ถามแพทย์

  • ลูกตาเหล่ และสายตาสั้น ตั้งแต่กำเนิด เนื่องจากคลอดก่อนกำหนด ตอนนี้อายุ 20 แล้วจะรักษาอย่างไร

  •  Vipawadee Sa
    สมาชิก

    น้องมีภาวะสายตาสั้น, เหล่ / เข  มาตั้งแต่เกิด  เคยไปพบแพทย์ ตอนเด็ก และรักษาด้วยการใส่แว่น ตั้งแต่ 2 ขวบ  เป็นต้นมา

    ปัจจุบันน้องอายุ 20 ปี  ได้ไปพบแพทย์ และตรวจอย่างละเอียด พบว่า น้องมีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื่อตา ที่ผิดปกติ  อาจไม่สามารถผ่าตัดอาการตาเหล่/ เข ได้ ตามที่แพทย์ แจ้ง เพราะอาจทำให้เกิดภาพซ้อน 

    รบกวนขอคำแนะนำ/ปรึกษา มีวิธีการรักษา ได้หรือไม่อย่างไรคะ  แล้วกรณีนี้ น้องจะรักษาภาวะสายตาสั้นได้มั้ยคะ เพราะสั้นมาก  ทำให้พลาดโอกาสการเข้าเรียนต่อ ในมหาลัย เพราะตกสัมภาษณ์ เนื่องจากสายตาสั้น และ เหล่ค่ะ 

    ขอบคุณมากค่ะ

     

    Vipawadee Sa  พญ.นรมน
    แพทย์

    สวัสดีค่ะคุณ Vipawadee Sa

    อาการตาเข หรือตาเหล่ เป็นปัญหาทางสายตาที่เกิดจากดวงตาทั้ง 2 ข้างไม่มองไปในทิศทางเดียว ข้างใดข้างหนึ่งอาจมองตรง ส่วนอีกข้างอาจจะเฉไปด้านใน ด้านข้าง บน หรือล่าง หรือออกทางด้านนอก โดยพบได้บ่อยในเด็กเล็ก แต่สามารถเกิดได้กับทุกวัย

    สาเหตุถ้าเกิดในเด็กอาจเรียกว่าตาเขแต่กำเนิด ซึ่งจะเกิดกับทารกแรกคลอดหรืออาจพัฒนาอาการขึ้นภายใน 6 เดือนหลังคลอด เนื่องจากกล้ามเนื้อตาทำงานไม่ประสานกัน หรืออาจเกิดจากความบกพร่องทางพัฒนาการ สภาวะทางสมองเช่นเป็นโรคสมองพิการ และถ้าเด็กมีสายตาสั้น ยาว หรือเอียงที่ไม่ได้รับการแก้ไขร่วมด้วยก็จะทำให้ตาเขมากขึ้นไปอีกได้

    การรักษาคงต้องขึ้นกับสาเหตุเป็นหลักค่ะ ถ้าพัฒนาการด้านอื่นๆของลูกปกติหมด อาจจะเป็นแค่ตาเขที่เกิดจากกล้ามเนื้อตาทำงานไม่ประสานกันร่วมกันมีสายตาสั้นร่วมด้วย ในที่นี้คงต้องให้จักษุแพทย์เป็นผู้ประเมินค่ะ เนื่องจากจำเป็นต้องเห็นคนไข้จริงร่วมกับตรวจร่างกายทางสายตาว่าเขมากน้อยเพียงใด จะรักษาด้วยวิธีใดได้บ้าง

    การรักษานั้นมีทั้งการใส่แว่นตาเพื่อรักษาอาการสายตาสั้น อาจทำให้ตาเขกลับมาดีขึ้นได้บ้างหรือไม่เขมากไปกว่าเดิม การบริหารดวงตา การฝึกใช้การทำงานกล้ามเนื้อที่ตา การผ่าตัดอาจช่วยแก้ไขตาเขให้กลับมาเป็นปกติได้ แต่ไม่สามารถแก้ไขความผิดปกติของสมองในส่วนการรับรู้การมองเห็นหากอาการตาเขไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เด็ก อีกทั้งความผิดปกติของตาเขบางชนิดก็อาจจะแก้ไขด้วยการผ่าตัดไม่ได้อย่างที่คุณหมอแจ้งไปค่ะ

    แนะนำกลับไปพบจักษุแพทย์เพื่อติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง เพราะถึงแม้จะผ่าตัดไม่ได้ ก็จะมีวิธีอื่นๆดังกล่าวไปเพื่อช่วยบรรเทาและชะลอโรคได้บ้างค่ะ ไม่ใช้งานสายตามากเกินไปเช่นการมองจ้องหน้าคอมหรือจอมือถือนานๆ ถ้ามีสายตาผิดปกติให้รีบใส่แว่นแก้ไข