บริจาคร่างกายเพื่อการศึกษา และข้อควรรู้ก่อนบริจาค

บริจาคร่างกาย (Body Donation) เป็นการอุทิศร่างกายหลังจากเสียชีวิตด้วยความสมัครใจ ซึ่งสามารถแสดงความจำนงในการบริจาคได้ตั้งแต่ในขณะที่มีชีวิตอยู่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในการศึกษาวิจัยของนักศึกษาแพทย์ ร่างกายของผู้บริจาคนั้นจะถูกเรียกว่า “อาจารย์ใหญ่” 

การบริจาคร่างกายแตกต่างจากการบริจาคอวัยวะ ซึ่งเป็นการบริจาคอวัยวะบางส่วนที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ เช่น หัวใจ ตับ ไต ปอด ตับอ่อน และกระดูก เพื่อนำไปปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยที่รอการบริจาคอวัยวะ โดยในปัจจุบันผู้บริจาคสามารถบริจาคร่างกายได้ตามสถานพยาบาลหรือภาควิชากายวิภาคศาสตร์ และคณะแพทย์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มีการเปิดรับการบริจาคร่างกาย

บริจาคร่างกาย

การนำร่างที่บริจาคไปใช้ประโยชน์

การบริจาคร่างกายจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามวัตถุประสงค์ในการนำร่างกายไปใช้โดยจะเน้นไปที่การศึกษาเป็นหลัก ซึ่งสามารถเลือกได้เพียงประเภทเดียวเท่านั้น ได้แก่

  • การบริจาคร่างกายเพื่อใช้ในการศึกษาของนักศึกษาแพทย์ การบริจาคประเภทนี้จะเป็นการบริจาคที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นำไปใช้ในการศึกษาของนักศึกษาแพทย์สาขาวิชาต่าง ๆ หรือนำไปจัดทำพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์เพื่อการศึกษาต่อไป
  • การบริจาคร่างกายเพื่อใช้ในการฝึกผ่าตัดสำหรับแพทย์เฉพาะทาง เป็นการบริจาคร่างกายเพื่อให้แพทย์เฉพาะทางฝึกความชำนาญในการผ่าตัด
  • บริจาคเพื่อให้เก็บโครงกระดูกเพื่อใช้ในการศึกษา คือการบริจาคที่มีจุดประสงค์เพื่อเพียงเก็บโครงกระดูกไว้ใช้ในการศึกษาเท่านั้น

นอกจากนี้ การบริจาคร่างกายยังเป็นประโยชน์ในการสร้างผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพประชาชน และเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้แก่ประชาชนที่สนใจอีกด้วย

เงื่อนไขการรับบริจาคร่างกาย

การบริจาคร่างกายสามารถทำได้ทุกคน เนื่องจากไม่มีการตรวจสุขภาพ โดยผู้ที่จะบริจาคจะต้องมีอายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไป และหากอายุต่ำกว่า 20 ปี จะต้องได้รับความยินจากผู้ปกครองตามกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรจึงจะสามารถบริจาคได้ แต่บางกรณี ญาติอาจคัดค้านการบริจาคร่างกาย ซึ่งถือเป็นสิทธิ์ที่พึงกระทำได้ หากผู้บริจาคมีความตั้งใจจริงในการบริจาคก็อาจทำพินัยกรรมมอบร่างกายให้แก่หน่วยงานที่บริจาคร่างกายไว้ได้

อย่างไรก็ตาม การบริจาคก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ เนื่องจากร่างที่บริจาคเพื่อการศึกษาจะต้องมีความสมบูรณ์มากที่สุด จึงจะสามารถใช้ในการบริจาคได้ นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของหน่วยงานรับบริจาคและวัตถุประสงค์ของการบริจาคด้วย โดยหน่วยงานที่รับบริจาคสามารถปฏิเสธการรับร่างผู้บริจาคได้ในกรณีต่อไปนี้

  • ขณะเสียชีวิตอายุเกิน 80 ปี น้ำหนักต่ำกว่า 40 กิโลกรัม หรือมากกว่า 100 กิโลกรัม
  • เสียชีวิตเกินกว่า 24 ชั่วโมงโดยไม่ได้ถูกเก็บรักษาร่างไว้ในห้องเย็นของโรงพยาบาล
  • ผู้บริจาคร่างกายเคยได้รับการผ่าตัดหรือมีร่องรอยความเสียหายที่บริเวณศีรษะและสมองก่อนเสียชีวิต
  • ผู้บริจาคร่างกายเสียชีวิตเนื่องจากโรคมะเร็งที่บริเวณศีรษะและสมอง หรือจากการติดเชื้อ รวมถึงโรคร้ายแรง เช่น เอดส์ (AIDS) ไวรัสตับอักเสบ วัณโรค โรคไต โรคตับ ภาวะติดสุราเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคเรื้อน โควิด-19 (COVID-19) โรคพิษสุนัขบ้า หรืออุบัติเหตุ
  • ผู้บริจาคร่างกายมีคดี มีความเกี่ยวข้องกับคดี หรือต้องมีการผ่าพิสูจน์
  • ร่างของผู้บริจาคผ่านกระบวนการเก็บรักษาด้วยน้ำยาแล้ว
  • ร่างของผู้บริจาคมีสภาพไม่เหมาะสม เช่น ศพเน่าเปื่อย อวัยวะขาดหายไปไม่ครบสมบูรณ์
  • ที่บริจาคเก็บศพของหน่วยงานรับบริจาคเต็ม

