ท้องแรก ดูแลสุขภาพครรภ์อย่างไรให้ลูกน้อยแข็งแรง

ท้องแรกเป็นช่วงเวลาที่สร้างความตื่นเต้น มีความสุข และวิตกกังวลให้ว่าที่คุณแม่ เพราะต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งหาวิธีดูแลลูกน้อยให้มีสุขภาพแข็งแรงและคลอดออกมาอย่างปลอดภัย ซึ่งคุณแม่หลายคนที่ตั้งครรภ์เป็นท้องแรกคงรู้สึกสับสนไม่น้อยเมื่อหาข้อมูลการดูแลสุขภาพครรภ์และอาจใช้วิธีที่ไม่เหมาะสมได้

การดูแลสุขภาพครรภ์เป็นสิ่งสำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ และช่วยให้คุณแม่และลูกมีสุขภาพแข็งแรง บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ครั้งแรกและวิธีการดูแลสุขภาพครรภ์ที่เหมาะสมสำหรับว่าที่คุณแม่ไว้ให้แล้ว 

ท้องแรก ดูแลสุขภาพครรภ์อย่างไรให้ลูกน้อยแข็งแรง

คุณแม่ท้องแรกและสัญญาณของการตั้งครรภ์

โดยทั่วไป อาการของผู้ที่ตั้งครรภ์แต่ละคนอาจแตกต่างกัน แต่คุณแม่ท้องแรกอาจสังเกตจากสัญญาณบ่งบอกอาการตั้งครรภ์ที่พบได้บ่อยต่อไปนี้

  • ประจำเดือนขาด เกิดจากการที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอชซีจี (Human Chorionic Gonadotropin: hCG) ในระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้ไม่มีเลือดประจำเดือนในระหว่างตั้งครรภ์ แม้ว่าประจำเดือนขาดมักเป็นสัญญาณแรกที่บ่งบอกถึงการตั้งครรภ์ แต่ปัจจัยอื่นอาจมีผลให้ประจำเดือนมาช้าหรือขาดได้ เช่น ความเครียด การออกกำลังกายหนักเกินไป และการรับประทานอาหาร
  • มีเลือดซึมออกทางช่องคลอด เป็นเลือดที่เกิดจากการฝังตัวของตัวอ่อนภายในมดลูก มักพบในช่วง 6–12 วันหลังจากไข่ได้รับการปฏิสนธิ ซึ่งคุณแม่บางคนอาจมีอาการปวดเกร็งท้องร่วมด้วย
  • คัดตึงเต้านม เต้านมขยายใหญ่ขึ้น และอาจรู้สึกเจ็บเต้านมในช่วง 1–2 สัปดาห์หลังการตั้งครรภ์
  • แพ้ท้อง เป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ที่สังเกตได้ในช่วง 2–8 สัปดาห์หลังการตั้งครรภ์ โดยมักมีอาการคลื่นไส้และอาเจียนได้ตลอดทั้งวัน คุณแม่ส่วนใหญ่จะมีอาการแพ้ท้องในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์และอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น
  • อ่อนเพลีย เป็นอาการที่เกิดจากปริมาณฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่เพิ่มขึ้นระหว่างครรภ์ โดยพบได้บ่อยในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ แต่อาการอ่อนเพลียจะดีขึ้นเมื่อการตั้งครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่ 2

นอกจากนี้ อาจพบอาการอื่นที่อาจเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ เช่น ปัสสาวะบ่อย อยากอาหารมากกว่าปกติ และท้องผูก คุณแม่ที่มีอาการในข้างต้นและสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาเภสัชกรและตรวจด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ หากผลการตรวจขึ้น 2 ขีด หมายถึงผลเป็นบวกและน่าจะมีการตั้งครรภ์ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติมภายหลัง

การดูแลสุขภาพครรภ์ของคุณแม่ท้องแรก

การดูแลสุขภาพครรภ์จะช่วยให้สุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยแข็งแรง เด็กมีพัฒนาการและการเจริญเติบโตตามวัย และอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด แท้ง และความผิดปกติของทารก คุณแม่ท้องแรกสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

ฝากครรภ์

การฝากครรภ์ (Prenatal Care) เป็นการดูแลสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ ติดตามการตั้งครรภ์และตรวจคัดกรองความผิดปกติตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนครบกำหนดคลอด และให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเองขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ท้องแรกจึงควรเริ่มฝากครรภ์ตั้งแต่ทราบว่าตั้งครรภ์และมาตรวจตามนัดทุกครั้ง 

ในการฝากครรภ์ครั้งแรกจะมีการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ตรวจร่างกาย ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด และตรวจกรองความเสี่ยงโรคธาลัสซีเมียและเบาหวาน ฉีดวัคซีน ส่วนในการตรวจครั้งถัดไปจะมีการตรวจหน้าท้องเพื่อดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์และฟังเสียงหัวใจของทารกร่วมด้วย 

