ถามแพทย์

  • ปวดท้องด้านซ้ายหลังประจำเดือนหมด รักษาอย่างไรจึงจะหายค่ะ?

  •  Farida
    สมาชิก
    เมื่อวันที่ 24 -30 ม.ค. ประจำเดือนหนูมา แต่ไม่มีอาการปวดท้องประจำเดือนนะ. แต่พอวันที่ 31 ม.ค. หนูก็มีอาการปวดท้องด้านซ้าย. ปวดแบบเข็ดๆ เหมือนเราจะเข็ดเอว ตอนออกกำลังกาย แต่มันไม่ใช่ค่ะ เมื่อเดือนธันวาหนูเคยไปหาหมอ แต่หมอบอกว่าปวดท้องเมนส์ปกติ. เดือนนี้หนูก็เป็นอีก มันปวดท้องเมนส์ปกติจริงๆใช่ไหมค่ะ. หนูต้องทำยังไงให้หายได้บ้างค่ะ. ทั้งนั่ง นอน ยืน เดิน ไม่ว่าจะทำอะไรก็ปวดไปหมด ร้าวไปถึงสะโพกและก็หลังเลยค่ะ

    สวัสดีครับคุณ Farida อาการ ปวดประจำเดือน คือ อาการปวดท้องน้อยช่วงที่มีรอบเดือน ซึ่งมักเกิดขึ้นก่อนรอบเดือนมาเพียงเล็กน้อย หรือเกิดขึ้นระหว่างที่มีรอบเดือน โดยส่วนใหญ่ อาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นเป็นเวลา 2-3 วันครับ การที่จะทราบว่าอาการปวดท้องหลังจากเป็นประจำเดือนนี้ ต้องอาสัยข้อมูลต่างๆเช่น ประวัติประจำเดือน มามาก มาน้อย มาสม่ำเสมอเพียงใด เริ่มมีประจำเดือนตอนอายุเท่าไหร่ ร่วมกับการตรวจร่างกาย เช่นการคลำทั่วๆที่บริเวณท้อง น้อกจากนี้ยังอาจจะใช้การตรวจพิเศษเช่นอัลตร้าซาวน์ช่วยในการวินิจฉัยสาเหตุครับ

    อาการปวดประจำเดือนมีสาเหตุจากปัญหาต่าง ๆ ดังนี้ครับ

     

    • กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน ภาวะนี้เกิดจากฮอร์โมนภายในร่างกายเปลี่ยนแปลง โดยจะเกิดขึ้นก่อนมีรอบเดือนประมาณ 1-2 สัปดาห์ 
    • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คือเยื่อบุมดลูกที่เจริญขึ้นนอกมดลูก โดยเกิดขึ้นที่รังไข่ ท่อนำไข่ กระเพาะปัสสาวะ หรืออุ้งเชิงกราน 
    • เนื้องอกที่มดลูก โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ปรากฏอาการใด ๆ โดยเนื้องอกที่ขึ้นมาในมดลูกมักไม่ใช่เนื้อร้าย ขนาดของเนื้องอกมีตั้งแต่ขนาดเล็กมากไปจนถึงขนาดใหญ่ซึ่งอาจบิดมดลูกให้ผิดรูปได้ ทำให้มดลูกต้องบีบตัวเพื่อขับลิ่มเลือดที่มีขนาดใหญ่ออกไป จึงก่อให้เกิดอาการปวดท้องประจำเดือน
    • ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ เป็นการติดเชื้อที่อวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิง ซึ่งเกิดจากการได้รับเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยผู้ป่วยติดเชื้อที่มดลูก ท่อนำไข่ และรังไข่ หากไม่ได้รับการรักษาให้หาย อาจทำให้เกิดการอักเสบ มีแผล ปวดท้องเมื่อมีรอบเดือน และอาจทำให้มีบุตรได้ยาก
    • เยื่อบุมดลูกเจริญภายในกล้ามเนื้อมดลูก ซึ่งคล้าย ๆ กับภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ แต่ภาวะนี้เกิดเยื่อบุเจริญขึ้นภายในกล้ามเนื้อมดลูกแทน มักเกิดกับผู้หญิงอายุมากกว่า 30 ปีที่มีบุตรแล้ว

     

    ถ้าคุณ Farida ยังมีอาการปวดอยู่บ่อยๆทุกเดือน หมออยากให้คุณ Farida ไปหาคุณหมอที่ โรงพยาบาลอีกครั้งนะครับ เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียดต่อไปครับ แต่ถ้าคุณ Farida มีอาการใดๆต่อไปนี้ หมอแนะนำให้ไปพบแพทย์ทันทีนะครับ

     

    • ปวดบีบที่ท้องมาก โดยรู้สึกปวดนานกว่า 2-3 วัน รวมทั้งท้องร่วงและคลื่นไส้ร่วมด้วย
    • ปวดท้องน้อยเมื่อไม่ได้มีรอบเดือน
    • อาการปวดประจำเดือนแย่ลงอย่างรวดเร็ว หรือรู้สึกปวดท้องน้อยอย่างที่ไม่เคยเป็นเมื่อมีรอบเดือน
    • เลือดประจำเดือนไหลออกมามากกว่าปกติ โดยต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกชั่วโมง
    • มีเนื้อเยื่อออกสีเทาปนออกมากับเลือดประจำเดือนครับ

    การช่วยบรรเทาอาการปวดที่คุณ Farida สามารถทำได้ด้วยตัวเองที่บ้านมีดังนี้ครับ

    • รับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาไอบูโพรเฟน หรือ พอนแสตนโดยรับประทานก่อนที่ประจำเดือนจะมา 
    • วางถุงน้ำร้อนหรือประคบร้อนที่บริเวณท้องน้อยหรือหลัง
    • นวดคลึงบริเวณท้องน้อยและหลังของตัวเอง
    • อาบน้ำด้วยน้ำอุ่น
    • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ฝึกโยคะหรือทำกิจกรรมอื่นที่ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายมากขึ้น
    • รับประทานอาหารให้หลากหลายและครบ 5 หมู่
    • ลดอาหารที่มีเกลือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือน้ำตาล เพื่อป้องกันอาการท้องอืด
    • งดสูบบุหรี่
    • ยกขาขึ้น หรือนอนหงายและชันเข่าขึ้นมา เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน
    • นอนพักผ่อนให้เพียงพอเป็นต้นครับ