มอร์ฟีน

มอร์ฟีน

มอร์ฟีน (Morphine) คือยาแก้ปวดที่สกัดมาจากฝิ่น จัดอยู่ในกลุ่มยาแก้ปวดชนิดเสพติด (Narcotic Analgesics) แพทย์จะใช้มอร์ฟีนระงับอาการปวดที่ค่อนข้างรุนแรงและรุนแรงมาก โดยตัวยาจะส่งผลต่อสมอง ทำให้ร่างกายมีปฏิกิริยาต่ออาการเจ็บปวดลดลง อย่างไรก็ตาม แพทย์จะไม่ใช้บรรเทาอาการปวดอ่อน ๆ หรือในกรณีที่ยาแก้ปวดชนิดอื่นสามารถรักษาอาการปวดดังกล่าวให้หายได้

มอร์ฟีน

ผู้ป่วยที่ใช้มอร์ฟีนเป็นเวลานานอาจเกิดการเสพติด ซึ่งก่อให้เกิดการติดยาจากสภาวะทางร่างกาย (Physical Dependence) อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เกิดอาการปวดต่อเนื่องและจำเป็นต้องใช้มอร์ฟีนรักษาอาการดังกล่าว มักจะไม่เกิดการติดยาจากสภาวะทางจิตใจ (Mental Dependence) ทั้งนี้ การหยุดใช้ยาทันทีจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงของการขาดยา อันเป็นผลของอาการติดยาจากสภาวะทางร่างกาย ผลข้างเคียงดังกล่าวป้องกันได้ โดยค่อย ๆ ลดปริมาณตัวยาที่ใช้ในการรักษาไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะครบกำหนดการรักษาอย่างสมบูรณ์

เกี่ยวกับมอร์ฟีน

กลุ่มยา ยาแก้ปวดชนิดเสพติด
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ระงับอาการปวดระดับรุนแรง
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ และเด็ก
รูปแบบของยา ยารับประทานในรูปแบบยาเม็ดหรือแคปซูลที่ออกฤทธิ์นาน ยาเม็ดที่ออกฤทธิ์ทันที ยาน้ำ และยาฉีด


