พลูคาว ต้านโรคร้ายได้จริงหรือ ?

พลูคาว หรือผักคาวตอง เป็นผักพื้นบ้านที่นิยมรับประทานใบสดแกล้มอาหาร โดยเฉพาะอาหารเหนือและอีสาน เช่น ลาบ ก้อย และแจ่ว นอกจากนั้น ยังนำมาสกัดเป็นอาหารเสริมต่าง ๆ เพราะเชืื่อกันว่าพลูคาวมีสรรพคุณรักษาหรือป้องกันโรคร้ายต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน เป็นต้น

พลูคาว

พลูคาวเป็นสมุนไพรพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมในแถบเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานาน ในประเทศไทยมักพบได้มากในภาคเหนือ ส่วนในประเทศจีน พลูคาวเป็นพืชสมุนไพรที่นิยมนำมาใช้รักษาอาการไอ โรคปอดบวม และโรคหลอดลมอักเสบ พลูคาวมีสารประกอบฟีนอลที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เช่น สารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) อัลคาลอยด์ (Alkaloid) และสารเควอซิทิน (Quercetin) ซึ่งอาจมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการทำลายเซลล์ในร่างกาย และยับยั้งการอักเสบได้

ปัจจุบันมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนที่พิสูจน์ความเชื่อเกี่ยวกับคุณสมบัติต่าง ๆ ของพลูคาวไว้ ดังต่อไปนี้

ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ผักต่าง ๆ ในท้องตลาดอาจมีการปนเปื้อนสารพิษอยู่มาก หลายคนจึงหันมาบริโภคผักพื้นบ้านอย่างพลูคาวกันมากขึ้น ที่สำคัญ เชื่อกันว่าพลูคาวเป็นสมุนไพรที่อาจมีฤทธิ์ต้านมะเร็งได้ มีงานวิจัยหนึ่งที่สกัดสารชีวภาพกลุ่มอัลคาลอยด์หลายชนิดจากพลูคาวแล้วนำมาใช้ทดลองในตัวอย่างเซลล์มะเร็งของมนุษย์ พบว่าสารชนิดนี้อาจมีคุณสมบัติต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้

ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งที่ทดลองใช้พลูคาวปริมาณ 250 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร กับตัวอย่างเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ และไส้ตรงระยะแรกเริ่มในห้องทดลองเป็นเวลา 1 วัน พบว่าพลูคาวอาจยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และอาจทำลายเซลล์มะเร็งชนิดนี้ได้

แม้การศึกษาบางส่วนแสดงให้เห็นว่าพลูคาวและสารสกัดจากพลูคาวอาจช่วยต้านมะเร็งบางชนิดได้ แต่งานวิจัยเหล่านั้นเป็นการค้นคว้าในห้องปฏิบัติการที่ทดลองในตัวอย่างเซลล์เท่านั้น จึงยังไม่อาจยืนยันสมมติฐานด้านนี้ได้อย่างชัดเจน และยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการใช้สารสกัดจากพลูคาวจะปลอดภัยต่อร่างกายหรือไม่ จึงควรศึกษาทดลองในมนุษย์เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แน่ชัดต่อไป

ต้านการอักเสบ เพราะพลูคาวมีสารต่าง ๆ ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และอาจช่วยป้องกันการทำลายเซลล์ในร่างกาย จึงมีสมุนไพรและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากพลูคาวที่มักกล่าวอ้างสรรพคุณในด้านดังกล่าว มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งเผยว่า น้ำมันหอมระเหยจากพลูคาวมีกลไกการออกฤทธิ์คล้ายกับยาต้านอักเสบกลุ่ม NSAIDs ดังนั้น พลูคาวจึงอาจมีประสิทธิผลต้านการอักเสบได้ ส่วนงานวิจัยที่ทดลองประสิทธิภาพของพลูคาวในตัวอย่างเซลล์มนุษย์ พบว่าสารสกัดจากพลูคาวอาจช่วยยับยั้งการอักเสบของเซลล์ผิวหนังได้ ในขณะที่อีกหนึ่งงานวิจัยซึ่งฉีดสารสกัดจากพลูคาวในหนูทดลองเพื่อดูประสิทธิภาพทางการรักษาอาการอักเสบ พบว่าพลูคาวอาจช่วยยับยั้งภาวะหูอักเสบบวมน้ำได้

