ถามแพทย์

  • ผื่นกุหลาบ หรือที่บ้านเรียกว่าขยุ้มตีนหมา ห้ามกินอะไรไหม

  •  Thananchanok
    สมาชิก
    อยากทราบว่าพวกผื่นคัน ประมาณโรคผื่นกุหลาบ หรือที่บ้านเรียกว่าขยุ้มตีนหมา ได้ห้ามกินอะไรหรือป่าวคะ เพราะที่บ้านบอกว่าห้ามกินเนื้อสัตว์ค่ะ

    สวัสดีค่ะ คุณ Thananchanok,

                         ขยุ้มตีนหมาในภาษาของชาวบ้าน จะหมายถึงผื่นผิวหนังอักเสบ (eczema)  ซึ่งไม่ได้เป็นผื่นเฉพาะของโรคใดโรคหนึ่ง เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ผื่นแพ้สารเคมี ผื่นแพ้โลหะ ผื่นจากการสัมผัสสารที่ทำให้ระคายเคือง เป็นต้น ลักษณะจะเป็นตุ่มแดงๆ หรือตุ่มน้ำ ซึ่งต่อมาอาจแตกออกและมีน้ำเหลืองไหล ต่อมาน้ำเหลืองจะแข็งกรังปกคลุมผื่น กลายเป็นสะเก็ด

                        ส่วนโรคผื่นกุหลาบนั้น เป็นโรคที่พบมักพบในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ (อายุ 15-40 ปี) ไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด คาดว่าอาจเกิดจากเชื้อไวรัส นอกจากนี้ การใช้ยาบางประเภทอาจกระตุ้นให้เกิดผื่นกุหลาบได้ อาการจะแบ่งออกเป็น 

                        -  ระยะแรกเริ่ม ส่วนใหญ่ประมาณ 50-90% จะมีผื่นปฐมภูมิ (ผื่นอันแรก) เกิดขึ้นในช่วง 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะมีผื่นขนาดเล็กจำนวนมากขึ้นตามมาในภายหลัง โดยผื่นปฐมภูมินี้มักมีจำนวนเพียง 1 ผื่น มีขนาดประมาณ 2-6 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นรูปวงรี ตรงกลางของผื่นมีลักษณะย่น มีสีชมพู สีส้ม ส่วนบริเวณรอบนอกของผื่นจะเป็นสีแดงเข้ม ทั้ง 2 บริเวณนี้จะแยกจากกันด้วยขุยที่ขอบของผื่น โดยมากผื่นปฐมภูมิจะเกิดขึ้นที่บริเวณลำตัว 

                        -  หลังจากนั้นประมาณ 1-2 สัปดาห์ จะมีผื่นลักษณะเดียวกันเรียกว่าผื่นทุติยภูมิ แต่มีขนาดเล็กกว่า ค่อย ๆ ทยอยขึ้นตามมา โดยมักจะปรากฏให้เห็นมากที่สุดในช่วง 10 วัน โดยผื่นจะขึ้นหมดในช่วง 2 สัปดาห์แรก และผื่นเหล่านี้จะเป็นอยู่นานประมาณ 2-6 สัปดาห์ แล้วจะค่อย ๆ จางจนหมดไป ผื่นทุติยภูมิมักขึ้นกระจายทั้ง 2 ข้างของร่างกายเท่าๆ กันตามลำตัวและส่วนที่ติดกับลำตัว โดยแกนตามยาวของผื่นซึ่งเป็นรูปวงรีที่เกิดขึ้นตามหลังมานี้มักจะขึ้นเรียงขนานกันไปตามแนวลายเส้นของผิวหนัง มักมีอาการคันร่วมด้วย

                       ทั้งนี้ ผื่นมักจะหายไปได้เองภายใน 2-6 สัปดาห์ แต่บางรายอาจมีผื่นอยู่นานถึง 3 แล้วจึงหายไป จึงทำให้โรคนี้มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า โรคผื่นร้อยวัน

                       ดังนั้น 2 โรคนี้จึงแตกต่างกัน ซึ่งหากยังไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อให้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง ก็ควรไปพบแพทย์ก่อนค่ะ เพราะการดูแลรักษาก็จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน

                       อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งต่างๆ กับผิวหนัง เช่น โลชั่น ครีม น้ำหอม ไปก่อน ส่วนสบู่ แชมพู ก็ควรเลือกสบู่ที่อ่ออนโยน เช่น อาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของเด็กไปก่อน รวมไปถึงน้ำยาซักผ้าและน้ำยาปรับผ้านุ่มด้วย หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อนจัด นอกจากนี้ควรพักผ่อนให้เพียงพอและหลีกเลี่ยงความเครียด ไม่ทานอาหารที่ไม่เคยทาน สำหรับเนื้อสัตว์ หากเป็นเนื้อที่เคยทานมาก่อน ก้สามารถทานได้ ไม่ได้มีผลทำให้ผื่นจากโรคต่างๆ กำเริบค่ะ แต่หากเป็นเนื้อสัตว์แปลกๆ และเป็นเนื้อที่ไม่เคยทาน ก็ไม่ควรทานไปค่ะ หากมีอาการคัน ก็ให้ทานยาแก้แพ้ เช่น คลอเฟนิรามีน (chlorpheniramine)  ลอราทาดีน (loratadine) เป็นต้น และหลีกเลี่ยงการแกะ เกาผื่นค่ะ