พยาธิแส้ม้า (Trichuriasis)

ความหมาย พยาธิแส้ม้า (Trichuriasis)

พยาธิแส้ม้า (Whipworm Infection, Trichuriasis) คือ พยาธิชนิดตัวกลมชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายแส้ ผู้ที่ติดเชื้อหรือได้รับพยาธิเข้าสู่ร่างกายในปริมาณไม่มาก มักไม่มีอาการไม่รุนแรงหรืออาจไม่มีอาการใดแสดงให้เห็น แต่หากการติดเชื้อรุนแรงอาจส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น อุจจาระปนมูกหรือเลือด ถ่ายเหลว เกิดภาวะโลหิตจาง ในเด็กอาจเกิดการเจริญเติบโตและการพัฒนาด้านสติปัญญาช้า เป็นต้น 

พยาธิแส้ม้าเป็นพยาธิที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อและสามารถแพร่กระจายผ่านทางอุจจาระของผู้ติดเชื้อ โดยการขับถ่ายที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ไข่ของพยาธิมจะปนอยู่ในดินหรือปุ๋ย ซึ่งการติดเชื้อพยาธิแส้ม้าจะเกิดจากการกลืนไข่พยาธิที่อาจปนไปกับผักผลไม้ หรือการใช้มือที่เปื้อนดินหยิบจับอาหารเข้าปากโดยตรง พยาธิชนิดนี้พบได้ในคนทุกวัย แต่พบมากในเด็ก

พยาธิแส้ม้า (Trichuriasis)

อาการของการติดเชื้อพยาธิแส้ม้า

พยาธิแส้ม้าอาจส่งผลให้ผู้ที่ติดเชื้อเกิดอาการแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของการติดเชื้อ อย่างในบางกรณีอาจไม่พบอาการใด ๆ แต่หากมีการติดเชื้อที่รุนแรงอาจพบอาการต่าง ๆ เช่น

  • ท้องเสีย อุจจาระบ่อย และรู้สึกเจ็บขณะอุจจาระ โดยอาจมีมูก หรือเลือดปนมาด้วย
  • กลั้นอุจจาระไม่อยู่
  • ภาวะโลหิตจาง
  • ลำไส้ตรงปลิ้น (Rectal Prolapse) คือภาวะที่ส่วนหนึ่งของลำไส้ใหญ่ยื่นออกมาจากทวารหนัก 

หากพบว่าอุจจาระมีเลือดหรือมูกปนออกมาควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจเป็นอาการที่เกิดจากการติดเชื้อนี้หรือโรคอื่น ๆ ได้

สาเหตุของการติดเชื้อพยาธิแส้ม้า

การติดเชื้อพยาธิแส้ม้าเกิดจากการกลืนไข่ของพยาธิแส้ม้าลงไป โดยไข่ของพยาธิแส้ม้ามักพบได้ในดินหรือปุ๋ยที่ปนเปื้อนจากอุจจาระของผู้ที่ติดเชื้อพยาธิแส้ม้า ซึ่งดินหรือปุ๋ยดังกล่าวอาจปนไปกับผักผลไม้ หรือการใช้มือที่ปนเปื้อนไข่พยาธิหยิบจับอาหารเข้าปากโดยตรง ทั้งนี้การติดเชื้อพยาธิดังกล่าวอาจพบได้มากในเด็ก ผู้ที่ดูแลสุขอนามัยไม่ดี และผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ร้อนชื้น 

การวินิจฉัยการติดเชื้อพยาธิแส้ม้า

ในการวินิจฉัยการติดเชื้อพยาธิแส้ม้าโดยส่วนใหญ่แล้ว แพทย์จะนำตัวอย่างอุจจาระของผู้ป่วยไปส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาไข่ของพยาธิ แต่ในบางกรณีอาจตรวจเพิ่มเติมโดยการใช้กล้องขนาดเล็กสอดเข้าไปในร่างกายบริเวณลำไส้เพื่อหาสาเหตุของการขับถ่ายผิดปกติ และอาจพบตัวพยาธิแส้ม้าที่โตเต็มวัย

การรักษาการติดเชื้อพยาธิแส้ม้า

แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาถ่ายพยาธิเพื่อกำจัดพยาธิและไข่ของพยาธิแส้ม้าในร่างกาย อย่างยาอัลเบนดาโซล (Albendazole) หรือยามีเบนดาโซล (Mebendazole) โดยแพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลา 1–3 วัน และอาจตรวจอุจจาระซ้ำหลังรับประทานยา เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยไม่มีการติดเชื้อหลงเหลืออยู่ อย่างไรก็ตามผู้ที่ตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาดังกล่าว เนื่องจากตัวยาอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์

นอกจากนี้ผู้ป่วยควรระมัดระวังความสะอาดและสุขอนามัยให้มากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เช่น ล้างมือก่อนหยิบจับอาหาร หรือล้างผักผลไม้และปรุงให้สุกก่อนรับประทาน เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อพยาธิแส้ม้า

ในกรณีที่เด็กติดเชื้อพยาธิแส้ม้าจนมีอาการรุนแรงและไม่ได้รักษา การติดเชื้อดังกล่าวอาจส่งผลให้เด็กมีปัญหาเกี่ยวกับการเจริญเติบโตที่ล่าช้าหรือมีปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการด้านสติปัญญา

การป้องกันการติดเชื้อพยาธิแส้ม้า

การรักษาความสะอาดและสุขอนามัยเป็นการป้องกันการติดเชื้อพยาธิแส้ม้าที่ดีที่สุดตามคำแนะนำดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะก่อนหยิบหรือจับอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังการสัมผัสสิ่งสกปรกโดยเฉพาะดิน
  • รับประทานผักหรือผลไม้ที่ผ่านการล้างทำความสะอาดหรือปรุงสุกอย่างเหมาะสม 
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำที่อาจมีการปนเปื้อน 
  • หากเลี้ยงสุนัขหรือแมวควรตัดหญ้าให้สั้น โดยเฉพาะบริเวณที่สัตว์เลี้ยงมักถ่ายอุจจาระและเก็บอุจจาระสัตว์เสมอ รวมถึงควรทำความสะอาดบริเวณดังกล่าวเป็นประจำ