คำเตือนในการใช้มอร์ฟีน

  • มอร์ฟีนเป็นยาบรรเทาอาการปวดที่มีประสิทธิภาพดีมากและปลอดภัยหากใช้อย่างระมัดระวังตามแพทย์สั่ง ส่วนผู้ที่ใช้ยาแก้ปวดชนิดเสพติดในทางที่ไม่ถูกต้อง หรือใช้ในปริมาณมากเกินกำหนด โดยเฉพาะเด็กหรือผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้โดยไม่ได้สั่งจ่ายจากแพทย์ สามารถเกิดการเสพติด ได้รับยาเกินขนาด หรือเสียชีวิตได้
  • ไม่ควรใช้มอร์ฟีนในกรณีที่เคยแพ้มอร์ฟีนหรือยาแก้ปวดชนิดเสพติดตัวอื่น มีอาการหอบหืดหรือปัญหาการหายใจรุนแรง รวมทั้งเกิดการอุดตันที่กระเพาะอาหารและลำไส้ หรือประสบภาวะลำไส้ไม่ทำงาน (Paralytic Ileus)
  • ผู้ที่แพ้มอร์ฟีน หรือยาแก้ปวดชนิดเสพติดชนิดอื่่น ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยานี้
  • ไม่ควรใช้มอร์ฟีนในปริมาณที่มากกว่าหรือนานกว่าที่แพทย์สั่ง
  • ผู้ที่รับประทานยาในกลุ่มยับยั้งเอนไซม์เอมเอโอไอ (MAO Inhibitor) ก่อนจะใช้มอร์ฟีนเมื่อ 14 วันที่ผ่านมา ไม่ควรใช้มอร์ฟีน เนื่องจากอาจเกิดปฏิกิริยาที่เป็นอันตรายได้ ทั้งนี้ ยาในกลุ่มดังกล่าวประกอบด้วย ลีเนโซลิด (Linezolid) เมทิลีน บลู (Methylene Blue) เซเลจิลีน (Selegiline) และยาอื่น ๆ
  • หากรับประทานมอร์ฟีนชนิดเม็ดที่ออกฤทธิ์นาน ควรกลืนให้หมดทั้งเม็ด ไม่ควรหักแบ่งหรือบดยา เพื่อเลี่ยงการรับยาในขนาดที่ทำให้เสียชีวิตได้
  • งดใช้ยานี้ร่วมกับผู้อื่นโดยเด็ดขาด
  • สตรีมีครรภ์หรือผู้ที่วางแผนจะมีบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เนื่องจากอาจเกิดอาการติดยาหรือถอนยาแก่ทารกในครรภ์ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงร้ายแรง หรือเสียชีวิตได้
  • ควรลุกยืนขึ้นช้า ๆ  เพื่อลดอาการวิงเวียนศีรษะหรือเป็นลม เนื่องจากผู้ที่ใช้ยานี้อาจเกิดอาการดังกล่าวได้หากลุกยืนทันที ทั้งนี้ ควรนอนลงสักพักเพื่อบรรเทาอาการหน้ามืดเวียนศีรษะ
  • งดขับรถหรือใช้เครื่องจักรทำงาน เนื่องจากมอร์ฟีนจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกง่วงซึม มึนงง และสับสนได้
  • ผู้ที่ใช้มอร์ฟีนมามักจะเกิดอาการท้องผูก ควรรับประทานยาระบายตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ดื่มน้ำให้มาก ๆ และรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงร่วมด้วย เพื่อป้องกันอาการดังกล่าว
  • หากต้องการหยุดยา ให้ค่อย ๆ ลดปริมาณตัวยาก่อนหยุดใช้ยาอย่างสมบูรณ์ ไม่เปลี่ยนหรือหยุดปริมาณการใช้ยาทันทีโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพื่อป้องกันอาการไม่ให้แย่ลง รวมทั้งลดโอกาสเกิดอาการขาดยา เช่น ปวดบีบที่ท้อง วิตกกังวล มีไข้ คลื่นไส้ คัดจมูก เหงื่อออก เกิดอาการสั่น หรือหลับยาก
  • ผู้สูงอายุอาจได้รับผลข้างเคียงค่อนข้างง่ายจากการฉีดมอร์ฟีน โดยเฉพาะอาจจะเกิดอาการสับสนมึนงง ง่วงซึม หรือหายใจช้าหรือหายใจตื้น
  • ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยา สมุนไพร หรืออาหารเสริมอื่นร่วมกับการใช้มอร์ฟีน
  • ผู้ที่ใช้ยารักษาอาการซึมเศร้า อาการทางจิต โรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease) ไมเกรน ติดเชื้อรุนแรง หรืออาการคลื่นไส้อาเจียน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้มอร์ฟีน
  • ควรปรึกษาแพทย์ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพต่อไปนี้
    • มีปัญหาการหายใจหรือสุขภาพปอด
    • มีประวัติเคยได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ มีเนื้องอกในสมอง หรือเกิดอาการชัก
    • มีประวัติเคยใช้สารเสพติด ติดสุรา หรือป่วยทางจิต
    • มีปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ
    • ป่วยเป็นโรคตับหรือไต
    • มีปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดี ตับอ่อน หรือต่อมไทรอยด์
    • ใช้ยาระงับประสาท เช่น ยาไดอะซีแพม (Diazepam) ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) หรือยาลอราซีแพม (Lorazepam)

ปริมาณการใช้มอร์ฟีน

แพทย์จะสั่งจ่ายมอร์ฟีนให้ผู้ป่วยแต่ละคนในปริมาณที่ต่างกัน โดยผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้ยาของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การรักษาได้ประสิทธิภาพสูงสุด

การใช้มอร์ฟีน

ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และอ่านรายละเอียดบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด ตรวจดูรายละเอียดว่าได้รับชนิดยาและยี่ห้อของมอร์ฟีนที่แพทย์สั่งจ่ายถูกต้องหรือไม่ ผู้ที่เริ่มใช้มอร์ฟีนหรือเปลี่ยนปริมาณการใช้ยาอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ทั้งนี้ ไม่ควรใช้ยาในปริมาณมากหรือนานเกินกว่าที่แพทย์สั่งจ่ายให้ หรือเปลี่ยนรูปแบบหรือยี่ห้อของยาเอง รวมทั้งควรแจ้งแพทย์ทันทีในกรณีที่ฤทธิ์ยาไม่บรรเทาอาการปวดให้ทุเลาลง หรือเกิดผลข้างเคียงขึ้น

ผู้ป่วยที่ได้ใช้ยารับประทานทั้งแบบเม็ด แคปซูล  หรือแบบน้ำ สามารถรับประทานยาร่วมกับอาหารหรือไม่ก็ได้ โดยรูปแบบยารับประทานแต่ละอย่างมีวิธีรับประทาน ดังนี้

  • ยาเม็ดหรือแคปซูลที่ออกฤทธิ์นาน ผู้ป่วยที่เคยใช้ยาแก้ปวดชนิดเสพติดมาก่อนจะใช้มอร์ฟีนชนิดนี้ โดยรับประทานยากลืนเข้าไปทั้งหมด ไม่หักแบ่งยาหรือเคี้ยวยา หากผู้ป่วยไม่สามารถกลืนยาได้ อาจผสมตัวยาที่อยู่แคปซูลกับน้ำเพียงเล็กน้อยให้เข้ากันแล้วกลืน หรือรับยาดังกล่าวผ่านสายยางให้อาหาร ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรรับประทานยาเม็ดที่หักบิ่น
  • ยารับประทานแบบน้ำ ผู้ป่วยควรใช้กระบอกฉีดสำหรับป้อนยาหรือถ้วยตวงยาวัดปริมาณยา

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรรับประทานตามเวลาที่แน่นอนในทุก ๆ วัน

  • ยาฉีด มักใช้ในสถานพยาบาล และใช้ตามที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด

ผลข้างเคียงจากการใช้มอร์ฟีน

ผู้ป่วยที่ใช้มอร์ฟีนรักษาอาการปวดของร่างกาย อาจได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ โดยจะเกิดผลข้างเคียง 2 ลักษณะ ได้แก่ ผลข้างเคียงที่รุนแรง และผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • ผลข้างเคียงที่รุนแรง ผู้ป่วยควรพบแพทย์โดยด่วนในกรณีที่เกิดอาการของผลข้างเคียงต่อไปนี้
    • ตามัว รวมทั้งมองสีผิดเพี้ยน โดยเฉพาะสีฟ้ากับสีเหลือง
    • เกิดอาการแสบร้อน คัน ชา หรือเป็นเหน็บชา
    • รู้สึกอึดอัดหรือเจ็บหน้าอก
    • สับสนมึนงงมากผิดปกติ หรือประสาทหลอน
    • ปัสสาวะน้อยลง
    • เป็นลมเมื่อลุกขึ้นยืนกะทันหัน
    • ชีพจรเต้นเร็ว ช้า หรือเต้นผิดปกติ
    • เหงื่อออกมาก รวมทั้งมีอาการหนาวสั่น
    • เกิดการอาเจียนอย่างรุนแรง
    • รู้สึกกังวลกับสิ่งต่าง ๆ มากผิดปกติ
    • คัน รวมทั้งมีผื่นหรือลมพิษขึ้นบนผิวหนัง
    • รอบเปลือกตา ดวงตา ใบหน้า ริมฝีปาก หรือลิ้นมีลักษณะบวม
    • ปวดท้อง เกิดท้องผูกอย่างรุนแรง
    • มือ แขน ขา หรือเท้า เกิดอาการสั่น
  • ผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยที่เกิดอาการของผลข้างเคียงลักษณะนี้อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาการดังกล่าวมักจะหายไปเองเมื่อร่างกายผู้ป่วยปรับตัวให้เข้ากับการใช้ยาได้ โดยแพทย์อาจแนะนำวิธีลดหรือป้องกันผลข้างเคียงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากเกิดอาการของผลข้างเคียงอยู่ หรือมีข้อสงสัยอื่น ๆ ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อปรึกษา

ผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ อาการที่พบได้ทั่วไป และอาการที่พบยาก ดังนี้

  • อาการที่พบได้ทั่วไป
  • รู้สึกสงบและผ่อนคลายลง
  • นอนหลับ หรือง่วง
  • ท้องผูก (ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาถ่ายร่วมด้วยทุกครั้งหากใช้มอร์ฟีน)
  • อาการที่พบยาก
  • ประจำเดือนไม่มา หรือประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • รู้สึกกระสับกระส่าย
  • รับรสผิดปกติ หรือขมปากขมคอ
  • ปากแห้ง
  • แสบร้อนกลางทรวงอก หรืออาหารไม่ย่อย
  • ความต้องการทางเพศลดลง
  • กล้ามเนื้อหดเกร็ง รวมทั้งมีปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมกล้ามเนื้อ
  • แสบตาเมื่อเจอแสง
  • ไม่สบายท้อง

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ใช้มอร์ฟีนเกินขนาด ควรนำส่งโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาโดยด่วน โดยอาการที่ได้รับยาเกินขนาดนั้น มีดังนี้

  • ม่านตาเล็กลง
  • โต้ตอบได้ช้า หรือไม่ค่อยมีสติ
  • เกิดอาการง่วงหรือเซื่องซึมอย่างรุนแรง รวมทั้งนอนหลับลึกกว่าปกติ
  • มีไข้ขึ้น
  • หากวัดความดันโลหิต จะพบว่าความดันโลหิตสูง
  • กระหายน้ำมากขึ้น
  • กล้ามเนื้อกระตุก หรือสั่น