การวินิจฉัย มะเร็งเต้านม
การวินิจฉัยด้วยตนเอง
การตรวจเต้านมด้วยตนเองควรตรวจเดือนละครั้ง ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 40-69 ปี และไม่มีอาการ ควรตรวจด้วยตนเองเป็นประจำ รวมไปถึงควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์หรือบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมด้านการตรวจเต้านมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองจำเป็นต้องได้รับการสอนวิธีการตรวจอย่างถูกวิธี และช่วงเวลาที่ควรตรวจจะอยู่ในช่วงหลังหมดประจำเดือนประมาณ 3-10 วัน เนื่องจากเป็นช่วงที่เต้านมไม่คัดตึงจนเกินไป สามารถตรวจได้ง่าย
ตรวจขณะนอนราบ
- นอนราบในท่าที่สบาย ไม่เกร็ง
- สอดหมอนหรือม้วนผ้าใต้ไหล่ขวา ยกแขนขวาขึ้นเหนือศีรษะ เพื่อช่วยให้เต้านมแผ่ราบ สามารถตรวจได้ง่าย
- ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางของมือซ้าย คลำให้ทั่วเต้านมจากด้านนอกมาด้านในและรักแร้ จากนั้นสลับทำกับเต้านมอีกข้างในวิธีเดียวกัน
ข้อควรระวัง: การตรวจด้วยตนเอง ควรทำด้วยความนิ่มนวล ไม่ควรบีบเค้นอย่างรุนแรง
ตรวจขณะยืนหน้ากระจก
- ยืนตัวตรงหน้ากระจก ปล่อยแขนข้างแนบลำตัวตามสบาย
- ยกแขน 2 ข้างขึ้นเหนือศีรษะหรือผสานมือไว้หลังศีรษะ สังเกตลักษณะของเต้านม เนื่องจากการยกแขนขึ้นจะช่วยให้มองเห็นความผิดปกติได้ดีขึ้น
- เปลี่ยนท่าทางมายืนเท้าสะเอว โน้มตัวข้างหน้าเล็กน้อย สังเกตดูลักษณะของเต้านมอีกครั้ง
- เริ่มคลำเต้านม เพื่อตรวจหาก้อนเนื้อ โดยยกแขนข้างเดียวกับเต้านมข้างที่จะตรวจขึ้นเหนือศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งคลำเต้านม ก่อนจะสลับทำกับเต้านมอีกข้าง
โดยอาจตรวจในระหว่างอาบน้ำเป็นอีกวิธีที่ตรวจหาได้ง่าย เนื่องจากเป็นช่วงระยะเวลาที่ผิวหนังเปียกและลื่น จึงช่วยให้ตรวจง่ายขึ้น
การวินิจฉัยโดยแพทย์
เมื่อพบความผิดปกติของก้อนเนื้อบริเวณเต้านม แพทย์จะตรวจด้านอื่นเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ผลที่แน่นอนก่อนทำการรักษาขั้นต่อไป ซึ่งการเลือกใช้วิธีใดในการตรวจวินิจฉัย แพทย์จะดูอาการและสิ่งที่ตรวจพบจากการตรวจร่างกายเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการตัดสินใจ
การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมด้านการตรวจเต้านม สตรีที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการตรวจทุก 1 ปี ซึ่งอาจมีการตรวจร่วมกับแมมโมแกรม เพื่อการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำและรวดเร็ว
การเอกซเรย์เต้านม หรือแมมโมแกรม เป็นเครื่องเอกซเรย์พิเศษเฉพาะสำหรับการตรวจเต้านม เพื่อตรวจเนื้อเยื่อที่ผิดปกติภายในเต้านม ซึ่งเป็นวิธีที่ตรวจได้ละเอียดกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป โดยแนะนำให้มีการตรวจในสตรีอายุประมาณ 40 ขึ้นไป หากเป็นสตรีในกลุ่มเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจด้วยวิธีนี้ทุก 1-2 ปี ในการตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรมจะใช้เครื่องมือกดเต้านมให้แบนราบและทำการถ่ายภาพเต้านมข้างละ 2 ท่า เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัย ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการตรวจ คือ 7-14 วัน หลังหมดประจำเดือน เนื่องจากเป็นช่วงที่ฮอร์โมนในร่างกายลดลง ทำให้เต้านมไม่คัดตึง เจ็บน้อยลง อย่างไรก็ตามผลตรวจแมมโมแกรมอาจเกิดผลลบลวงหรือความผิดพลาดในการตรวจขึ้นได้ จึงทำให้มักใช้การตรวจอัลตร้าซาวด์ควบคู่ด้วย
ผลการตรวจแมมโมแกรมตามเกณฑ์ของสมาคมรังสีแพทย์อเมริกันจะใช้หลักที่เรียกว่า BI-RADS (Breast Imaging Reporting and data system) ซึ่งจะแบ่งออกเป็น Category 0 - 6
- Category 0 : ไม่สามารถรายงานผลตรวจได้แน่นอน ต้องมีการตรวจแบบอื่นเพิ่มเติมหรือเปรียบเทียบกับการตรวจแมมโมแกรมครั้งก่อน
- Category 1 : ไม่พบความผิดปกติใด แนะนำให้ตรวจแมมโมแกรมซ้ำในอีก 1 ปีถัดไป
- Category 2 : ตรวจพบความเปลี่ยนแปลงแต่ไม่ใช่มะเร็ง แนะนำให้ตรวจแมมโมแกรมซ้ำในอีก 1 ปีถัดไป
- Category 3 : ตรวจพบความเปลี่ยนแปลงที่น่าจะไม่ใช่มะเร็ง (โอกาสความเป็นไปได้ไม่เกิน 2%) จึงควรมีการตรวจแมมโมแกรมอีกครั้งใน 6 เดือนถัดมา เพื่อติดตามผล
- Category 4 : พบสิ่งผิดปกติ แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าสิ่งที่ตรวจพบเป็นมะเร็งหรือไม่ จำเป็นต้องเจาะชิ้นเนื้อหรือ ผ่าตัดชิ้นเนื้ออีกครั้ง
- Category 5 : พบสิ่งความผิดปกติที่ต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นมะเร็งเต้านมสูง จำเป็นต้องทำการเจาะชิ้นเนื้ออย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยในการวินิจฉัย
- Category 6 : ได้รับการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาแล้วว่าเป็นมะเร็งเต้านม
อัลตราซาวน์ เป็นการตรวจด้วยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปในเนื้อเต้านม เพื่อสร้างเป็นภาพจากการสะท้อนของคลื่นเสียงที่กระทบกับเนื้อเยื่อต่าง ๆ ซึ่งสามารถตรวจแยกความแตกต่างก้อนเนื้อที่พบว่ามีลักษณะเป็นก้อนน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อได้ จึงง่ายต่อการรักษามากขึ้น
การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นการตรวจโดยใช้หลักการของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในการสร้างภาพอวัยวะภายในร่างกายที่ตรวจ แพทย์อาจจะแนะนำให้มีการตรวจวิธีนี้ร่วมกับการตรวจแมมโมแกรมในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่าพบความผิดปกติของยีนส์ (BRCA gene mutation) สำหรับสตรีที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติการได้รับการฉายรังสีในปริมาณสูงบริเวณหน้าอกตั้งแต่อายุยังน้อย
การเจาะชิ้นเนื้อ ด้วยการใช้เข็มเจาะก้อน เพื่อตัดชิ้นเนื้อจากก้อนออกมาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อตรวจสอบลักษณะของก้อนเนื้อ ระยะของเซลล์มะเร็ง และยังสามารถตรวจหาตัวรับฮอร์โมนในเนื้อเยื่อมะเร็ง ซึ่งอาจใช้เป็นอีกทางเลือกในการรักษาโรคด้วยการ