น้ำแข็ง ตัวช่วยดับกระหายและวิธีเลือกซื้ออย่างปลอดภัย

ประเทศไทยนั้นมีอากาศร้อนแทบจะตลอดปี จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า น้ำแข็ง เป็นสิ่งที่หลายคนเลือกนำมาใช้เพื่อคลายความร้อน แต่รู้หรือไม่ว่าในน้ำแข็งที่รับประทานกันอยู่ในทุกวันอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ ไม่ว่าจะจากอุณหภูมิ ลักษณะ หรือสารปนเปื้อนที่มากับน้ำแข็ง บทความนี้จึงได้รวบรวมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการบริโภคน้ำแข็ง รวมทั้งวิธีการเลือกซื้อมาให้ได้ศึกษากัน

น้ำแข็งเกิดจากการนำน้ำเข้าสู่กระบวนการลดอุณหภูมิจนเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นของแข็ง น้ำแข็งในไทย อาจแบ่งได้ 2 แบบ คือ น้ำแข็งป่นและน้ำแข็งหลอด น้ำแข็งที่คนไทยรับประทานส่วนมากมาจากโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุขและไม่มีเครื่องหมายรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จากการศึกษาพบว่าในประเทศไทยเคยเกิดมีการเจ็บป่วยที่มีสาเหตุมาจากการรับประทานน้ำแข็งที่ไม่ได้มาตรฐานอยู่หลายครั้ง

น้ำแข็ง

ปัญหาสุขภาพกับการบริโภคน้ำแข็ง

แม้ว่าน้ำแข็งจะเป็นสิ่งที่ช่วยดับกระหายและให้ความสดชื่นแก่ร่างกาย แต่การรับประทานจนเกินพอดีก็อาจให้โทษได้เช่นกัน โดยปัญหาสุขภาพที่มาพร้อมกับน้ำแข็งอาจมี ดังนี้

โรคเสพติดน้ำแข็ง
อาการเสพติดน้ำแข็ง หรือ Pagophagia เป็นหนึ่งในรูปแบบของโรค Pica หรือโรคเสพติดการรับประทานของที่ไม่ใช่อาหารหรือไม่มีคุณค่าทางสารอาหาร โรคนี้อาจเกิดจากความเครียด อาจเป็นความผิดปกติทางจิตที่มักเกิดร่วมกันกับความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ โดยการเคี้ยวน้ำแข็งอาจไม่ได้ทำให้เกิดโรคนี้ แต่โรคนี้อาจทำให้เกิดการเคี้ยวน้ำแข็ง หากติดการเคี้ยวน้ำแข็งต่อเนื่องกว่าหนึ่งเดือนควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค เนื่องจากหากเป็นโรค Pica ผู้ป่วยอาจรับประทานวัตถุอื่นที่อาจเป็นอันตราย อย่างไม้ ดิน หรือกระดาษ และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ลำไส้ทะลุ ลำไส้อุดตัน การติดเชื้อ และสำลัก เป็นต้น นอกจากนี้ Pagophagia อาจพบในเด็กได้มากกว่าผู้ใหญ่

ภาวะโลหิตจาง
เชื่อกันว่าภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กอาจกระตุ้นให้ร่างกายอยากรับประทานน้ำแข็ง เนื่องจากน้ำแข็งอาจช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ซึ่งหากมีสัญญาณของภาวะเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก อย่างเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ หรือเบื่ออาหาร พร้อมกับพฤติกรรมติดน้ำแข็ง ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย เนื่องจากภาวะโลหิตจางอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย อย่างโรคหัวใจ หรือเพิ่มความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนดได้

ปัญหาสุขภาพฟัน
การเคี้ยวน้ำแข็งเป็นประจำหรือเป็นปริมาณมากอาจส่งผลให้และผิวเคลือบฟันสึกลงได้ ซึ่งโดยปกติเคลือบผิวฟันจะมีหน้าที่ปกป้องฟันจากการสึกหรอและความเสียหายต่าง ๆ แต่เมื่อผิวเคลือบฟันสึกลงก็อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพฟันอื่น ๆ ได้ อย่างไวต่ออาหารที่อุณหภูมิเย็นจัดหรือร้อนจัด และยังอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดฟันผุมากขึ้นอีกด้วย

โรคติดเชื้อ
อย่างที่ได้กล่าวไปว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยที่รับประทานน้ำแข็งที่ไม่ได้มาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกระบวนการผลิตน้ำอาจทำให้เกิดการปะปนของเชื้อโรคได้หลายชนิด เมื่อรับประทานเข้าไปก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคจากการติดเชื้อได้ เช่น โรคท้องร่วง โรคอาหารเป็นพิษ อหิวาตกโรค และไวรัสตับอักเสบเอ เป็นต้น

เลือกซื้อน้ำแข็งอย่างไรให้ปลอดภัย ?

เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพจากการบริโภคน้ำแข็ง จึงควรเลือกรับประทานและเลือกซื้อตามวิธีการ ดังนี้

  • เลือกรับประทานน้ำแข็งที่มีฉลากจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. เท่านั้น
  • เลือกรับประทานน้ำแข็งที่สะอาด มีลักษณะใสทั้งก้อน ไม่มีรูพรุนด้านใน ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี และไม่มีรสชาติแปลก
  • เลือกซื้อน้ำแข็งที่บรรจุอยู่ในถุงหรือบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพและอยู่ในสภาพดี ไม่มีรอยฉีกขาด
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำแข็งที่ใช้ในการแช่อาหารร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ผัก หรือขวดน้ำก็ตาม เนื่องจากการบรรจุภัณฑ์ของอาหารเหล่านั้นอาจมีการปนเปื้อนทั้งจากเชื้อโรคและสารเคมี ในถังน้ำแข็งควรมีแต่น้ำแข็งและที่ที่ตักน้ำแข็งแบบมีด้ามเท่านั้น
  • หากพบตะกอนบริเวณก้นแก้วหลังจากน้ำแข็งละลาย ควรหลีกเลี่ยงการซื้อหรือรับประทานจากผู้ประกอบการเจ้านั้น

โดยผู้ที่มีอาการของโรคเสพติดน้ำแข็งและโรคโลหิตจางควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย ส่วนผู้ที่ติดการเคี้ยวน้ำแข็ง ควรตระหนักถึงปัญหาสุขภาพที่อาจตามมาและลดพฤติกรรมดังกล่าวลง หากพบปัญหาในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควรปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้ หากพบโรงงานผลิตน้ำแข็งที่ไม่ได้มาตรฐานสามารถแจ้งไปยังสายด่วนผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาที่เบอร์โทรศัพท์ 1556 ได้อีกด้วย