นิ้วซ้น

ความหมาย นิ้วซ้น

นิ้วซ้น (Finger Dislocation) คือการบาดเจ็บตรงข้อต่อซึ่งเกิดจากกระดูกนิ้วเลื่อนไปจากตำแหน่งเดิม จนปลายสุดของกระดูกไม่สามารถตั้งตรงได้ปกติ ส่วนใหญ่แล้ว ข้อนิ้วตรงกลางของนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อยมักเกิดอาการซ้น สาเหตุของนิ้วซ้นมักเกิดจากการงอนิ้วไปด้านหลังมากเกินไป

นิ้วซ้น

ข้อต่อของมือและนิ้วมือจะมีข้อต่อเชื่อมกระดูกมือ (Phalanges) และกระดูกฝ่ามือ (Metacarpal Bones) โดยข้อต่อต่าง ๆ สามารถเกิดอาการซ้นได้ ดังนี้

  • ข้อปลายนิ้ว (Distal Interphalangeal Joints) ข้อต่อส่วนนี้อยู่ใกล้เล็บมือ มักได้รับบาดเจ็บจนเกิดแผล โดยแผลมักเปิดตรงบริเวณที่ซ้น
  • ข้อกลางนิ้ว (Proximal Interphalangeal Joints) อาการซ้นของข้อนิ้วส่วนนี้มักเกิดขึ้นเมื่อได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมผาดโผน โดยนิ้วบิดหรืองอผิดด้านจึงทำให้เกิดอาการนิ้วซ้น
  • ข้อโคนนิ้ว (Metacarpophalangeal Joints) ข้อต่อส่วนนี้อยู่ระหว่างมือและนิ้วมือ โดยเชื่อมกระดูกฝ่ามือบนฝ่ามือเข้ากับกระดูกมือที่อยู่ตรงแถวแรกของนิ้ว ข้อโคนนิ้วมักซ้นที่นิ้วชี้หรือนิ้วก้อย อย่างไรก็ตาม อาการซ้นของข้อโคนนิ้วพบได้ไม่บ่อยเมื่อเทียบกับข้อปลายนิ้วและข้อกลางนิ้ว เนื่องจากข้อโคนนิ้วเป็นข้อต่อที่แข็งแรงมาก

อาการนิ้วซ้น

ผู้ที่เกิดนิ้วซ้นจะเห็นอาการของภาวะดังกล่าวได้ชัดเจน โดยนิ้วจะงอผิดรูป ไม่สามารถงอหรือตั้งตรงได้ รวมทั้งเกิดอาการดังต่อไปนี้

  • นิ้วคด บวม และเกิดอาการปวดมาก
  • เกิดรอยฟกช้ำดำเขียว
  • นิ้วแข็ง ขยับลำบาก
  • สำหรับผู้ที่เกิดอาการรุนแรง จะรู้สึกชาและเป็นเหน็บร่วมด้วย
  • นิ้วที่ซ้นซีด
  • นิ้วที่ซ้นอาจเกิดผิวถลอกลอกออกมา
  • บางรายอาจกระดูกหัก ส่งผลให้กระดูกโผล่ขึ้นมาที่ผิวหนัง หรือสามารถมองเห็นกระดูกตรงบริเวณที่เกิดแผลได้

ผู้ที่นิ้วซ้นควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที เนื่องจากจะช่วยให้รักษาอาการให้ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ หากได้รับการรักษาช้าอาจทำให้นิ้วเกิดความผิดปกติถาวรได้

สาเหตุของนิ้วซ้น

นิ้วซ้นมีสาเหตุมาจากแรงอัดที่กระแทกปลายนิ้วอย่างแรง หรือออกแรงทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างรุนแรง ซึ่งมักเป็นการเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมผาดโผน เช่น บาสเก็ตบอล หรือเบสบอล แล้วได้รับแรงกระแทกมาอัดนิ้วมือที่กำลังกางออกพอดี หรือล้มลงโดยเอาฝ่ามือลงพื้น