ขั้นตอนการบริจาคร่างกาย

ขั้นตอนในการบริจาคร่างกายของหน่วยงานที่รับบริจาคแต่ละที่มักคล้ายกัน โดยเมื่อผู้บริจาคมีความจำนงที่จะบริจาคร่างกาย จะต้องไปยังหน่วยงานที่ต้องการบริจาค และต้องเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้

  • รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว หรือ 2 นิ้ว จำนวน 2 รูป
  • สำเนาบัตรประชาชน 1 ใบ

จากนั้นเมื่อไปถึงหน่วยงานที่รับบริจาคแล้วจะได้รับเอกสารเพื่อกรอกแบบฟอร์มในการบริจาคร่างกาย ซึ่งผู้บริจาคจะต้องกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน และต้องระบุผู้แจ้งการถึงแก่กรรมแก่หน่วยงาน หลังจากนั้นเมื่อยืนเอกสารต่าง ๆ ครบแล้ว ผู้บริจาคจะได้รับบัตรประจำตัวผู้บริจาค ผู้บริจาคควรเก็บบัตรไว้กับตัวเพื่อเป็นหลักฐานในการบริจาคร่างกาย

นอกจากนี้ ในการบริจาคร่างกายผู้ป่วยในบางแห่งอาจให้ผู้บริจาคยื่นแสดงความจำนงในการบริจาคผ่านช่องทางออนไลน์ หรือส่งจดหมายแสดงเจตจำนงว่าจะบริจาคร่างกายให้หน่วยงานหลังเสียชีวิต เพื่อเป็นเอกสารยืนยันกับญาติว่าหลังจากที่ผู้บริจาคเสียชีวิตได้ทำการบริจาคร่างกายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

การเตรียมตัวก่อนบริจาคร่างกาย

ก่อนทำการบริจาคร่างกายผู้บริจาคจะต้องเตรียมเอกสารที่ต้องใช้ให้เรียบร้อย และควรแจ้งความประสงค์แก่ญาติและจัดเตรียมผู้ที่จะกระทำการในเรื่องการมอบร่างผู้บริจาคหลังจากเสียชีวิต เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหลังจากเสียชีวิต และไม่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันจนอาจทำให้สภาพศพของผู้บริจาคไม่สามารถบริจาคได้ 

หากมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับการบริจาคร่างกาย ควรติดต่อสอบถามหน่วยงานที่ต้องการบริจาคร่างกายโดยตรงเพื่อข้อมูลที่ถูกต้อง

การดูแลหลังจากบริจาคร่างกาย

การแสดงความประสงค์บริจาคร่างกายจะใช้เวลาเพียงไม่นาน โดยหลังจากการบริจาคร่างกาย ผู้บริจาคควรเก็บรักษาบัตรประจำตัวผู้บริจาคไว้ให้ดี หากทำหายควรแจ้งกับหน่วยที่ทำการบริจาคเพื่อทำบัตร นอกจากนี้หากในระหว่างที่มีชีวิตอยู่มีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย ผู้บริจาคควรแจ้งกับหน่วยงานที่เคยบริจาคร่างกายไว้ด้วย เพื่อความสะดวกในการจัดการหลังจากเสียชีวิต

หลังจากหน่วยงานได้รับร่างกายของผู้บริจาคแล้ว ร่างกายของผู้บริจาคจะถูกเก็บไว้สำหรับการศึกษาไม่เกิน 3 ปี แต่ถ้าหากเป็นการนำไปใช้สำหรับพิพิธภัณฑ์กายวิภาค หรือเก็บโครงกระดูก แพทย์จะนำร่างของผู้บริจาคเข้าสู่กระบวนการอื่น ๆ ต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อครบระยะเวลาในการศึกษา ญาติผู้บริจาคสามารถนำร่างไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเองได้ หรือจะนำร่างของผู้บริจาคเข้าร่วมรับพระราชทานเพลิงศพก็สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยจะมีการกำหนดวันพระราชทานเพลิงศพ และให้ญาติของผู้บริจาคร่างกายได้เข้าร่วม 

จากนั้นจะมีการจัดเก็บอัฐิผู้บริจาคไม่เกิน 5 ปี  โดยรายละเอียดในการบริจาคสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โรงพยาบาลที่รับบริจาคร่างกาย หรือหน่วยงานที่ผู้บริจาคมีความประสงค์จะอุทิศร่างกาย