ตับโต

ความหมาย ตับโต

ตับโต (Hepatomegaly) คือ ภาวะที่ตับมีขนาดใหญ่กว่าปกติ และอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการอย่างแน่นท้อง อาเจียน น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เท้าบวมหรือขาบวม อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น ตับอักเสบ โรคมะเร็ง ความผิดปกติที่หัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลให้ตับเสียหายได้ ผู้ป่วยตับโตจึงควรได้รับการรักษาเพื่อให้ตับกลับมาเป็นปกติ

1774 ตับโต rs

อาการของตับโต

อาการของผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุที่ทำให้ตับโต โดยในระยะแรกผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการใด ๆ แต่หากมีความรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ร่วมกับตับโต

  • แน่นท้อง
  • เวียนศีรษะ อาเจียน
  • ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด
  • อ่อนเพลีย
  • ตาขาว และผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือมีภาวะดีซ่าน
  • ฟกช้ำง่าย
  • เท้าและขาบวม

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วนหากมีอาการ เช่น มีไข้ร่วมกับดีซ่าน ปวดท้องรุนแรง หายใจลำบาก อาเจียนเป็นเลือดหรือเป็นสีดำ อุจจาระเป็นสีดำหรืออุจจาระปนเลือด เป็นต้น

สาเหตุของตับโต

อาการตับโตนั้นอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่พบได้ มีดังนี้

โรคเกี่ยวกับตับ

  • การติดเชื้อ เช่น โรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ บี หรือ ซี เป็นต้น
  • การอักเสบของตับ อาจมีสาเหตุมาจากโรคไขมันพอกตับ โรคอ้วน โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง และการใช้ยาหรือสมุนไพรบางชนิด
  • การมีสารบางชนิดสะสมในตับมากเกินไป เช่น โรคแอมีลอยโดซิส โรควิลสัน ภาวะเหล็กเกิน โรคเกาเชอร์ การได้รับสารพิษบางอย่าง และการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เป็นต้น

โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด

  • การอุดตันของเส้นเลือดดำในตับ
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

โรคมะเร็ง และการเกิดเนื้องอก

  • มะเร็งตับ หรือมะเร็งแพร่กระจายมาที่ตับ
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • เนื้องอกหลอดเลือดของตับ
  • ซีสต์หรือถุงน้ำในตับ

การวินิจฉัยตับโต

ในเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามอาการ จากนั้นจึงตรวจร่างกายด้วยการคลำและสัมผัสท้องเพื่อดูว่าตับของผู้ป่วยมีขนาดใหญ่ผิดปกติหรือไม่ หากสงสัยว่ามีภาวะตับโต แพทย์อาจใช้วิธีการตรวจอื่น ๆ วินิจฉัยเพิ่มเติม ดังนี้

การตรวจเลือด เพื่อตรวจดูค่าเอนไซม์ตับว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ตรวจหาไวรัสที่อาจเป็นสาเหตุของอาการตับโต รวมทั้งอาจตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดด้วย

การถ่ายภาพทางรังสี เช่น อัลตราซาวด์ ซีทีสแกน และเอ็มอาร์ไอสแกน เป็นต้น ซึ่งเป็นการถ่ายภาพด้วยคลื่นเสียง รังสี และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อให้แพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติของอวัยวะในช่องท้องและบริเวณตับ

การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ เป็นการใช้เข็มขนาดเล็กเจาะผ่านผิวหนังเข้าไปเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจากตับ แล้วส่งตรวจหาความผิดปกติในห้องปฏิบัติการต่อไป

การรักษาตับโต

การรักษาอาการตับโตมักขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ โดยแพทย์อาจใช้วิธีการรักษา ดังนี้

  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเปลี่ยนพฤติกรรมบางประการเพื่อรักษาสุขภาพตับ เช่น งดดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นต้น ส่วนผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน แพทย์อาจแนะนำให้ลดน้ำหนักด้วย
  • การใช้ยา แพทย์อาจสั่งจ่ายยาให้ผู้ป่วยที่มีอาการตับโตจากไวรัสตับอักเสบ รวมทั้งอาจให้ผู้ป่วยหยุดใช้ยาบางชนิดที่เป็นอันตรายต่อตับด้วย
  • การทำเคมีบำบัด รังสีบำบัด และการผ่าตัด จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะตับโตจากการมีก้อนมะเร็งที่ตับ
  • การปลูกถ่ายตับ แพทย์มักใช้วิธีนี้ในผู้ป่วยซึ่งมีความเสียหายที่ตับอย่างมาก

ภาวะแทรกซ้อนของตับโต

ภาวะแทรกซ้อนและความรุนแรงของอาการตับโตขึ้นอยู่กับโรคหรือความผิดปกติที่เป็นสาเหตุด้วย โดยการรักษาจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดก็ต่อเมื่อตรวจพบและรักษาตั้งแต่ในระยะแรก ๆ  แต่หากตรวจพบช้าหรือไม่ได้รับการรักษาจนกระทั่งมีอาการรุนแรง อาจทำให้ตับเกิดความเสียหายจนนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนระยะยาวที่รักษาไม่หาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยตลอดไปได้

การป้องกันตับโต

เนื่องจากภาวะตับโตเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จึงยากที่จะป้องกันได้ทั้งหมด แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพตับ ดังนี้

  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีโภชนาการครบถ้วน เน้นรับประทานธัญพืช ผัก และผลไม้ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และออกกำลังกายเป็นประจำ
  • ลดหรือจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์แต่พอดี รวมทั้งควรงดสูบบุหรี่ด้วย
  • ปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานอาหารเสริม สมุนไพร วิตามินต่าง ๆ เนื่องจากอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อตับได้
  • ระมัดระวังในการใช้สารเคมีต่าง ๆ เช่น ยาฆ่าแมลง น้ำยาทำความสะอาด เป็นต้น โดยควรใช้สารเคมีในบริเวณที่ระบายอากาศได้ดีเท่านั้น รวมถึงสวมใส่ถุงมือ รองเท้า และหน้ากาก เพื่อป้องกันการสัมผัสหรือสูดดมสารพิษเสมอ