รับประทานอาหารที่เหมาะสม

การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสมมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก โดยคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 300 กิโลแคลอรี่ต่อวัน และควรได้รับสารอาหารประเภทโปรตีนและแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น แคลเซียม ธาตุเหล็ก โฟเลต และไอโอดีน ซึ่งพบในเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ นม ธัญพืชขัดสีน้อย และผักผลไม้ต่าง ๆ

นอกจากนี้ คุณแม่ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด อาหารหมักดอง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และควรดื่มน้ำให้เพียงพอวันละ 6–8 แก้ว

รับประทานวิตามินเสริมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

การได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับทารกในระหว่างการตั้งครรภ์ มีส่วนช่วยให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการปกติตามวัย ซึ่งวิตามินที่จำเป็นสำหรับทารกในครรภ์ ได้แก่ โฟเลต แคลเซียม ธาตุเหล็ก ไอโอดีน โอเมก้า 3 และวิตามินดี 

อย่างไรก็ตาม การรับประทานวิตามินเสริมควรอยู่ในการแนะนำของแพทย์เสมอ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพจากการรับประทานในปริมาณมากเกินความต้องการของร่างกาย

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

คุณแม่ท้องแรกอาจกังวลว่าการออกกำลังกายจะทำให้เกิดอันตรายกับทารกในครรภ์ แต่คุณแม่สามารถออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์ได้ โดยให้เลือกออกกำลังกายที่ความหนักระดับปานกลางในรูปแบบแอโรบิคแรงกระแทกต่ำ (Low Impact Aerobics) เช่น โยคะ เดิน ว่ายน้ำ และปั่นจักรยานแบบอยู่กับที่

คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถออกกำลังกายได้ตลอดช่วงระยะเวลาของการตั้งครรภ์ ซึ่งจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง บรรเทาความเครียดและอาการอ่อนเพลีย ลดอาการปวดหลัง และอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ได้ อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่มีความรุนแรง และปรึกษาสูตินรีแพทย์ก่อนออกกำลังกายเสมอ

พักผ่อนให้เพียงพอและหลีกเลี่ยงความเครียด

คุณแม่ท้องแรกมักเครียดและกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย การดูแลทารกในครรภ์ และความผิดปกติหลังคลอด แต่การมีความเครียดสะสมอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ ดังนั้น การจัดการความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลงสบาย ๆ วาดรูป นั่งสมาธิ หรือออกกำลังกายจะช่วยลดความเครียดของคุณแม่ได้

นอกจากนี้ ควรพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมงในเวลากลางคืน และควรหาเวลาพักผ่อนช่วงกลางวันประมาณ 1 ชั่วโมง โดยคุณแม่ควรนอนราบและใช้หมอนรองเท้าเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดี ลดอาการเท้าบวมและลดความเสี่ยงของการเกิดเส้นเลือดขอด

งดการทำกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์

คุณแม่ท้องแรกควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ ได้แก่

  • การยกของหนักและการปีนป่ายที่สูง เพราะอาจทำให้คุณแม่เกิดอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บรุนแรงจนอาจนำไปสู่ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด (Abruptio Placentae) และการคลอดก่อนกำหนดได้
  • การยืนเป็นเวลานานอาจทำให้ปวดหลัง ขาและข้อเท้าบวม และอาจเกิดเส้นเลือดขอด
  • การแช่น้ำร้อนและการอบซาวน่าที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 38.9 องศาเซลเซียส อาจส่งผลต่อความผิดปกติของทารกในครรภ์ โดยเฉพาะช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
  • การใช้สารเคมีต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ เช่น สีทาบ้าน ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง มด หนู แมลงสาบ น้ำยาล้างห้องน้ำหรือสารทำความสะอาดที่มีพิษรุนแรงและมีกลิ่นฉุน 
  • การสูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่จากคนรอบข้าง เพราะสารเคมีในบุหรี่อาจทำให้เสี่ยงต่อการแท้งลูก คลอดก่อนกำหนด และน้ำหนักตัวของทารกต่ำกว่าเกณฑ์

การตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาที่คุณแม่ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน โดยเฉพาะท้องแรกที่สร้างความกังวลให้ว่าที่คุณแม่หลายคน แต่การดูแลสุขภาพครรภ์ตามวิธีข้างต้นและไปฝากครรภ์ตามนัดจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้ และหากพบอาการผิดปกติใด ๆ เช่น เลือดไหลออกจากช่องคลอด น้ำเดิน ปวดท้องอย่างรุนแรง เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ตาพร่า หายใจลำบาก ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย