ตาปลา

ความหมาย ตาปลา

ตาปลา (Corns) คือผิวหนังที่หนาตัวขึ้น ซึ่งอาจมีลักษณะนิ่มหรือแข็งก็ได้ โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นบริเวณด้านบนและด้านข้างของนิ้วเท้าหรือบนฝ่าเท้า แต่อาจเกิดขึ้นได้หลายบริเวณในร่างกาย ตาปลาทำให้เกิดความรำคาญและความเจ็บปวดเวลาที่ต้องเดินหรือใส่รองเท้า และอาจส่งผลต่อความสวยงามและความมั่นใจด้วย

ในเบื้องต้นสามารถดูแลรักษาตาปลาได้ด้วยตัวเองโดยการแช่เท้าในน้ำอุ่นและใช้หินขัดเท้า และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้อาการตาปลารุนแรงขึ้น แต่หากดูแลตัวเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา

ตาปลา

อาการของตาปลา

ตาปลามีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีลักษณะต่างกัน ดังนี้

  • ตาปลาชนิดอ่อน มักมีสีขาวหรือเทา กดแล้วนิ่มคล้ายยาง มักขึ้นระหว่างนิ้วเท้า
  • ตาปลาชนิดแข็ง มักมีแกนแข็งตรงกลาง ผิวหนังรอบ ๆ จะหนาและแห้งเป็นขุย มักเกิดขึ้นบริเวณปลายนิ้วก้อยเท้า หรือด้านบนของเท้า ซึ่งเกิดจากการเสียดสีของกระดูกกับผิวบริเวณเท้า
  • ตาปลาขนาดเล็ก (Seed Corns) มีลักษณะเป็นตุ่มกลมขนาดเล็กที่ฝ่าเท้าบริเวณโคนนิ้วหัวหัวแม่เท้า หรือส้นเท้า

โดยปกติ ตาปลามักไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด แต่จะเมื่อใช้มือกดหรือเวลาสวมใส่รองเท้าจะรู้สึกเจ็บจากการเสียดสีและกดทับ หากตุ่มตาปลามีขนาดใหญ่อาจทำให้ใส่รองเท้าให้พอดีได้ลำบาก

นอกจากนี้ หากอาการของตาปลาเริ่มรุนแรงมากขึ้นจนมีความเจ็บปวดมากหรือเกิดการอักเสบ ควรไปพบแพทย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการไหลเวียนโลหิต ควรไปพบแพทย์ เพราะการมีแผลหรือบาดเจ็บที่เท้าเพียงเล็กน้อยสามารถทำให้เกิดแผลอักเสบหรือแผลพุพองลุกลามได้ง่าย

สาเหตุของตาปลา

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดตาปลามาจากแรงกดทับหรือการเสียดสีจากการกระทำซ้ำ ๆ เช่น

  • สวมใส่รองเท้าที่ไม่พอดีหรือหลวมเกินไปทำให้เท้าเลื่อนถูไปมาจนเกิดการเสียดสี
  • สวมใส่รองเท้าประเภทที่มีการบีบรัดเท้าจนเกินไป เช่น รองเท้าส้นสูงที่บีบหน้าเท้า หรือการยืนเป็นเวลานาน ๆ
  • สวมใส่รองเท้าโดยไม่ได้ใส่ถุงเท้า ทำให้เกิดการเสียดสีที่เท้า หรือการใส่ถุงเท้าที่ไม่พอดี
  • ผู้ที่เล่นกีฬาที่เพิ่มแรงกดดันหรือการเสียดสีที่เท้าเป็นประจำ
  • ผู้ที่ไม่ชอบสวมรองเท้า โดยเฉพาะเวลาออกไปนอกบ้าน
  • ผู้ที่ต้องถือของหนักเป็นประจำ หรือใช้เครื่องมือต่าง ๆ โดยที่ไม่ได้สวมถุงมือป้องกัน เช่น เครื่องมือช่างที่มีน้ำหนักมาก หรือเครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน

นอกจากนี้ ตาปลาอาจพบในผู้มีภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงเข้าใน (Bunions) นิ้วเท้าหงิกงอ (Hammer Toe) หรือภาวะเท้าผิดรูปอื่น ๆ และอาจพบบ่อยในผู้สูงอายุที่มีชั้นไขมันที่ผิวหนังน้อย ผู้ที่มีผิวแห้ง รวมทั้งอาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หากตาปลาเกิดบริเวณผิวหนังที่ไม่ค่อยถูกกดทับ เช่น ฝ้ามือและฝ่าเท้า

การวินิจฉัยตาปลา

การวินิจฉัยในเบื้องต้น แพทย์จะดูตาปลาและอาจถามผู้ป่วยเกี่ยวกับอาชีพ งานอดิแรก หรือรองเท้าที่ชอบใส่เป็นประจำ เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถบ่งบอกถึงพฤติกรรมและสาเหตุที่ทำให้เกิดตาปลาได้ จากนั้นจะตรวจดูจุดที่เป็นตาปลาและพิจารณาดูว่าไม่ใช่โรคที่มีความคล้ายคลึงกัน เช่น หูดและซีสต์ เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง

ในบางกรณี แพทย์อาจแนะนำให้เอกซเรย์ (X-ray) เพื่อหาความผิดปกติที่ทำให้เกิดตาปลา เช่น ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก หรือกระดูกผิดรูป

การรักษาตาปลา

การรักษาตาปลาทำได้ด้วยการดูแลตัวเองหากอาการไม่รุนแรงมาก และการไปพบแพทย์ หากตาปลามีขนาดใหญ่หรือเจ็บปวดมาก ดังนี้

หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดแรงกดหรือการเสียดสี 

ผู้เป็นตาปลาควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดแรงกดหรือการเสียดสี ซึ่งเป็นสาเหตุของตาปลา เช่น 

  • สวมใส่รองเท้าให้พอดีกับเท้า ไม่คับหรือหลวมจนเกินไป
  • ตัดเล็บเท้าให้สั้น เล็บเท้าที่ยาวอาจทำให้เกิดการเสียดสีเมื่อสวมรองเท้า โดยตัดเล็บเท้าให้ตรงและเหลือมุมเล็บไว้
  • ใช้แผ่นแปะในรองเท้าเพื่อป้องกันการเสียดสี
  • สวมใส่ถุงมือหรือถุงเท้าเพื่อปกป้องผิวหนังที่เป็นตาปลาไม่ให้เกิดการเสียดสีมากขึ้น

ใช้แผ่นโฟมป้องกันตาปลา

แผ่นโฟมป้องกันตาปลาซึ่งสามารถหาซื้อได้ทั่วไป ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นโฟมรูปวงแหวนและมีรูตรงกลาง ซึ่งจะช่วยลดการกดทับหรือเสียดสีบริเวณที่เป็นตาปลาขณะเดินหรือสวมรองเท้า

กำจัดตาปลาด้วยตัวเอง

แช่เท้าในน้ำอุ่นเป็นเวลา 10 นาที จากนั้นซับด้วยผ้าขนหนูให้แห้ง และทาครีมบำรุงเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ทำทุกวันจนกว่าตาปลาจะเริ่มนิ่ม จากนั้นใช้หินขัดเท้าแช่ในน้ำอุ่นและขัดเบา ๆ เพื่อกำจัดตาปลาและผิวที่หนาตัวออกไปทีละน้อย การขัดผิวมากเกินไปหรือขัดอย่างรุนแรงอาจทำให้เลือดออก ซึ่งนำไปสู่การติดเชื้อได้

หากมีอาการปวดสามารถใช้เจลเย็นสำเร็จรูป หรือผ้าขนหนูห่อน้ำแข็งประคบเย็นประมาณ 10–20 นาทีบริเวณที่เป็นตาปลา เพื่อบรรเทาอาการปวดและช่วยลดบวม 

หากพยายามดูแลรักษาด้วยตัวเองแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีความเจ็บปวดมากขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น

ใช้ยารักษาตาปลา

แพทย์อาจให้ใช้แผ่นแปะตาปลาที่มีส่วนประกอบของกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ซึ่งช่วยให้ตาปลามีขนาดเล็กและบางลง ซึ่งจะช่วยให้ตาปลาหลุดออกง่ายขึ้น ทั้งนี้ ควรใช้ตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น เพราะการใช้แผ่นแปะที่มีกรดซาลิไซลิกอาจทำให้ผิวระคายเคืองและอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวานและโรคเกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือด

การใช้แผ่นเสริมรองเท้า

สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติของรูปเท้า แพทย์อาจให้ใช้อุปกรณ์หรือแผ่นเสริมรองเท้าที่ทำมาเป็นพิเศษให้ผู้ป่วย เพื่อป้องกันการเกิดตาปลาซ้ำ

ตัดแต่งผิวที่เป็นส่วนเกินออก

แพทย์จะตัดเอาผิวหนังที่หนาออกหรือตัดแต่งเอาตาปลาที่มีขนาดใหญ่ออก ซึ่งวิธีนี้ห้ามทำด้วยตัวเองเด็ดขาดเพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้

การผ่าตัด

แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกเข้ารับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขหรือจัดตำแหน่งของกระดูกที่ทำให้เกิดการเสียดสี 

ภาวะแทรกซ้อนของตาปลา

โดยปกติผู้เป็นตาปลามักไม่มีผลกระทบระยะยาว แต่อาจพบการกลับมาเกิดขึ้นใหม่หรือเป็นตาปลาที่ขนาดใหญ่ขึ้น หรือหากเกิดการติดเชื้อจะทำให้รู้สึกเจ็บปวดมากเวลาเดิน ซึ่งในกรณีนี้จำเป็นต้องมีการรักษาเพิ่มเติม รวมไปถึงการเกิดแผลเป็นเมื่อตาปลาหายแล้ว

การป้องกันตาปลา

การป้องกันไม่ให้เกิดตาปลาสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการดูแลตัวเอง ได้แก่

  • ใช้ครีมบำรุงสำหรับเท้าโดยเฉพาะ หลังจากที่อาบน้ำเสร็จหรือหลังล้างเท้า
  • ใช้หินขัดเท้าเป็นประจำเพื่อกำจัดผิวที่แห้งแตกออก
  • อย่าปล่อยให้อาการปวดเท้ากลายเป็นเรื่องปกติ ควรไปหาผู้เชี่ยวชาญด้านเท้าหรือแพทย์โดยตรง เพื่อให้คำแนะนำและหาสาเหตุของการเจ็บเท้า
  • สวมใส่รองเท้าที่สบายและขนาดที่พอเหมาะ ควรเลือกซื้อรองเท้าในช่วงเวลาบ่าย เพราะเท้ากำลังขยายตัวเต็มที่ ซึ่งรองเท้าที่เลือกซื้อแล้วใส่ได้อย่างพอดีในช่วงเวลานี้จะทำให้ใส่ได้สบายที่สุด นอกจากนั้นต้องมีเนื้อที่สำหรับให้นิ้วเท้าขยับได้ในช่วงของหน้ารองเท้ากับนิ้วเท้าที่ยาวที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง เพราะจะเพิ่มแรงกดบริเวณที่ด้านหน้าเท้า