ยาคลายกังวล (Antianxiety Drugs)

ยาคลายกังวล (Antianxiety Drugs)

ยาคลายกังวลหรือยาคลายเครียด (Antianxiety Drugs) เป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาอาการวิตกกังวล ตื่นตระหนก การตอบสนองของร่างกายที่มากเกินไป หรือนอนไม่หลับจากโรควิตกกังวลต่าง ๆ  โรคแพนิค (Panic Disorder) ภาวะวิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder)  หรือโรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder)

ส่วนใหญ่แล้ว ยาคลายกังวลมักเป็นยาที่มีผลต่อระบบประสาทอย่างยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) โดยผู้ป่วยอาจรับยาร่วมกันหลายชนิด เช่น ยาที่มีผลต่อสารสื่อประสาทอย่างยาต้านเศร้าในกลุ่ม SSRI หรือ SNRI และกลุ่มยาที่ช่วยบรรเทาอาการทางร่างกายจากความวิตกกังวล โดยไม่ได้ส่งผลต่อระบบประสาทหรือสารสื่อประสาท อย่างยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta-Blocker)

ยาคลายกังวล (Antianxiety Drugs)

ทั้งนี้ ยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่อันตรายหรือทำให้ผู้ป่วยเสพติดการใช้ยา ผู้ป่วยจึงต้องใช้ยาภายใต้คำสั่งและคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะปริมาณการใช้ยา ระยะเวลาในการใช้ยา และข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด 

คำเตือนในการใช้ยาคลายกังวล

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางสุขภาพ โรคประจำตัว ประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาคลายกังวล เพราะอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ 
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะอาจทำปฏิกิริยากับยาคลายกังวล ส่งผลให้ตัวยามีประสิทธิภาพลดลงหรือเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงมากขึ้น เช่น ยาต้านเศร้ากลุ่ม MAOI ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาไพโอกลิตาโซน (Pioglitazone) 
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านเศร้า โดยเฉพาะผู้ที่อายุต่ำกว่า 25 ปี อาจเสี่ยงต่อการมีความคิดและความพยายามในการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะในช่วง 2–3 สัปดาห์แรกของการใช้ยา ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในช่วงนี้
  • ผู้ป่วยควรใช้ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีนตามระยะเวลาที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เนื่องจากยาในกลุ่มนี้อาจส่งผลให้ง่วงซึม มีปัญหาด้านการทรงตัวและความจำ รวมทั้งอาจส่งผลให้เสพติดการใช้ยาได้ 
  • ผู้ป่วยไม่ควรหยุดใช้ยาโดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์ เพราะอาจก่อให้เกิดอาการถอนยาและเป็นอันตรายต่อร่างกาย
  • ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยวิตกกังวลหรือกระวนกระวายมากยิ่งขึ้น
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงความจำเป็น ความเสี่ยง และความปลอดภัยก่อนการใช้ยาคลายกังวล เพราะตัวยาบางชนิดอาจซึมผ่านน้ำนมมารดาและก่อให้เกิดอันตรายต่อทารก
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรไม่ควรใช้ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์และทารกในระหว่างให้นม

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาคลายกังวล

โดยทั่วไป การใช้ยาคลายกังวลแต่ละกลุ่มอาจก่อให้ผลข้างเคียงที่คล้ายกัน เช่น ง่วงซึม เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องไส้ปั่นป่วน ปวดศีรษะ ท้องผูก หรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

ผู้ป่วยบางรายอาจพบผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น มองเห็นเป็นภาพเบลอ หัวใจเต้นผิดปกติ หายใจช้าลง มีปัญหาด้านความจำ ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตต่ำขณะยืน หรือมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ซึ่งควรแจ้งให้แพทย์ที่ดูแลทราบทันที

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยพบความผิดปกติอื่นใด ใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการรุนแรงยิ่งกว่าเดิม ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วนและปรับการรักษาให้เหมาะสม