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเหล่านี้เป็นเพียงการทดลองในตัวอย่างเซลล์หรือสัตว์ทดลองในห้องปฏิบัติการเท่านั้น จึงควรศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันสมมติฐานว่าพลูคาวสามารถต้านการอักเสบในมนุษย์ได้จริง แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้มาปรับใช้เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไปในอนาคต

รักษาโรคเบาหวาน โรคเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน จนทำให้มีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ พลูคาวเป็นผักที่ไม่มีน้ำตาล และมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพหลายชนิด จึงเชื่อว่าการบริโภคพลูคาวอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและรักษาโรคเบาหวานได้ ซึ่งมีงานวิจัยหนึ่งศึกษาประสิทธิผลในด้านนี้ โดยให้หนูทดลองที่เป็นโรคเบาหวานรับน้ำมันระเหยจากพลูคาว หลังการทดลองพบว่าน้ำมันระเหยจากพลูคาวอาจช่วยปรับระดับกลูโคส อินซูลิน และฮอร์โมนอดิโพเนคทิน ซึ่งอาจช่วยให้ร่างกายลดภาวะดื้อต่ออินซูลินลงได้ เช่นเดียวกับอีกงานวิจัยหนึ่งที่ศึกษาการใช้สารสกัดจากพลูคาวในหนูทดลองที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าสารสกัดดังกล่าวอาจช่วยลดระดับโปรตีนและสารอัลบูมินในปัสสาวะ และอาจช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลินได้อย่างมีนัยสำคัญ

แม้งานวิจัยข้างต้นแสดงถึงคุณสมบัติของพลูคาวที่อาจรักษาโรคเบาหวานได้ แต่การค้นคว้าเหล่านั้นเป็นเพียงการทดลองในสัตว์ที่มีผลลัพธ์เป็นการตอบสนองต่ออินซูลินเท่านั้น ไม่ได้เป็นการทดลองรักษาโรคเบาหวานอย่างเจาะจงแต่อย่างใด ดังนั้น ควรศึกษาประสิทธิภาพของพลูคาวโดยทำการทดลองในมนุษย์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน แต่ควรศึกษาถึงความปลอดภัยจากการใช้พลูคาวอย่างรอบคอบก่อนเสมอ

พลูคาว รับประทานอย่างไรให้ปลอดภัยที่สุด ?

แม้พลูคาวมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอยู่มาก และไม่ก่อให้เกิดอันตรายสำหรับคนทั่วไปหากบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมจากการรับประทานอาหาร แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลหรือการทดลองใดยืนยันชัดเจนได้ว่าพลูคาวมีประสิทธิผลทางการรักษาหรือป้องกันโรคต่าง ๆ ในมนุษย์ได้ ผู้บริโภคจึงควรระมัดระวังในการบริโภคพลูคาว โดยเฉพาะในรูปผลิตภัณฑ์อาหารเสริม โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทยเผยว่า ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคไต ควรระมัดระวังในการบริโภคอาหารเสริมจากพลูคาวเป็นพิเศษ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจได้รับผลข้างเคียงจากพลูคาวจนทำให้เกิดอาการบวมน้ำและมีภาวะไตวายเฉียบพลัน ได้

ในประเทศไทย การผลิตอาหารเสริมจากพลูคาวนั้นได้รับการควบคุมมาตรฐานและกำหนดกระบวนการผลิตอย่างเคร่งครัด แต่เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุดของตัวผู้บริโภคเอง ควรคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากพลูคาว

  • สุขภาพร่างกาย ผู้บริโภคควรมีสุขภาพดีและไม่มีโรคประจำตัว เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลข้างเคียงหลังใช้สารสกัดจากพลูคาว
  • กระบวนการผลิต กระทรวงสาธารณสุขกำหนดว่า ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมพลูคาวต้องใช้กระบวนการสกัดด้วยการบดผง หรือสกัดด้วยน้ำจากใบพลูคาวเท่านั้น ดังนั้น ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานดังกล่าวและได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง
  • ปริมาณสารเควอซิทิน ไม่ควรบริโภคสารเควอซิทินจากอาหารเสริมเกิน 1 กรัม/วัน เพราะหากร่างกายได้รับสารเควอซิทินมากเกินไป อาจทำให้ไตเสียหายได้ ซึ่งผู้บริโภคศึกษาข้อมูลได้จากฉลากผลิตภัณฑ์