ถามแพทย์

  • วันที่ 25 ก.ย. มีปวดเนื้อตัว ปวดหัว เจ็บคอ วันที่ 27 ก.ย. มีผื่นแดงๆ เต็มตัวและใบหน้า ไม่คัน

  •  Good Oioi
    สมาชิก
    วันที่ 25 เช้า มีอาการ ปวดเนื้อปวดตัว ปวดหัว เจ็บคอ วันที่ 26 มีอาการเหมือนวันที่ 25 แค่เจ็บคอมากกว่าเดิม วันที่ 27 มีผื่นแดงๆ เต็มตัว เต็มหน้า แต่ไม่คัน

    สวัสดีค่ะ คุณ Good Oioi,

                      อาการปวดเนื้อตัว ปวดหัว เจ็บคอ ในวันที่ 25 ก.ย. แล้ววันที่ 27 ก.ย. มีผื่นแดงๆ ตามตัวและใบหน้า อาจเกิดจาก

                    1. ไข้ออกผื่นจากเชื้อไวรัสชนิดไม่เจาะจง เช่น เกิดจากการติดเชื้อ enterovirus หรือ adenovirus ซึ่งอาการในกลุ่มนี้ไม่มีอาการเฉพาะเจาะจง โดยส่วนใหญ่คือจะมีไข้ แล้วตามการเกิดผื่น ลักษณะผื่น อาจเป็นผื่นราบสีแดง ผื่นนูนสีแดง หรือตุ่มน้ำใสก็ได้

                     2.  โรคหัด อาการคือมีไข้ ตาแดง น้ำมูกไหล ไอแห้ง เจ็บคอ หลังจากนั้น 3-4 วัน จะพบจุดหรือตุ่มสีขาวตรงกระพุ้งแก้ม และจะเกิดผื่นนูนแดงขึ้นในวันที่ 4 ของการมีไข้ แต่จะเริ่มต้นจากบริเวณหลังหูและในบริเวณแนวผม ตามด้วยหน้า ลำตัวและแขนขา เมื่อผื่นถึงเท้า ไข้จะลดลง

                     3. หัดเยอรมัน อาการคือมีไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อ หลังจากนั้น 2-3 วันจะพบผื่นสีแดงตามผิวหนัง โดยเริ่มจากหน้า ตามด้วยลำคอและแขนขา อาจมีต่อมน้ำเหลืองโตโดยเฉพาะที่บริเวณหลังใบหู และท้ายทอย 

                      4. โรคอีสุกอีใส ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ เบื่ออาหาร หลังจากนั้น 1-2 วัน จะเกิดผื่นแดง โดยจะเริ่มที่ใบหน้าและลำตัวก่อนจะลามไปที่แขน ขา ต่อมาผื่นแดงเหล่านี้จะกลายเป็นตุ่มน้ำใส ๆ ภายในตุ่ม มักมีอาการคัน หลังจากนั้นจะตกสะเก็ด แล้วค่อยๆ ลอกจางหายภายในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ 

                      5. หัดกุหลาบ หรือ ส่าไข้ แต่จะพบในเด็กเล็ก ส่วนใหญ่พบในช่วงอายุ 6-12 เดือน และมากกว่า 95% พบในช่วงไม่เกิน 2 ปี โอกาสที่จะเป็นในผู้ใหญ่นั้นแทบไม่มี และอาการคือจะต้องอาการคือมีไข้สูงลอยนาน 3-5 วัน เบื่ออาหาร หลังจากไข้ลง จะมีเม็ดผื่นสีชมพูคล้ายกับสีดอกกุหลาบขึ้นที่ลำตัวก่อน แล้วกระจายไปที่หน้า และแขนขา ไม่รู้สึกคัน

                        6. ติดเชื้อโควิด 19 ซึ่งจะทำให้มีไข้ เจ็บคอ และอาจมีผื่นได้ นอกจากนี้ก็มักมัน้ำมูก ไอ มีเสมหะ การได้กลิ่นและการับรสลดลง เป็นต้น

                        นอกจากนี้ อาจเกิดจากการติดเชื้อ HIV ในระยะเฉียบพลันก็ได้ หากได้ไปมีความเสี่ยงมาในช่วง 2-4 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น

                        แนะนำว่าควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยว่าเกิดจากโรคใด ในเบื้องต้น ควรลองตรวจ ATK ดูก่อนด้วยค่ะ หากตรวจไม่พบ ก็ให้ดูแลรักษาตามอาการไปก่อน เช่น หลีกเลี่ยงการแกะ เกาผื่น หลีกเลี่ยงไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น โดยการไม่ใช่สิ่งของส่วนตัวต่างๆ ร่วมกัน แยกการทานอาหารต่างหาก ไม่นอนเตียงเดียวกัน เป็นต้น