ถามแพทย์

  • เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี รักษาอย่างไรดี

  •  D Suchart
    สมาชิก

    พอดีช่วงต้นปีที่แล้วผมไปบริจาคเลือดที่ กาชาด  แล้วมีเอกสารส่งมาที่บ้านว่า น่าจะเป็นไวรัสตับอักเสบบีให้ทำการตรวจเช็คซำ้อีกครั้งหนึ่ง (ปกติผมบริจาคเลือดมาแล้วประมาณ 5 ครั้ง ในรอบ 7 ปี ตั้งแต่อายุ 22-29  ปัจุบันอายุ 30 ปี)  จากการตรวจซ้ำ พบว่าผมเป็นไวรัสบี  โดยผลการตรวจ วันที่ 6/10/218   viral load  488,214,110 coppies    GOT  35 U/L   GPT  64 U/L         วันที่  22/12/2018   viral load 540,749,488 coppies  GOT  58 U/L   GPT 77 U/L    ปัจจุบันแพทย์ให้ผมทานยา บำรุงตับ SAMARIN อย่างเดียว และจะนัดตรวจครั้งถัดไปพร้อมทำการรักษา    คำถาม   1. ผมควรรักษาด้วยวิธีไหนดีระหว่าง การฉีดยา หรือ การทานยา แล้วการรักษาทั้งสองอย่างนี้มีข้อแตกต่างกันยังไง แบบไหนเหมาะสมกับลักษณะอาการยังไง ผลข้างเคียงเป็นยังไง   2. ทำไมผมไม่แสดงอาการตอนได้รับเชื้อ   3. ผมสามารถมีบุตรได้ไม 

    D Suchart  พญ.นรมน
    แพทย์

    สวัสดีค่ะคุณ Ronnachai D Bank

    โรคไวรัสตับอักเสบบีเป็นการติดเชื้อไวรัสที่มีผลต่อตับ ทำให้ตับมีการอักเสบเรื้อรังทำให้กลายเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับในอนาคตได้ ติดต่อกันโดย

    -การรับเลือด

    -การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน

    -การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน

    -จากแม่สู่ลูก ในระหว่างคลอด

    โรคตับอักเสบบีมีทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ในกรณีเป็นเฉียบพลันอาจมาด้วยตัวเหลือง ตาเหลือง มีไข้ ปวดท้องขวาบน คลื่นไส้ ในผู้ป่วยบางส่วนจะทำการสร้างภูมิคุ้มกันกำจัดเชื้อออกไปได้หมดไม่กลายเป็นเรื้อรัง แต่ถ้าไม่สามารถกำจัดเชื้อออกไปได้ อาจกลายเป็นการติดเชื้อเรื้อรังนำไปสู่ตับแข็งได้ อีกทั้งในผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังบางคนก็ไม่มีอาการอะไรในระยะเฉียบพลัน คือได้รับเชื้อมา กำจัดเชื้อออกไปไม่ได้ กลายเป็นเรื้อรังไปเลยก็มีค่ะ

    จากผลเลือด ปริมาณไวรัสค่อนข้างเยอะ น่าจะเป็นช่วงที่เชื้อกำลังเติบโตและน่าจะมีตับอักเสบร่วมด้วย จึงควรรักษา

    จากคำถาม 

    1.การรักษา มี 3 แบบ

    -รักษาด้วยยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน จะช่วยลดการเติบโตของเชื้อไวรัส และต้องติดตามการรักษาและปริมาณไวรัสหลังได้รับยา

    -รักษาด้วยยาต้านไวรัสชนิดฉีดที่เรียกว่า อินเทอเฟียรอน (interferon) เป็นยาที่ใช้ต้านการติดเชื้อเช่นกัน โดยมักจะใช้ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยอายุน้อยและไม่ต้องการได้รับยาต้านไวรัสแบบรับประทานเป็นเวลานานๆ หรือผู้หญิงที่วางแผนกำลังจะตั้งครรภ์

    -การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ ทำในกรณีที่มีตับวายไปแล้ว และแพทย์ประเมินแล้วว่าเป็นผู้ที่แข็งแรงพอจะได้รับการผ่าตัด

    ส่วนจะเลือกวิธีใดนั้นควรปรึกษากับแพทย์ผู้รักษาโดยตรงค่ะ 

    2.ดังที่กล่าวไปค่ะ ว่าบางคนก็จะไม่แสดงอาการในช่วงเฉ๊ยบพลันได้

    3.สามารถมีบุตรได้ค่ะ โรคนี้จะติดต่อจากแม่สู่ลูกเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับตัวอสุจิของบิดาค่ะ ถ้าภรรยาไม่ได้เป็นโรคด้วยก็ปลอดภัยค่ะ ถ้าภรรยาเป็นโรคด้วย สูตินรีแพทย์จะมีวิธีการดูแลติดตาม และพอบุตรเกิดมาก็จะมีการฉีดวัคซีนให้ทันทีค่ะ

    การดูแลตัวเองเบื้องต้น

    -งดการดื่มแอลกอฮอล์

    -รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงของมัน 

    -ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบชนิดอื่นเช่นเอ ร่วมด้วย เพราะถ้ามีไวรัสชนิดอื่นเข้าไปติดแทรกซ้อนอีกจะทำให้ตับแข็งไวกว่าเดิมค่ะ

    -แยกของใช้ส่วนตัวเช่นมีดโกน กรรไกรตัดเล็บจากผู้อื่น

    -มีเพศสัมพันธ์แบบป้องกันโดยใช้ถุงยางอนามัย

    หากมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง มีไข้ ปวดท้องบริเวณขวาบน ตัวบวม ควรไปพบแพทย์เพราะเป็นอาการว่าอาจจมีการทำงานของตับที่ผิดปกติเฉียบพลันหรือเริ่มมีอาการของโรคตับแข็งค่ะ แต่แนะนำว่าถ้าเป็นไวรัสตับอักเสบบีแม้ไม่มีอาการอะไร ก็ควรไปพบแพทย์สม่ำเสมอเพื่อรับยาและเจาะเลือดติดตามค่าไวรัสค่ะ