มะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา

ความหมาย มะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา

มะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา

Nonmelanoma (มะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา) เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดอื่น ๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่ามะเร็งผิวหนังแบบเมลาโนมา โดยเซลล์มะเร็งมักเกิดขึ้นในผิวหนังชั้นนอกและโตค่อนข้างช้า อาการระยะเริ่มต้นอาจสังเกตเห็นเป็นก้อนนูนหรือรอยบนผิวหนัง ซึ่งมีสีผิดปกติ โดยก้อนนูนหรือรอยนั้นมักเกิดขึ้นนานเกิน 2-3 สัปดาห์ และมีขนาดใหญ่ขึ้น

มะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมาแบ่งออกเป็นหลายประเภท โดยประเภทที่พบได้บ่อย มีดังนี้

2138 Non-Melanoma rs

มะเร็งผิวหนังชนิดเบซาลเซลล์ (Basal Cell Carcinoma: BCC)

BCC เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งมีผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังประมาณ 75-80 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นมะเร็งชนิดนี้ โดยเซลล์มะเร็งจะเกิดขึ้นที่เซลล์เบซาลของชั้นหนังกำพร้า ส่วนใหญ่มักพบบริเวณผิวหนังที่สัมผัสแสงแดดบ่อย ๆ อย่างศีรษะ ใบหน้า และลำคอ BCC มักโตขึ้นอย่างช้า ๆ และมีโอกาสค่อนข้างน้อยที่จะลุกลามสู่ส่วนอื่นในร่างกาย แต่หากปล่อยไว้และไม่รีบเข้ารับการรักษา เซลล์มะเร็งอาจแพร่กระจายสู่เนื้อเยื่อข้างเคียงได้

มะเร็งผิวหนังชนิดสความัสเซลล์ (Squamous cell carcinoma: SCC)

SCC เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดที่พบได้บ่อยรองจาก BCC ซึ่งมีผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์เป็นมะเร็งชนิดนี้ โดยเซลล์มะเร็งจะเกิดขึ้นที่เซลล์สความัสของชั้นหนังกำพร้า ส่วนใหญ่มักพบบริเวณที่โดนแสงแดดเป็นประจำ แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นที่ผิวหนังบริเวณอื่นด้วย เช่น ผิวหนังที่มีแผลหรือการอักเสบ อย่างแผลเป็น แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือแผลเรื้อรังที่ไม่ได้รับการรักษา บริเวณทวารหนักและช่องคลอด เป็นต้น แม้ SCC จะคล้ายกับ BCC แต่ SCC มักโตเร็วกว่าและลุกลามลงไปยังชั้นผิวหนังที่ลึกกว่า ดังนั้น หากพบว่าผิวหนังของตนเองมีลักษณะผิดปกติก็ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะ SCC ในระยะที่ยังไม่ลุกลามหรือที่เรียกว่าโรคโบเวนนั้นไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากปล่อยทิ้งไว้ เซลล์มะเร็งอาจแพร่กระจายสู่เนื้อเยื่อข้างเคียงหรือชั้นผิวหนังที่อยู่ลึกลงไปได้ ซึ่งส่งผลให้รักษายากยิ่งขึ้น

อาการของ Nonmelanoma

สัญญาณแรกของ Nonmelanoma มักเป็นการเกิดก้อนนูนสีแดงและแข็งบริเวณผิวหนัง ซึ่งบางครั้งอาจแตกเป็นแผลตามมา หรืออาจเป็นรอยที่มีสีผิดปกติ อย่างสีแดง น้ำตาล หรือชมพู และมีสะเก็ดแผล โดยก้อนนูนหรือรอยนั้นมักเกิดขึ้นนานเกิน 2-3 สัปดาห์ และค่อย ๆ มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งอาจใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปี ทั้งนี้ Nonmelanoma มักเกิดขึ้นกับผิวหนังบริเวณที่โดนแสงแดดเป็นประจำ เช่น ใบหน้า หู หน้าอก หัวไหล่ มือ และหลัง เป็นต้น ดังนั้น หากพบว่าผิวหนังของตนเองมีตุ่มนูนหรือรอยผิดปกติ และอาการดังกล่าวไม่ดีขึ้นภายใน 4 สัปดาห์ ให้ไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด

สาเหตุของ Nonmelanoma

ในปัจจุบันยังไม่สามารถยืนยันสาเหตุที่ก่อให้เกิด Nonmelanoma ได้อย่างชัดเจน แต่แพทย์เชื่อว่าอาจมีปัจจัยเสี่ยงบางประการที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งผิวหนังให้สูงขึ้น ดังนี้

รังสีอัลตราไวโอเล็ต

รังสีอัลตราไวโอเล็ตหรือรังสียูวี ไม่ว่าจะเป็นรังสียูวีจากแสงแดดหรือเครื่องทำผิวแทน จัดเป็นปัจจัยหลักที่อาจก่อให้เกิด Nonmelanoma ซึ่งผู้ที่ต้องสัมผัสกับรังสียูวีเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง จะเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังแบบ Nonmelanoma มากกว่าคนทั่วไป

