ถามแพทย์

  • รู้สึกไร้เรี่ยวแรง อ่อนเพลีย หมดพลังงาน ไม่สดชื่น ซึมเศร้า เก็บตัว เสียใจง่าย

  •  Piyathida Yardthong
    สมาชิก
    รู้สึกไร้เรี่ยวแรง อ่อนเพลีย หมดพลังงาน ไม่สดชื่น ซึมเศร้า เก็บตัว เสียใจง่าย ร้องไห้ง่าย เหนื่อยหน่าย เบื่อ ท้อแท้ สิ้นหวัง ครุ่นคิด วิตกกังวลต่อสิ่งต่าง ๆ ฟุ้งซ่าน มองโลกในแง่ร้าย ไม่มีความสุขในชีวิต ไม่มีอารมณ์ขัน ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ทำให้รู้สึกดีหรือผ่อนคลาย รู้สึกผิดหวัง ว่างเปล่า โดดเดี่ยว ไร้ค่า มีความคิดอยากตายหรืออยากฆ่าตัวตาย มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ ไม่สามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ ไม่มีสมาธิในการทำสิ่งใดให้สำเร็จลุล่วง ทำกิจกรรมต่าง ๆ ลดน้อยลงมาก ไม่อยากทำอะไร มีปัญหาในการนอน นอนไม่หลับ นอนมากหรือน้อยเกินไป มีปัญหาด้านการกิน กินอาหารปริมาณมากหรือน้อยจนเกินพอดี

    สวัสดีค่ะคุณ Piyathida Yardthong

     โดยทั่วไปอารมณ์ความรู้สึกของคนเรานั้นสามารถเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ตลอดเวลา ในแต่ละวันเราต้องเจอเหตุการณ์มากมายที่อาจทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกแตกต่างกัน บางครั้งเป็นอารมณ์ทางบวก เช่น ดีใจ ตื่นเต้น ภูมิใจ บางครั้งเป็นอารมณ์ทางลบ เช่น เศร้า เหงา โกรธ หรือ หงุดหงิดไม่พอใจ อารมณ์เหล่านี้มักเกิดขึ้นแล้วจางลงเมื่อเวลาผ่านไป ไม่จำเป็นที่คนเราต้องมีอารมณ์ทางบวกตลอดเวลา คนเราอาจมีอารมณ์ความรู้สึกทางลบในบางคราวโดยที่ไม่ส่งผลเสียต่อตนเอง หรือคนรอบตัว ก็เป็นสิ่งปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้อารมณ์ความรู้สึกของเราอาจขึ้นกับสถานการณ์ สถานที่ สิ่งแวดล้อม ฤดูกาล และคนรอบข้างเราในขณะนั้น รวมถึงอาจเกิดจากสารเคมีในสมอง หรือฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายของเราที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย ดังนั้น การเกิดอารมณ์เศร้าที่มากเกินปกตินั้น อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

    • โรคทางต่อมไร้ท่อ เช่น ไทรอยด์ทำงานมากหรือน้อยเกินไป

    • การใช้ยาบางประเภท ที่ส่งผลต่อจิตและประสาท เช่น ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ยารักษาสิวบางชนิด ยาสเตียรอยด์ ยาคุมกำเนิด ยากันชัก และสารเสพติดบางอย่าง เป็นต้น

    • โรคทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล

    • ภาวะเศร้าที่เกิดจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

    • โรคอื่น ๆ เช่น ขาดวิตามินบี 12  ภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับ

    • โรคทางสมอง เป็นต้น

      จากที่บอกว่ารู้สึกเสียใจ ท้อแท้ ไร้ค่า และมีความคิดอยากตาย  แนะนำว่าควรพบแพทย์เพื่อขอความช่วยเหลือโดยเร็ว หรืออาจใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต ของกรมสุขภาพจิต โทร 1667 ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการใช้บริการ เพื่อปรึกษาอาการเบื้องต้น เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์อาจจะซักถาม ตรวจร่างกาย และอาจพิจารณาตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการหากจำเป็น เพื่อค้นหาสาเหตุ และให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไป

      ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