มะเฟือง ประโยชน์ต่อสุขภาพ กับคำแนะนำในการบริโภค

มะเฟือง เป็นผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวหวาน และมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เช่น เส้นใยอาหาร วิตามินซี โฟเลต โพแทสเซียม แมกนีเซียม และมีแคลอรี่ต่ำ ทำให้หลายคนเชื่อว่าการรับประทานมะเฟืองส่งผลดีต่อสุขภาพ ตลอดจนอาจรักษาป้องกันโรคบางชนิดได้

มะเฟือง

นอกจากมีรสชาติอร่อยและหารับประทานได้ง่าย มะเฟืองยังอุดมไปด้วยสารประกอบที่มีประโยชน์อย่างหลากหลาย จึงเชื่อว่ามะเฟืองอาจส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการรักษาและป้องกันโรคด้วย แต่ข้อเท็จจริงเชิงการแพทย์และวิทยาศาสตร์จะพิสูจน์สมมติฐานเหล่านั้นได้มากน้อยเพียงใด สามารถศึกษาได้จากข้อมูลต่อไปนี้

ลดระดับไขมันคอเลสเตอรอล

หากร่างกายมีการสะสมไขมันคอเลสเตอรอลมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะอ้วนหรือเสี่ยงเผชิญปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมาได้ มะเฟืองมีเส้นใยอาหารสูงและมีสารประกอบอื่น ๆ ที่เชื่อว่าอาจช่วยลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลได้ โดยมีการนำสารสกัดจากมะเฟืองมาทดลองหาคุณสมบัติด้านการลดระดับคอเลสเตอรอลในสัตว์ทดลองและในเซลล์ตัวอย่างในห้องปฏิบัติการ พบว่าสารสกัดจากมะเฟืองช่วยลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลและไขมันพอกตับลงได้ แต่การทดลองดังกล่าวเป็นเพียงการทดลองในสัตว์และในห้องทดลองเท่านั้น จึงไม่อาจสรุปประสิทธิผลของมะเฟืองต่อการลดระดับคอเลสเตอรอลในมนุษย์ได้ และควรมีการค้นคว้าวิจัยให้ชัดเจนต่อไปในอนาคต

ต้านอนุมูลอิสระ

สารอนุมูลอิสระมีหน้าที่สำคัญต่อกระบวนการทำงานภายในเซลล์ แต่หากสารนี้มีความเข้มข้นสูง อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายและสร้างความเสียหายต่อเซลล์ส่วนต่าง ๆ เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพตลอดจนเสี่ยงเผชิญโรคร้ายอย่างมะเร็งได้ด้วย

มะเฟืองเป็นแหล่งของสารอาหารมีประโยชน์ เช่น เควอซิทิน (Quercetin) อีพิคาเทชิน (Epicatechin) และกรดแกลลิก (Gallic Acid) ที่มีคุณสมบัติต้านสารอนุมูลอิสระ ซึ่งช่วยป้องกันโรคและการเจ็บป่วยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ได้ และยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น กรดแกลลิกช่วยกระตุ้นกระบวนการเจริญเติบโต และสารเควอซิทินช่วยลดการอักเสบของต่อมลูกหมาก เป็นต้น

ต้านการอักเสบ

กระบวนการอักเสบเป็นขั้นตอนที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อและการเจ็บป่วยต่าง ๆ มะเฟืองมีสารประกอบมากมายที่คาดว่าอาจมีสรรพคุณต้านการอักเสบได้ โดยการค้นคว้าหนึ่งได้นำสารพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharide) จากมะเฟืองไปสกัดจนเป็นสารประกอบน้ำตาล แล้วนำไปฉีดกับหนูทดลองแล้วพบว่าสารดังกล่าวช่วยลดกระบวนการอักเสบได้ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการบรรเทาความเจ็บปวดจากการอักเสบของผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้เป็นเพียงการทดลองในสัตว์ จึงไม่อาจยืนยันคุณสมบัติต้านการอักเสบของมะเฟืองในมนุษย์ได้ ควรมีการศึกษาทดลองในมนุษย์เพิ่มเติม และหลักฐานจากการค้นคว้าดังกล่าวก็อาจเป็นประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ต่อไปในอนาคต

ป้องกันมะเร็งตับ

มะเร็งตับเกิดจากเซลล์บริเวณตับมีลักษณะหรือการทำงานผิดปกติ และมะเร็งตับชนิดที่พบได้มาก คือ มะเร็งเซลล์ตับ (Hepatocellular Carcinoma: HCC) มะเฟืองอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง จึงมีสมมติฐานว่ามะเฟืองอาจมีคุณสมบัติต้านมะเร็งชนิดนี้ได้ด้วย โดยมีงานวิจัยหนึ่งได้นำสารสกัดจากมะเฟืองไปทดลองกับหนู พบว่าสารสกัดจากมะเฟืองมีฤทธิ์ต้านมะเร็งเซลล์ตับในหนูทดลอง ซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าวอาจนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ในอนาคต แต่ควรมีการศึกษาค้นคว้าถึงประสิทธิภาพของมะเฟืองอย่างละเอียดรอบคอบก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรมีการทดลองด้านประสิทธิผลและความปลอดภัยของมะเฟืองในการใช้กับมนุษย์ เพราะมะเร็งเป็นโรคร้ายที่เป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงที

รับประทานมะเฟืองอย่างไรให้ปลอดภัย ?

แม้มะเฟืองจะเป็นผลไม้ที่คนนิยมรับประทานกันมานานและอุดมไปด้วยสารอาหารมีประโยชน์ แต่ในปัจจุบันยังมีข้อมูลทางสุขภาพเกี่ยวกับมะเฟืองน้อยมาก ดังนั้น ผู้บริโภคควรรับประทานมะเฟืองในปริมาณเหมาะสม และระมัดระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากมะเฟือง หากมีข้อสงสัย ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ จนกว่าจะมีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันประสิทธิผลของมะเฟืองในเชิงการรักษาหรือป้องกันโรคได้อย่างชัดเจน

เพื่อความปลอดภัยเบื้องต้นในการรับประทานมะเฟือง ผู้บริโภคควรเลือกผลที่สุกเต็มที่ ไม่เน่าเสีย ล้างน้ำให้สะอาด หั่นเป็นชิ้น แล้วนำเมล็ดออกก่อนรับประทาน

นอกจากนี้ ผู้บริโภคบางรายอาจพบผลข้างเคียงจากการรับประทานมะเฟือง เนื่องจากในมะเฟืองมีสารออกซาเลต (Oxalate) ปริมาณมาก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ไตเกิดความเสียหายหรือเป็นนิ่วในไตได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยงการรับประทานมะเฟือง เพราะอาจได้รับอันตรายจากการทำลายระบบประสาท ทำให้เกิดอาการสับสนมึนงง ชักเกร็ง หรืออาจป่วยรุนแรงถึงชีวิตได้ ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือกำลังใช้ยารักษาโรคอื่นอยู่ ควรปฏิบัติตนและรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์ รวมทั้งปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภคมะเฟืองหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ จากมะเฟืองด้วยเช่นกัน