สีผิว

เมลานินเป็นเม็ดสีที่ผิวหนัง ซึ่งทางการแพทย์เชื่อว่าสารนี้มีคุณสมบัติช่วยปกป้องผิวจากรังสียูวีได้ แต่ผู้ที่มีผิวขาว มีสีตาและสีผมอ่อน รวมถึงผู้ป่วยโรคผิวเผือก จะมีเมลานินอยู่ที่ผิวในปริมาณน้อย จึงอาจเสี่ยงเป็น Nonmelanoma มากกว่าคนที่มีสีผิว สีตา และสีผมเข้มกว่า โดยคนผิวขาวที่เคยถูกแดดเผาอย่างรุนแรงตั้งแต่อายุยังน้อยอาจมีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดนี้สูงขึ้น

ปัจจัยอื่น ๆ

นอกจากการเผชิญกับรังสียูวีและลักษณะของสีผิวแล้ว ยังมีปัจจัยสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิด Nonmelanoma เช่น

  • มีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง
  • เคยได้รับการฉายแสงหรือรังสีรักษา
  • เคยได้รับหรือสัมผัสกับสารหนู
  • ทำงานที่ต้องสัมผัสกับสารบางชนิดเป็นประจำ เช่น ถ่านหิน หินดินดาน น้ำมันดินหรือทาร์ น้ำมันครีโอโสท ควันจากปล่องไฟ และพาราฟิน เป็นต้น
  • เคยเข้ารับการรักษาโรคผิวหนังด้วยวีธี PUVA Therapy ซึ่งเป็นการฉายแสงยูวีเอร่วมกับการใช้สารในกลุ่มซอราเลน
  • ป่วยเป็นโรคทางพันธุกรรมบางชนิด อย่างโรคแพ้แสงแดด (Xeroderma Pigmentosum) หรือกอร์ลินส์ซินโดรม (Gorlin’s Syndrome)
  • มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อย่างผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ที่เคยเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ซึ่งมักได้รับยากดภูมิคุ้มกันหลังผ่าตัด
  • มีการติดเชื้อเอชพีวี
  • ได้รับยาที่ทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดด
  • สูบบุหรี่
  • มีกระหรือไฝจำนวนมากอยู่ตามร่างกาย

การวินิจฉัย Nonmelanoma

ผู้ที่พบก้อนนูนหรือรอยผิดปกติตามผิวหนัง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ ซึ่งวิธีการวินิจฉัย Nonmelanoma มีดังนี้

การซักถามและตรวจตามผิวหนังในเบื้องต้น

ในขั้นแรก แพทย์จะตรวจดูลักษณะของผิวหนัง สอบถามถึงอาการผิดปกติ ประวัติทางการแพทย์ และพฤติกรรมเสี่ยง หากพบว่ามีสัญญาณบ่งชี้ของ Nonmelanoma จะส่งต่อผู้ป่วยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งผิวหนังวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม

การตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจ

เป็นการผ่าตัดขนาดเล็ก โดยแพทย์จะตัดผิวหนังและเนื้อเยื่อส่วนที่ผิดปกติบางส่วนหรือทั้งหมด แล้วนำไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อวินิจฉัยชนิดของเซลล์มะเร็ง และประเมินโอกาสที่เซลล์มะเร็งจะลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย

การวินิจฉัยเพิ่มเติม

หลังจากตัดชื้นเนื้อส่งตรวจ ผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็น BCC ส่วนใหญ่มักไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เพราะมะเร็งชนิดนี้มีโอกาสลุกลามค่อนข้างน้อย แต่ผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็น SCC ซึ่งเซลล์มะเร็งมีโอกาสลุกลามสู่ต่อมน้ำเหลืองและส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย มักจำเป็นต้องให้แพทย์ตรวจดูต่อมน้ำเหลืองแต่ละจุดเพิ่มเติม หากมีภาวะต่อมน้ำเหลืองโต แพทย์อาจพิจารณาใช้เข็มขนาดเล็กเจาะต่อมน้ำเหลือง เพื่อดูดเซลล์ไปตรวจหามะเร็งโดยการใช้กล้องจุลทรรศน์

การรักษา Nonmelanoma

การรักษา Nonmelanoma สามารถทำได้หลายวิธี โดยผู้ป่วยแต่ละรายอาจได้รับการรักษาแตกต่างกันไปตามชนิดและระดับความรุนแรงของมะเร็งเป็นหลัก เช่น

การผ่าตัด

จัดเป็นวิธีหลักที่แพทย์ใช้รักษา Nonmelanoma ซึ่งการผ่าตัดมีอยู่หลายรูปแบบ และผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องรับการผ่าตัดมากกว่า 1 วิธี เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งให้หมดไป ดังนี้

