ถามแพทย์

  • คัดจมูก แน่นจมูก จาม น้ำมูกไหล คันคอ ไอ คันคอ เป็นมาเกือบ 3 สัปดาห์แล้ว

  •  N'Fah Kiku Anone
    สมาชิก
    เนื่องจากจากอาการที่เป็น เป็นมานานแล้วคะ ไม่หายสักที จะ 3 สัปดาห์แล้วคะ มีอาการคัดจมูก แน่นจมูก จาม น้ำมูกไหลบ้างครั้ง มีอาการคันคอและไอในช่วงเช้าและตอนกลางคืน มีอาการคันตาร่วมด้วยและมีอาการแสบจมูกมากเวลานอนห้องแอร์อะคะ กินยาก็ไม่หายคะ กินยาไปก็ดีขึ้นนิดหน่อยแต่ก็กลับมาเป็นอีกอะ ทำไงดี????

    สวัสดีค่ะ คุณ N'Fah Kiku Anone,

                       อาการคัดจมูก แน่นจมูก จาม มีน้ำมูกไหล คันคอ ไอ คันตา แสบจมูก  อาจเป็นอาการของ

                      1. ไข้หวัด ซึ่งเป็นโรคติดต่อของระบบเดินหายใจ แต่อาการมักจะหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์

                      2. โรคภูมิแพ้ ชนิดแพ้อากาศ (allergic rhinitis) จะมีการอักเสบบริเวณโพรงจมูก เนื่องจากแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ อาการคือมีน้ำมูกใสไหล คัดจมูก คันตา คันจมูก เพดานปาก และลำคอเป็นประจำ จมูกอาจได้กลิ่นลดลง บริเวณใต้ตามักเป็นรอยคล้ำดำ อาการจะเป็นติดต่อระยะเวลานาน และจะมีช่วงที่ดีขึ้นสลับกับช่วงอาการกำเริบ

                         ทั้งนี้ สารก่อภูมิแพ้ที่อาจเป็นต้นเหตุจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ได้แก่ ขนนก นุ่น ฝ้าย ฝุ่นตามบ้านหรือถนน เชื้อราต่างๆ สะเก็ดผิวหนังของสัตว์เลี้ยงทั้งสุนัข แมว กระต่าย เกสรดอกไม้ ดอกหญ้า ไรฝุ่น แมลงสาบ และแมลงต่างๆ วัสดุเฟอร์นิเจอร์ เช่น ใยมะพร้าว เป็นต้น นอกจากนี้ความเครียดสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการได้ด้วย  

                         ดังนั้น หากอาการที่เป็นอยู่ เป็นต่อเนื่องนานเกิน 2 สัปดาห์ หรือเป็นๆ หายๆ มานาน 3 สัปดาห์แล้ว ก็น่าจะเป็นอาการของโรคภูมิแพ้ชนิดแพ้อากาศได้ ซึ่งหากอาการไม่รุนแรง ก็สามารถดูแลตนเองได้ ในเบื้องต้น ต้องพยายามหาสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการและพยายามหลีกเลี่ยง หากมีน้ำมูกมาก อาจใช้วิธีล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ หากอาการเป็นต่อเนื่อง ก็อาจทานยาในกลุ่ม antihistamine เช่น cetirizine (เซทิริซีน),loratadine (ลอราทาดีน) หลีกเลี่ยงการโดนอากาศเย็น ไม่โดนลม ไม่ดื่มน้ำเย็น หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ และหากอยู่ในที่ที่มีฝุ่นละอองมาก ก็ควรใส่หน้ากากที่ป้องกันฝุ่นละอองไว้ด้วยค่ะ 

                           นอกจากนี้ ก็ควรเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรงขึ้น เพื่อช่วยลดการกำเริบของอาการ เช่น การทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะเน้นทานผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงของหวาน อาหารที่มีไขมันสูงต่างๆ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น หากอาการไม่ดีขึ้น รุนแรงขึ้น ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาค่ะ