การวินิจฉัยนิ้วซ้น

ผู้ที่นิ้วซ้นควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา หากปล่อยเอาไว้หรือไปพบแพทย์ช้า อาจทำให้รักษาอาการนิ้วซ้นได้ยากขึ้น ซึ่งส่งผลให้หายเป็นปกติได้ช้าหรือนิ้วอาจเกิดความผิดปกติถาวร โดยแพทย์จะวินิจฉัยนิ้วซ้นจากลักษณะนิ้วที่คดงอผิดรูป และตรวจผู้ป่วยด้วยการเอกซเรย์นิ้วที่เกิดความผิดปกติเพื่อวินิจฉัยว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นั้นเป็นอาการนิ้วซ้นหรือไม่ ทั้งนี้ การเอกซเรย์ยังช่วยให้เห็นว่าข้อต่อนิ้วบริเวณใดที่เกิดกระดูกหักด้วย หากกระดูกนิ้วมือหลุดจากเอ็น กระดูกจะหลุดห้อยออกมาเป็นชิ้น ๆ ซึ่งเกิดจากการดึงของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ เรียกว่าภาวะดูกหักจากแรงดึง (Avulsion Fracture)

การเอกซเรย์เพื่อวินิจฉัยนิ้วซ้นนั้นปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บใด ๆ โดยใช้รังสีในการประมวลภาพของกระดูกนิ้วมือออกมาเป็นฟิล์มภาพเอกซเรย์ เพื่อให้เห็นเนื้อเยื่ออ่อนและกระดูก การตรวจวิธีนี้จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยสัญญาณหรืออาการของความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับนิ้ว เช่น อาการปวด อาการกดเจ็บ อาการบวม หรือลักษณะของกระดูกที่ผิดรูป

การรักษานิ้วซ้น

หากผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บที่นิ้วและเกิดนิ้วซ้นขึ้นมา ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที โดยสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง ดังนี้

  • เลี่ยงออกแรงเคลื่อนไหวนิ้วที่เกิดอาการซ้น ทั้งนี้ ผู้ที่รู้วิธีดามนิ้ว สามารถดามนิ้วที่ซ้นเข้ากับนิ้วอื่นด้วยปากกาหรือสิ่งของที่มีรูปร่างเป็นแท่ง แล้วใช้สก็อตเทปสำหรับปฐมพยาบาลพันปิดไว้ให้ถูกต้อง
  • ควรถอดเครื่องประดับต่าง ๆ ที่สวมอยู่บนนิ้วออก เพื่อป้องกันไม่ให้นิ้วบวมมากกว่าเดิม
  • ควรยกมือข้างที่นิ้วซ้นขึ้นไว้ระดับเดียวกับหัวใจ เพื่อลดอาการบวมของนิ้ว
  • เลี่ยงให้นิ้วที่ซ้นได้รับแรงกระทบกระเทือนอื่น ๆ
  • ประคบน้ำแข็งเพื่อลดอาการบวมและปวด โดยประคบเย็นประมาณ 20-30 นาที ทุก 3-4 ชั่วโมง ทำเช่นนี้ประมาณ 2-3 วัน หรือจนกว่าอาการปวดและบวมจะทุเลาลง
  • ควรหาหมอนมารองนิ้วที่ซ้นให้ยกขึ้นสูงในกรณีที่ต้องนอนหงายหรือเอนหลังบนเก้าอี้แล้วฝ่ามือราบขนานพื้นเพื่อบรรเทาอาการปวดบวม
  • ควรล้างแผลให้สะอาดและปิดด้วยผ้าพันแผลให้เรียบร้อย รวมทั้งกดห้ามเลือดให้หยุดไหล ในกรณีที่นิ้วมีแผลเปิดออกมา

แพทย์จะเอกซเรย์เพื่อวินิจฉัยอาการนิ้วซ้น และทำการรักษาผู้ป่วยตามอาการ ผู้ป่วยนิ้วซ้นที่มีแผลเปิดที่นิ้วจะได้รับการทำความสะอาดแผลก่อนรับการรักษา โดยแพทย์จะฉีดยาป้องกันบาดทะยักและยาปฏิชีวนะให้เพื่อ

ป้องกันการติดเชื้อ วิธีรักษานิ้วซ้น มีดังนี้

  • ดึงกระดูก แพทย์จะดึงกระดูกข้อนิ้วที่ซ้น โดยแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่เพื่อลดอาการปวด หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ดึงข้อต่อให้กลับเข้าที่เป็นปกติ
  • สวมอุปกรณ์สำหรับดามนิ้ว เมื่อได้รับการรักษาด้วยวิธีดึงกระดูกจนเข้าที่เป็นปกติแล้ว แพทย์จะให้สวมอุปกรณ์สำหรับดามนิ้ว หรือดามนิ้วที่ซ้นเข้ากับนิ้วอื่นเป็นเวลาประมาณ 3-6 สัปดาห์ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเกิดอาการซ้นที่ข้อต่อส่วนใด ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจต้องบริหารมือเพื่อให้นิ้วแข็งแรงและลดอาการข้อต่อแข็งให้น้อยลง
  • ผ่าตัดนิ้ว ผู้ป่วยนิ้วซ้นที่อาการไม่ดีขึ้นหลังรับการรักษาด้วยวิธีดึงกระดูกหรือนิ้วไม่แข็งแรง กลับมาเคลื่อนอีกหลังได้รับการดึงกระดูก อาจต้องได้รับการผ่าตัดนิ้ว ซึ่งวิธีนี้จะใช้รักษาผู้ป่วยนิ้วซ้นที่มีอาการร้ายแรง หรืออาการนิ้วซ้นนั้นทำลายเส้นประสาทที่อยู่ใกล้ ๆ เส้นเอ็นหรือเนื้อเยื่อส่วนอื่น โดยแพทย์จะผ่าตัดใส่ลวดเล็ก ๆ หรือใส่แผ่นโลหะกับสกรูเข้าไปที่กระดูกข้อต่อที่มีปัญหา

ภาวะแทรกซ้อนของนิ้วซ้น

ผู้ที่นิ้วซ้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หากไม่ได้รับการรักษาทันที ได้รับการรักษาไม่ถูกวิธี หรือปล่อยให้อาการเรื้อรังต่อไป โดยภาวะแทรกซ้อนของนิ้วซ้น มีดังนี้

  • ข้อต่อหลุด ไม่แข็งแรง เกิดอาการข้อแข็ง หรือข้อต่อผิดรูป เนื่องจากได้รับการดึงกระดูกช้าเกินไป
  • กระดูกแตก เนื่องจากถูกดึงกระดูกแรงเกินไป
  • นิ้วกลับไปซ้นอีกครั้ง เนื่องจากข้อต่อไม่ได้เคลื่อนไหวเพียงพอ
  • กล้ามเนื้อหดตัว เนื่องจากไม่ได้เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อเป็นเวลานาน
  • เกิดการติดเชื้อ ในกรณีที่เกิดแผลเปิดขึ้นมา

การป้องกันนิ้วซ้น

นิ้วซ้นเกิดจากการได้รับแรงกระแทกจากการเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมผาดโผน อาการนิ้วซ้นสามารถป้องกันได้โดยเลี่ยงให้นิ้วรับแรงกระแทกจากการเล่นกีฬาที่ต้องเสี่ยงรับแรงกระแทกที่มือ เช่น บาสเก็ตบอลหรือวอลเลย์บอล รวมทั้งควรถอดเครื่องประดับต่างๆ ที่สวมไว้ที่นิ้วก่อนเล่นกีฬาดังกล่าวหรือทำกิจกรรมผาดโผนอื่น ๆ ส่วนผู้ป่วยนิ้วซ้นที่ได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว ควรสวมอุปกรณ์สำหรับดามนิ้ว ดามนิ้วที่ซ้นกับนิ้วอื่น หรือใส่เฝือกปูนเพื่อป้องกันการได้รับการบาดเจ็บอีก ทั้งนี้ ผู้ป่วยนิ้วซ้นสามารถดูแลตัวเองหลังได้รับการรักษาจากแพทย์แล้ว ดังนี้

  • รับประทานยาแก้ปวดตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  • เข้ารับการตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามอาการและการรักษา
  • บริหารข้อต่อนิ้ว เพื่อให้นิ้วมือแข็งแรง รวมทั้งพยายามบริหารนิ้วให้เคลื่อนไหวอยู่เสมอหลังจากถอดอุปกรณ์สำหรับดามนิ้วเพื่อป้องกันอาการข้อแข็ง