  • การตัดก้อนที่ผิวหนัง คือ การตัดเอาเซลล์มะเร็งและเนื้อเยื่อโดยรอบทิ้งไป ซึ่งเป็นวิธีการที่นิยมนำมาใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังทุกกลุ่ม
  • การผ่าตัดด้วยวิธี Mohs คือ การตัดมะเร็งออกทีละชั้นเป็นชั้นบาง ๆ จนกว่าจะไม่พบเซลล์มะเร็ง ซึ่งมักใช้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในระยะที่มะเร็งอยู่ในระดับรุนแรงมาก และผู้ที่มีเซลล์มะเร็งบนใบหน้า
  • การใช้เครื่องมือขูดร่วมกับการจี้ไฟฟ้า คือ การใช้เครื่องมือขูดเซลล์มะเร็งออกมา และใช้ไฟฟ้าจี้เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งส่วนที่เหลือ ซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งในระยะเริ่มต้น และมักใช้กับเซลล์มะเร็งบริเวณลำคอ ลำตัว แขน และขา
  • การจี้ด้วยความเย็นจัด คือ การใช้ความเย็นจัดทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งในระยะเริ่มต้น มักใช้กับ BCC ที่ลำตัว แขน และขา และใช้กับ SCC ที่ใบหน้า
  • การตัดต่อมน้ำเหลือง คือ การผ่าตัดเพื่อนำต่อมน้ำเหลืองบางตำแหน่งออกจากร่างกาย โดยแพทย์มักพิจารณาให้ทำเมื่อเซลล์มะเร็งลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง

รังสีรักษา

เป็นการยิงรังสีไปที่เซลล์มะเร็งและเนื้อเยื่อโดยรอบ เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งนั้น ๆ ซึ่งเป็นวิธีที่แพทย์มักใช้กับผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม หรือใช้ทำลายเซลล์มะเร็งในจุดที่ยากต่อการผ่าตัด รวมถึงเซลล์มะเร็งที่ยังเหลืออยู่หลังจากผ่าตัด

การยิงแสงเลเซอร์

ทำโดยให้สารเคมีที่ทำให้เซลล์ร่างกายไวต่อแสงเข้าไปในตัวผู้ป่วย แล้วยิงแสงเลเซอร์ไปที่เซลล์มะเร็ง เพื่อกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระที่ทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งเนื้อเยื่อปกติโดยรอบจะไม่เกิดปฏิกิริยาทำลายเซลล์ไปด้วยแต่อย่างใด แพทย์มักใช้วิธีนี้ทำลายเซลล์มะเร็งที่ยังเหลืออยู่หลังจากผ่าตัดหรือกำจัดเซลล์มะเร็งที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนจากภายนอกไปแล้ว

การใช้ยา

ยาที่ใช้รักษา Nonmelanoma มีหลายชนิด ผู้ป่วยแต่ละรายอาจได้รับยาต่างชนิดกันไป ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นหลัก ซึ่งยาที่ใช้ในการรักษามะเร็งชนิดนี้ อาจเป็นรูปแบบครีมหรือเจลสำหรับทาภายนอก และเป็นยาสำหรับรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ซึ่งมีคุณสมบัติหยุดการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง รวมถึงยาเคมีบำบัด ซึ่งมีฤทธิ์เข้าทำลายเซลล์มะเร็งทั่วร่างกาย

ภาวะแทรกซ้อนของ Nonmelanoma

โดยส่วนใหญ่เซลล์มะเร็งชนิดนี้มักไม่ลุกลาม แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รีบทำการรักษา อาจทำให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อที่อยู่บริเวณข้างเคียงและอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย อย่างกระดูก ต่อมน้ำเหลือง และปอด ซึ่งส่งผลให้การรักษาทำได้ยากยิ่งขึ้น และอาจทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาลดลงไปด้วย

การป้องกัน Nonmelanoma

แม้ในทางการแพทย์ปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีใด ๆ ที่สามารถป้องกัน Nonmelanoma ได้ แต่คนทั่วไปสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนังชนิดนี้ได้ โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะการเผชิญกับแสงแดด ดังนี้

  • หากต้องออกแดด ให้ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF มากกว่าหรือเท่ากับ 15 โดยทาก่อนออกแดด 15 นาที และควรทาซ้ำอีกครั้งหลังทำกิจกรรมที่ต้องสัมผัสกับน้ำหรือมีเหงื่อออก อย่างการว่ายน้ำหรือออกกำลังกาย
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งระหว่างเวลา 9.00-17.00 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาที่มีแดดจ้าและแสงแดดแผ่รังสีสูงสุด หากจำเป็นต้องอยู่ในที่แจ้งในช่วงเวลาดังกล่าว ควรสวมหมวกปีกกว้างและใส่เสื้อผ้าปกปิดผิวหนังเพื่อป้องกันแสงแดด
  • ผู้ป่วยที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนัง ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจหาสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น
  • หากมีอาการผิดปกติตามผิวหนัง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม