
- ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้ยานี้ ห้ามใช้ยาโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ เพราะตัวยาอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือซึมผ่านน้ำนมมารดาและก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกได้
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาลดน้ำมูก
เนื่องจากยาลดน้ำมูกแต่ละชนิดล้วนมีส่วนประกอบที่แตกต่างกัน จึงอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงจากการใช้ยาแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้น ผู้ป่วยควรศึกษาข้อมูลยาจากฉลากอย่างระมัดระวัง และใช้ยาอย่างถูกวิธี หากพบอาการผิดปกติเกิดขึ้นหลังใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และไปพบแพทย์ทันทีหากอาการเหล่านั้นไม่ดีขึ้น หรือแย่ลง
ตัวอย่างผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการใช้ยาลดน้ำมูก ได้แก่
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ทั่่วไป
- ปวดศีรษะ
- ระคายเคืองในจมูก
- ปากแห้ง
- คลื่นไส้ หรืออาเจียน
- หงุดหงิด กระสับกระส่าย
- มีผื่นขึ้น
- มีอาการสั่น
- นอนไม่หลับ
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ใจสั่น
- ปัสสาวะลำบากในผู้ชาย
ผลข้างเคียงที่รุนแรง
- อาการหลอน อาจได้กลิ่น ได้ยินเสียง รับรู้รสชาติ หรือรู้สึกถึงสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง
- อาการแพ้รุนแรง เป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นอย่างรุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต มีอาการบ่งชี้ เช่น วิงเวียนศีรษะ หมดสติ หายใจลำบาก หายใจมีเสียง หัวใจเต้นเร็ว ตัวเย็น คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
- เวียนศีรษะอย่างรุนแรง หรือคล้ายจะเป็นลม
- เกิดรอยช้ำหรือมีเลือดออกง่าย
- อ่อนเพลียผิดปกติ
- มีไข้ หนาวสั่น ปวดตามตัว มีอาการของหวัด
- ความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรง
- จังหวะหัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ
- สับสน วิตกกังวล