ถามแพทย์

  • มีฟันกรามโผล่ที่เหงือกด้านในสุด ใช่ฟันคุดไหม ปวดมาก เหงือกบวมเหมือนจะเป็นหนอง อันตรายไหม

  • คุณหมอคะ คือ ตอนนี้ดิฉันมีฟันกรามโผล่มาในเหงือกอยู่ด้านในสุด ใช่ฟันคุดมั้ยคะ ปวดมาก นอนไม่ได้เลย เป็นมา1อาทิตย์แล้วค่ะ ทรมานมาก แต่ยังไม่ได้รับการรักษาใดๆ เพราะตอนนี้ทำงานอยู่ต่างประเทศ เลยต้องรอวันหยุด อยากทราบว่า มันจะอันตรายมากมั้ยคะ ตอนนี้เหงือกอักเสบมาก บวม และเหมือนจะเป็นหนองด้วยค่ะ หุบปากเริ่มไม่ได้แล้ว

    สวัสดีค่ะ คุณ ผู้ชายเปื้อนฝุ่นกอดมั่ยอุ่น เท่าคนมีตังค์,

                      โดยปกติฟันกรามซี่สุดท้ายมักจะขึ้นในช่วงอายุ 17-25 ปี  ดังนั้น หากเห็นฟันกรามซี่ด้านในสุดโผล่ไม่พ้นเหงือก ก็จะเรียกว่าเกิดฟันคุดขึ้น ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากขนาดของกรามไม่สัมพันธ์กับขนาดของฟัน ลักษณะอาการของฟันคุด คือ ปวดบวมบริเวณเหงือก บางคนอาจมีอาการบวมบริเวณคาง

                       การรักษา คือการผ่าเอาฟันคุดออก หากไม่ผ่าเอาออก ผลที่ตามมาได้แก่

                         1. การอักเสบของเหงือกที่ปกคลุมฟัน เพราะเศษอาหารมีโอกาสติดเข้าไปใต้เหงือกได้ง่าย และการทำความสะอาดมักทำได้ยาก เศษอาหารเหล่านี้ก็จะเป็นแหล่งเพาะเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดการอักเสบตามมา และอาจกลายเป็นฝีหนองทำลายเนื้อเยื่อข้างเคียง จนกระทั่งเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้

                       2. การละลายตัวของกระดูก แรงดันจากฟันคุดที่พยายามดันขึ้นมา จะทำให้กระดูกรอบรากฟันและกระดูกรากฟันซี่ที่อยู่ข้างเคียงถูกทำลาย

                       3. การเกิดถุงน้ำ ฟันคุดที่ทิ้งไว้นานอาจจะทำให้เนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุดขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นถุงน้ำ แล้วโตขึ้นโดยไม่แสดงอาการเลย จนในที่สุดเกิดการทำลายฟันซี่ข้างเคียง และกระดูกรอบๆ บริเวณนั้น หากไม่เคยได้รับการตรวจฟันมักจะรู้ตัวอีกทีเมื่อเห็นใบหน้าเอียงหรือขากรรไกรข้างหนึ่งใหญ่กว่าอีกข้าง        

                       4. กระดูกขากรรไกรหัก เนื่องจากการที่มีฟันคุดฝังอยู่จะทำให้กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นบางกว่าตำแหน่งอื่น เกิดเป็นจุดอ่อน เมื่อได้รับอุบัติเหตุหรือกระทบกระแทก กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นก็จะหักได้ง่าย

                        ดังนั้น หากในตอนนี้ เหงือกมีการบวมและปวดมาก รวมถึงเหมือนมีหนองดังกล่าว แสดงว่าน่าจะเกิดเหงือกอักเสบขึ้น ซึ่งเป็นผลที่มักพบได้ตามมาหากมีฟันคุดแล้วไม่รักษาดังกล่าวไป ดังนั้น ควรีบหาเวลาไปพบทันตแพทย์ เพื่อทำการรักษาค่ะ ในเบื้องต้น หากปวดมาก อาจทานยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen),ไดโลฟีแนค (diclofenac) และอาจทานยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อ เช่น amoxicillin, clindamycin เป็นต้น แต่ต้องไม่แพ้ยาเหล่านี้ และควรรักษาความสะอาดในช่องปาก ด้วยการแปรงฟันหรือบ้วนน้ำทุกครั้งหลังทานอาหาร ส่วนบริเวณที่ปวดมากและไม่สามารถแปรงฟันได้ ให้พยายามบ้วนปากด้วยน้ำเกลือบ่อยๆ ค่ะ