ทองแดง

ทองแดง

ทองแดง (Copper) เป็นหนึ่งในแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย โดยทองแดงมีส่วนช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว และมีหน้าที่ไปกระตุ้นให้ร่างกายใช้ธาตุเหล็กเพื่อสร้างฮีโมโกลบิน นอกจากนี้ ยังจำเป็นต่อการทำงานของสมองและระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง การขาดทองแดงอาจมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลหิตจางและกระดูกพรุนได้ 

โดยทั่วไปเราจะได้รับทองแดงจากอาหารที่รับประทานตามปกติอยู่แล้ว ส่วนผู้มีความผิดปกติบางอย่าง เช่น ท้องเสียเรื้อรัง โรคเกี่ยวกับไต ตับอ่อน และลำไส้ อาจต้องการทองแดงมากกว่าปริมาณปกติที่ควรได้รับ อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารเสริมทองแดงเพื่อรักษาโรคควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ

ทองแดง

เกี่ยวกับทองแดง

กลุ่มยา อาหารเสริม
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้เอง
สรรพคุณ รักษาและป้องกันอาการขาดทองแดงในร่างกาย
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มวิตามินและแร่ธาตุ จึงไม่มีการจัดหมวดหมู่ของยาชนิดนี้จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA อย่างไรก็ตาม สตรีมีครรภ์ หรือสตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรที่ต้องได้รับทองแดงมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องของปริมาณการใช้ เพราะการบริโภคที่มากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อทารกที่อยู่ในครรภ์ และบุตรที่ยังดื่มนมจากมารดาอยู่ได้เช่นกัน
รูปแบบของยา ยาเม็ด

คำเตือนการบริโภคทองแดง

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการบริโภค ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

  • ทองแดงเป็นอาหารเสริมที่รับประทานได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ แต่ก่อนรับประทานควรอ่านคำแนะนำในการใช้และคำเตือนที่อยู่บนฉลากยา เพราะอาหารเสริมดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ในช่วงที่รับประทานอาหารเสริมทองแดง เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากทองแดงได้ไม่เต็มที่
  • ผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับระบบน้ำดี โรคตับ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เพื่อให้แพทย์สามารถจัดปริมาณอาหารเสริมทองแดงที่เหมาะสมได้
  • ผู้ที่มีภาวะทองแดงคั่งในร่างกาย (Wilson's Disease) ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเสริมทองแดงทุกชนิด เพราะจะยิ่งทำให้อาการแย่ลง
  • สตรีมีครรภ์หรือสตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรที่สงสัยว่าต้องได้รับทองแดงมากขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณการใช้ เพราะการบริโภคที่มากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อทารกที่อยู่ในครรภ์ และบุตรที่ยังดื่มนมจากมารดา

ปริมาณการบริโภคทองแดง

การบริโภคอาหารเสริมทองแดงเพื่อรักษาอาการขาดทองแดงตามใบสั่งของแพทย์ จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการขาดทองแดงในร่างกาย สำหรับการป้องกันภาวะขาดทองแดงจะมีปริมาณดังนี้

ผู้ใหญ่ อายุ 19 ปีขึ้นไป

เพศชาย รับประทาน 1.6 มิลลิกรัมต่อวัน

เพศหญิง รับประทาน 1.3 มิลลิกรัมต่อวัน

สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ให้เพิ่มขึ้นวันละ 0.2 มิลลิกรัมต่อวัน

เด็กและวัยรุ่น

แรกเกิด–5 เดือน ควรได้รับทองแดงจากน้ำนมแม่เป็นหลัก

อายุ 6–11 เดือน รับประทาน 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน

อายุ 1–3 ปี รับประทาน 0.7 มิลลิกรัมต่อวัน

อายุ 4–10 ปี รับประทาน 1 มิลลิกรัมต่อวัน

อายุ 11–18 ปี เพศชายรับประทาน 1.3 มิลลิกรัมต่อวัน เพศหญิงรับประทาน 1.1 มิลลิกรัมต่อวัน

การบริโภคทองแดง

ทองแดงเป็นแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย หากต้องการใช้อาหารเสริมทองแดงสามารถหามารับประทานได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยาของแพทย์ แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากการรับประทานทองแดงอาจมีผลข้างเคียง หรือทำให้ผู้ที่มีอาการแพ้ทองแดงเกิดอาการกำเริบได้

หากเป็นผู้ที่อยู่ในช่วงการรักษาภาวะขาดทองแดง ควรรับประทานอาหารเสริมทองแดงอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์สั่ง แต่หากลืมรับประทานตามเวลา ควรรีบรับประทานทันทีที่นึกได้เพื่อให้ร่างกายได้รับทองแดงอย่างเพียงพอ

ปฏิกิริยาระหว่างทองแดงกับยาอื่น 

ทองแดงอาจทำปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นที่ใช้อยู่ เช่น ยาเพนิซิลลามีน (Penicillamine) ที่ใช้รักษาโรครูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) และภาวะทองแดงคั่งในร่างกาย ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพของยาเพนิซิลลามีนลดลง และทำให้ร่างกายดูดซึมยาเพนิซิลลามีนได้น้อยลง

นอกจากนี้ การใช้ทองแดงร่วมกับยาคุมกำเนิดอาจทำให้ระดับทองแดงในร่างกายสูงผิดปกติ แม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อคนส่วนมาก แต่ผู้ที่ใช้ยาเพนิซิลลามีนและยาคุมกำเนิดควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้นจากการรับประทานทองแดงก่อนเสมอ

ตัวอย่างยาและสมุนไพรดังข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อาจทำปฏิกิริยากับอาหารเสริมทองแดง หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

ผลข้างเคียงจากการใช้ทองแดง

ผลข้างเคียงที่เกิดจากทองแดงโดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากการรับประทานเกินขนาด หากพบอาการดังต่อไปนี้ควรหยุดรับประทานและรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

  • อาเจียนเป็นเลือด หรือมีสีดำ
  • ปัสสาวะเป็นเลือด รู้สึกเจ็บ หรือรู้สึกแสบร้อนขณะปัสสาวะ
  • ท้องเสีย
  • หน้ามืด เป็นลม
  • ปวดศีรษะเรื้อรัง หรือมีอาการปวดศีรษะรุนแรง
  • แสบร้อนกลางอก เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้อย่างรุนแรงหรือเรื้อรัง
  • ปวดหลังส่วนล่าง
  • ลิ้นได้รับรสโลหะ
  • ตาเหลือง ตัวเหลือง
  • เข้าสู่ภาวะโคม่า