ถามแพทย์

  • เป็นความดันโลหิตสูง ทานยาอยู่ แต่ปวดหัวที่ท้ายทอยไม่หาย และวัดอัตราการต้นหัวใจได้ช้ากว่าปกติ เกิดจากยาไหม

  •  Nutthapong ubonnoi
    สมาชิก
    กินยาแอมโลดิปี กับ อะทีโนแอล ความดันปกติ แต่ขึ้นๆลงๆไม่คงที่ แล้วมีอาอารปวดหัว ตรงท้ายทอย แทบทุกวันกินยามาใด้4เดือนแล้วที่แรกเข้าใจว่าเป็นความดันขึ้นเพราะปวดหัวเหมือนตอนเป็นความดันช่วงแรกๆ แต่วัดความดันแล้วความดันปกติ แล้วก่อนหน้านี้ เป็นคนหัวใจเต้นช้าเวลานั่งเฉอยๆ อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่42-58ครั้งต่อนาที วัดโดย นาฬิกาสมาชวอช บางวันนั่งอยู่ดีซึม ไปดื้อๆ ไม่ทราบว่า ผิดปกติมากกว่าเดิมที่ไม่กินยาความดัน เป็นเพราะยาความดันที่เรากินหรือป่าวครับ ควรแจ้งหมอที่รักษาเปลื่ยนยาไหมครับ

    สวัสดีค่ะ คุณ Nutthapong ubonnoi,

                           หากอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ 42-58 ครั้งต่อนาที ถือว่าช้ากว่าปกติ ทั้งนี้ หากอัตราการต้นของหัวใจดังกล่าว เริ่มเป็นหลังจากที่ได้ทานยาลดคงามดันโลหิตสูง ก็น่าจะเป็นผลจากยาได้ ซึ่งหากไม่ได้มีอาการอะไรผิดปกติ ก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไร แต่หากมีอาการผิดปกติ เช่น รู้สึกเหนื่อย หรืออ่อนเพลีย เวียนศีรษะ มึนงง หน้ามืด หรือมีอาการคล้ายจะเป็นลม เจ็บหน้าอก ใจสั่น หายใจเร็ว เป็นต้น ก็ควรไปพบแพทย์ที่รักษา เพื่อพิจารณาเปลี่ยนขนาดยาหรือชนิดยาที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูงค่ะ

                           แต่หากอัตราการเต้นของหัวใจที่ช้า เป็นมาก่อนที่จะทานยาลดความดันโลหิต ก็อาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น เป็นผลจากการที่มีความดันโลหิตสูงอยู่ มีโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจรั่ว ผนังหัวใจหนาผิดปกติ หัวใจวาย มีฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานผิดปกติ มีระดับเกลือแร่ในเลือดไม่สมดุล เกลือแร่ในเลือด ได้แก่ โพแทสเซียม โซเดียม แคลเซียม และฟอสฟอรัส มีหน้าที่กระตุ้นและเป็นสื่อให้กระแสไฟฟ้าในหัวใจ หากระดับของเกลือแร่ในเลือดสูงหรือต่ำเกินไป ก็จะมีผลต่อการเต้นของหัวใจได้ เป็นต้น ซึ่งก็ควรพบอายุรแพทย์เพื่อหาสาเหตุด้วยค่ะ

                          ส่วนอาการปวดหัวบริเวณท้ายทอย อาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น 

                       - มีโรคหลอดเลือดแดงแข็งบริเวณคอที่ไปเลี้ยงสมอง โดยจะพบในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ทั้งนี้ แมัจะทานยาลดวามดันโลหิตจนมีระดับความดันที่ปกติแล้ว หลอดเลือดแดงที่แข็งตัวแล้ว ก็จะไม่กลับมาเป็นปกติ ดังนั้น อาการปวดก็อาจคงเป็นอยู่ต่อไปค่ะ

                        - มีโรคเครียด หรือวิตกกังวลในเรื่องต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการทางร่างกายต่างๆ ได้หลากหลาย ทั้งอาการปวดหัว เวียนหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามที่ต่างๆ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับ ใจสั่น เหงื่อออกที่ฝ่ามือ หายใจไม่สุด เจ็บหน้าอก ปวดท้อง เป็นต้น

                          - เป็นกล้ามเนื้อคอหดเกร็ง จากการนั่งทำงานในท่าเดิมๆ นั่งในท่าทางที่ไม่ถูก นอกจากอาการปวดเมื่อยบริเวณคอและท้ายทอย  มักจะปวดลามไปยังสะบัก ไหล่และแขนได้

                         - โรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม มักพบในผู้สูงอายุ

                         - เส้นประสาทส่วนคอถูกกด มักพบในผู้สูงอายุ เนื่องจากกระดูกสันหลังเเสื่อมหรือหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมแล้วไปกดเส้นประสาท นอกจากปวดต้นคอท้ายทอยแล้ว อาการปวดมักร้าวไปที่แขน และอาจมีอาการชาและแขนอ่อนแรงร่วมด้วย

                           - มีเนื้องอกในสมอง 

                         ดังนั้น หากอาการปวดเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ควรแจ้งให้แพทย์ที่รักษาทราบด้วย เพื่อจะได้ตรวจหาสาเหตุต่อไปค่ะ ในเบื้องต้น ก็ควรใช้ท่าทางในการทำงานต่างๆ ให้ถูกต้องด้วย ไม่ควรนั่งก้มศีรษะเวลาทำงานมากไป ไม่ก้มๆ เงยๆ บ่อยๆ เป็นต้น