ถามแพทย์

  • ปวดหน้าผากมาก เวลาก้มก็ยิ่งปวด ปวดบางเวลาครับ เป็นโรคอะไร

  •  Wirayuth Serbrum
    สมาชิก
    คือผมปวดหน้าผากมากครับ เวลาก้มก็ยิ่งปวดครับ มันปวดบางเวลาครับ เป็นโรคไรหรือป่าว

    สวัสดีค่ะ คุณ Wirayuth Serbrum,

                      สาเหตุของอาการปวดหน้าผาก หรือก็คือส่วนของศีรษะ จะแบ่งออกเป็น 

                      1. อาการปวดศีรษะแบบทุติยภูมิ เป็นอาการปวดมาจากโรคหรือความผิดปกติของโครงสร้างบริเวณศีรษะและคอ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เป็นไข้ไม่สบายจากสาเหตุต่างๆ เช่น ไข้หวัด ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ มีฟันผุ เหงือกอักเสบ เป็นต้น  หรืออาจปวดจากการมีสายตาสั้น จากโรคต้อหิน หรือมีโรคทางสมองต่างๆ เช่น หลอดเลือดในสมองโป่งพอง เนื้องอกในสมอง เป็นต้น ส่วนใหญ่อาการปวดจะเป็นแบบเฉียบพลัน เป็นต่อเนื่อง และหากโรคยังไม่หาย อาการปวดก็มักจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ 

                       2. อาการปวดศีรษะแบบปฐมภูมิ เป็นอาการปวดที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด อาการจะเป็นแบบเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ ไม่ได้มีลักษณะที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสามารถแบ่งตามอาการที่ปวด ได้แก่

                           - ปวดศีรษะจากความเครียด หรือ tension-type headache จะปวดเหมือนมีเข็มขัดรัดรอบศีรษะ โดยตำแหน่งที่ปวดจะอยู่บริเวณท้ายทอย หน้าผาก และบริเวณขมับทั้ง 2 ข้างอาการปวดจออยู่ได้หลายวัน มักจะพบร่วมกับอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ อาการปวดจะเป็นมากในช่วงบายถึงค่ำ ส่วนตอนเช้ามาอาการปวดจะเป็นน้อย การปวดแต่ละครั้งอาจปวดอยู่ได้นานตั้งแต่ 1 วัน จนถึง 1 สัปดาห์ อาการปวดจะถูกกระตุ้นเมื่อมีความเครียด วิตกกังวล ทำงานหนัก เรียนหนัก ใช้สายตามากไป อดนอน เป็นต้น 

                          - ปวดศีรษะไมเกรน  ส่วนใหญ่มักจะปวดข้างเดียว มักปวดบริเวณขมับ รอบดวงตา และอาจลามไปด้านหลังของศีรษะ อาการปวดเป็นแบบตุ๊บๆ โดยส่วนใหญ่จะปวดต่อเนื่องนาน 1-3 วันแล้วหายไป ขณะปวดอาจมีอาการอื่นๆ ร่วม เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร  มึนหัว เป็นต้น บางรายจะมีอาการนำมาก่อนปวดศีรษะ เช่น เห็นแสงสว่างลักษณะซิกแซก เป็นต้น ปัจจัยที่กระตุ้นให้ไมเกรนกำเริบ เช่น ความเครียด อาหารบางอย่าง เป็นต้น

                          หากอาการปวดเพิ่งเป็นมาไม่กี่วัน ก็อาจเป็นอาการปวดศีรษะแบบทุติยภูมิก็ได้ ควรสังเกตดูว่ามีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่

                          สำหรับการบรรเทาอาการในเบื้องต้น ก็ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มชา กาแฟและแอลกอฮอล์ ไม่ใช้สายตาในการจ้องดทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์มากไป ทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล เป็นต้น แต่หากอาการปวดเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ หรือเป็นติดต่อกันนาน หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่นๆ ก็ควรพบแพทย์หาสาเหตุและรักษาค่ะ