ดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงให้นม อันตรายที่คุณแม่ควรรู้

คุณแม่หลายคนอาจต้องการสร้างความสุขให้กับตัวเองหลังการตั้งครรภ์ตลอดหลายเดือนด้วยการดื่มแอลกอฮอล์ แต่รู้หรือไม่ว่า การดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้ร่างกายผลิตน้ำนมลดลง อีกทั้งแอลกอฮอล์เหล่านั้นยังอาจปนเปื้อนไปกับน้ำนมที่คุณแม่ต้องให้ลูกน้อยอีกด้วย

นมแม่เป็นหนึ่งในสารอาหารที่จะช่วยให้เจ้าตัวน้อยเติบโตขึ้นอย่างสมบูรณ์แข็งแรง เพราะน้ำนมแม่มีความปลอดภัย สะอาด และมีส่วนประกอบของแอนติบอดี (Antibody) ที่จำเป็นต่อการป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ในทารก อย่างอาการท้องเสีย อาเจียน โรคภูมิแพ้หรือโรคอ้วนในวัยเด็ก 

ดังนั้นการทราบถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นเมื่อคุณแม่ให้นมดื่มแอลกอฮอล์อาจเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้าใจให้กับคุณแม่และช่วยให้เด็กได้รับสารอาหารและประโยชน์จากนมแม่อย่างเต็มที่ 

ดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงให้นม อันตรายที่คุณแม่ควรรู้

ดื่มแอลกอฮอล์กระทบต่อนมแม่อย่างไร?

หากคุณแม่ดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงที่ยังต้องให้นมลูก แอลกอฮอล์จะถูกส่งผ่านไปยังกระแสเลือดและปะปนเข้ากับนมแม่อย่างรวดเร็ว โดยปริมาณของแอลกอฮอล์ในน้ำนมจะเพิ่มสูงขึ้นใกล้เคียงกับระดับแอลกอฮอล์ในเลือด ซึ่งระดับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในน้ำนมจะสูงสุดในช่วง 30–60 นาทีหลังดื่มแอลกอฮอล์ และจะตกค้างอยู่ในน้ำนมนาน 2–3 ชั่วโมง ยิ่งคุณแม่ดื่มแอลกอฮอล์มาก ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ที่ตกค้างอยู่ในกระแสเลือดและน้ำนมจะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

การศึกษาบางส่วนพบว่า การให้นมหลังดื่มแอลกอฮอล์ 1–2 ดริงก์หรือหน่วยมาตรฐาน ทำให้เด็กได้รับน้ำนมลดลง 20–30 เปอร์เซ็นต์ และแอลกอฮอล์ยังส่งผลต่อการกินอาหารและการนอนหลับของทารก โดยเด็กจะง่วงซึมขณะให้นม หลับไวกว่าปกติหลังให้นมแต่หลับเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ บ่อยขึ้น และมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ รวมทั้งยังอาจขัดขวางพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวหรือการทรงตัว และพัฒนาการด้านสติปัญญาได้

อย่างไรก็ตาม แม้ทางการแพทย์จะยังไม่สามารถระบุผลกระทบของการดื่มแอลกอฮอล์ต่อการให้นมลูกได้แน่ชัด แต่การหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์จนกว่าทารกจะมีอายุครบ 3 เดือนหรือการไม่ดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างในนมจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยต่อทารกได้มากที่สุด

นอกจากการดื่มแอลกอฮอล์ อะไรที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยง?

เนื่องจากสิ่งต่าง ๆ ที่คุณแม่ดื่มเข้าไปนั้นอาจมีผลต่อสารอาหารในนมของลูก คุณแม่จึงควรใส่ใจการเลือกเครื่องดื่มเป็นพิเศษอย่างการดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้ที่ไม่มีรสหวาน และนอกจากแอลกอฮอล์แล้ว สิ่งที่คุณแม่ให้นมควรหลีกเลี่ยงมีดังนี้

  • เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนอย่างกาแฟ ชา ช็อกโกแลต น้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มชูกำลัง เนื่องจากคาเฟอีนที่ตกค้างในน้ำนมอาจทำให้เด็กมีปัญหาด้านการนอนหลับได้
  • เครื่องดื่มที่ทำจากนมวัวหรือถั่วเหลือง เพราะอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคแพ้โปรตีนนมวัวหรือเกิดการแพ้สารสกัดจากถั่วเหลืองในเด็กได้ 
  • อาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล ไขมันอิ่มตัวและเกลือ
  • จำกัดการกินธัญพืชขัดสี ปลาที่มีสารปรอทสูงและอาหารแปรรูป

นอกจากเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน นมวัว หรือนมถั่วเหลืองแล้ว คุณแม่ควรกินอาหารที่มีประโยชน์อย่างผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด อาหารไขมันต่ำหรือไม่มีไขมัน และโปรตีนชนิดต่าง ๆ รวมถึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานอาหารเสริมทุกชนิด เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดต่อทั้งร่างกายของคุณแม่และลูกน้อย