ถามแพทย์

  • ไอมาเกือบ 2 เดือน โดยเฉพาะเวลากลางคืน มีน้ำมูกทุกวัน กินยามา 13 วันแล้ว อาการไม่ดีขึ้น ทำอย่างไร

  •  Walter
    สมาชิก
    มีอาการไอมานานแล้วกว่าเกือบ 2 เดือนได้โดยเฉพาะตอนกลางคืนก็บ่อยมากบางวันก็หอบครับและก็ไอมีเลือดแต่เป็นบางครั้งครับ ไข้ไม่มี มีน้ำมูกไหลทุกวัน ล่าสุดไปหาหมอมาให้ยาปฏิชีวนะยาลดน้ำมูกกับยาแก้ไอมาครับ(Amoxicillin)กินมา 13 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้นเลยครับโดยเฉพาะไอตอนกลางคืน ทำอย่างไรดีครับ

    สวัสดีค่ะ คุณ :D,

                        อาการไอมานานเกือบ 2 เดือน  โดยเฉพาะกลางคืน อาจเกิดจาก

                      1. โรคหอบหืด อาการมักจะกำเริบขึ้นเมื่อโดนกระตุ้นจากสิ่งที่แพ้ เช่น เกสรดอกไม้ สะเก็ดผิวหนังสัตว์ ไรฝุ่น เป็นต้น หรืออุณหภูมิอากาศที่เย็นก็ได้ (ดังนั้น อาการจะเป็นตอนกลางคืนมากกว่ากลางวัน) การออกกำลังกาย หรือความเครียด บางรายอาจมีเฉพาะอาการไอได้  แต่ส่วนใหญ่มักมีอาการอื่นๆ ร่วมอีก เช่น หายใจลำบาก หายใจขัด แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงดังวี๊ดๆ หอบเหนื่อย เป็นต้น

                      2. ภูมิแพ้ชนิดแพ้อากาศ แต่นอกจากไอแล้ว ก็มักมีอาการคันจมูก คันคอ จาม มีน้ำมูกไหลร่วมด้วย โดยอาการจะเกิดเมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ รวมถึงอากาศที่เย็นด้วยเช่นเดียวกับโรคหอบหืด

                      3. กรดไหลย้อน อาจทำให้เกิดอาการไอได้ จากการที่น้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาระคายเคืองบริเวณลำคอและอาจไหลลงสู่หลอดลม จึงกระตุ้นให้เกิดการไอ ซึ่งเมื่อนอนลง อาการอาจเป็นมากขึ้นได้ แต่มักมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น แสบร้อนกลางอก จุกแน่นลิ้นปี่ เรอบ่อย รู้สึกเปรี้ยวหรือขมที่ลำคอ มีน้ำลายในคอหรือมีเสมหะ มีคลื่นไส้หลังทานอาหาร อิ่มเร็ว เป็นต้น                 

                       4. หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน แต่จะมีอาการของไข้หวัดนำมาก่อน และต่อเนื่องด้วยอาการไอมาก ไอบ่อยและมักมีเสมหะร่วมด้วย อาการไออาจเกิดได้นานต่อเนื่องหลายสัปดาห์ แต่อาการไอก็จะเป็นทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน

                       5. วัณโรคปอด แต่จะมีไข้ น้ำหนักลด เบื่ออาหารร่วมด้วย

                      หากมีอาการไอ โดยเฉพาะกลางคืน ร่วมกับมีน้ำมูกไหลทุกวัน หอบบางวัน โดยที่ไม่มีไข้ ก็น่าจะเป็นโรคหอบหืดหรือภูมิแพ้ได้ ซึ่งการดูแลตนเอง ก็ควรพยายามหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ ที่น่าจะเป็นต้นเหตุ รวมถึง การหลีกเลี่ยงการโดนอากาศเย็นจัด ไม่ตากลม ไม่ตากฝน หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็นโดยเฉพาะเวลากลางคืน ไม่อาบน้ำเย็นในช่วงกลางคืน ใส่เสื้อผ้าที่มิดชิดหรือห่มผ้าให้อบอุ่นในตอนนอน นอกจากนี้ ก็ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีฝุ่นละอองมาก หรือใส่หน้ากากป้องกัน ไม่สูบบุหรี่และไม่อยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ เป็นต้น

                        หากอาการยังไม่ดีขึ้น ก็ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางอายุกรรม เพื่อตรวจและรักษาต่อไปค่ะ