ซีด

ความหมาย ซีด

ซีด เป็นภาวะที่ผิวหนังหรือเยื่อเมือกในร่างกายมีสีซีดลง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วทั้งร่างกาย หรืออาจเกิดเพียงบริเวณเดียว และมักเกิดขึ้นบริเวณใบหน้า เยื่อบุในปาก ลิ้น และดวงตา

ซีด

ซีดมักเกิดจากภาวะที่ทำให้การหมุนเวียนโลหิตบริเวณนั้นลดลง เช่น โรคโลหิตจาง เป็นลม หรือภาวะช็อก นอกจากนั้น อาการซีดอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคร้ายแรงได้ และหากเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที

อาการซีด

ภาวะซีดทำให้ผิวหนังหรือเยื่อเมือกมีสีซีดลงผิดปกติ อาจเกิดทั่วทั้งร่างกาย หรือเพียงบริเวณใดบริเวณหนึ่ง โดยมักเกิดบริเวณเยื่อบุภายในช่องปาก ดวงตา เปลือกตาล่าง ลิ้น เล็บ หรือฝ่ามือ

อาการซีดต่างจากการเสียเม็ดสีผิวบริเวณผิวหนัง เพราะอาการซีดเกี่ยวข้องกับการไหลเวียนของเลือด บางรายอาจสับสนระหว่างการเสียเม็ดสีผิว เช่น ภาวะผิวเผือก (Albinism) ที่ทำให้ผิวซีดได้เช่นกัน ส่วนผู้ที่มีผิวคล้ำ อาจสังเกตได้ลำบากแต่จะทราบได้จากการตรวจสอบเยื่อเมือก

อาการซีดพบบ่อยในผู้ป่วยโลหิตจาง โดยผู้ที่มีภาวะโลหิตจางอย่างเฉียบพลันจะมีอาการซีดและอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก รู้สึกเหนื่อย ความดันโลหิตต่ำ หายใจไม่อิ่ม หรือหมดสติ ส่วนผู้ป่วยภาวะโลหิตจางเรื้อรัง จะมีอาการซีดร่วมกับร่างกายไวต่อความเย็น และอ่อนเพลีย

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการซีดจากหลอดเลือดแดงอุดตัน หรือเลือดขาดการไหลเวียน อาจมีอาการซีดบริเวณที่เกิดการอุดตัน ซึ่งมักพบอาการที่แขน ขา หรือนิ้ว เกิดอาการเจ็บปวดและผิวหนังบริเวณนั้นเย็น

หากพบว่าตนเองมีอาการซีดพร้อมกับอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ เป็นลม อาเจียนเป็นเลือด ปวดท้อง มีเลือดออกจากทวารหนัก หรือมีอาการรุนแรง เช่น หายใจไม่อิ่ม เจ็บหรือชาตามแขนขา หรือเจ็บหน้าอก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันที

สาเหตุของซีด

สาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการซีด ได้แก่

  • โรคโลหิตจาง เป็นสาเหตุที่พบบ่อย เกิดจากร่างกายไม่สามารถผลิตเซลล์เม็ดเลือดได้อย่างเพียงพอ โดยโรคโลหิตจางชนิดเฉียบพลันอาจเกิดจากการเสียเลือดมากอย่างกะทันหัน และโลหิตจางชนิดเรื้อรังอาจเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก วิตามินบี12 โฟเลต หรืออาจเป็นกรรมพันธ์ุ เช่น โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว และโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย
  • ผิวหนังขาดเลือดหล่อเลี้ยง เนื่องจากการอุดตันของเส้นเลือดแดง หรือขาดการหมุนเวียนโลหิตไปยังบริเวณปลายมือปลายเท้า
  • น้ำตาลในเลือดต่ำ  
  • เป็นลม
  • ภาวะช็อก
  • การใช้ยารักษาโรคบางชนิด
  • ป่วยด้วยโรคติดเชื้อเรื้อรัง
  • เป็นโรคมะเร็ง
  • เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคตับ เป็นต้น
  • การเสียเลือดเฉียบพลันหรือเรื้อรัง เช่น เลือดออกในระบบทางเดินอาหารและอวัยวะภายใน หรือประจำเดือนมามาก
  • เนื้อเยื่อถูกทำลายเพราะความเย็นจัด หรือสัมผัสกับอากาศหนาวเย็น
  • ขาดการสัมผัสกับแสงแดด
  • เป็นสีผิวตามธรรมชาติ

การวินิจฉัยซีด

ในเบื้องต้น แพทย์จะซักประวัติและสอบถามอาการของผู้ป่วย เช่น ลักษณะและบริเวณที่เกิดอาการ หรืออาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมด้วย จากนั้น แพทย์จะตรวจร่างกาย วัดความดัน และตรวจอัตราการเต้นของหัวใจ โดยส่วนใหญ่ แพทย์วินิจฉัยอาการซีดได้ด้วยตาเปล่า แต่สำหรับผู้ที่มีผิวคล้ำจะทำได้ยาก ซึ่งแพทย์จะตรวจดูจากภายในเปลือกตา และเยื่อเมือกตามอวัยวะในร่างกาย

นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้การทดสอบอื่น ๆ ประกอบการวินิจฉัย เช่น

  • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและการตรวจจำแนกชนิดเม็ดเลือด เป็นการตรวจวัดความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง ซึ่งจะช่วยระบุความผิดปกติ ความไม่สมบูรณ์ของเซลล์ และความรุนแรงของภาวะซีด
  • ตรวจการทำงานของไทรอยด์ เพื่อตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือด หากมีระดับต่ำ อาจเป็นสาเหตุของโรคโลหิตจางได้
  • การนับเม็ดเลือดแดงที่สร้างใหม่ เป็นวิธีที่ช่วยให้แพทย์ทราบว่าไขกระดูกของผู้ป่วยทำงานอย่างไร
  • ตรวจเลือดดูค่า BUN (Blood Urea Nitrogen) และครีเอตินีน (Creatinine) โดยแพทย์จะใช้วิธีนี้เพื่อตรวจการทำงานของไต หากไตทำงานล้มเหลว อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางจนมีอาการซีดได้
  • การตรวจระดับธาตุเหล็ก วิตามิน บี12 และโฟเลต เพราะการขาดสารเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุของโรคโลหิตจางได้เช่นกัน
  • การตรวจภาพถ่ายรังสีหลอดเลือดแดง (Extremity Arteriography) ช่วยให้แพทย์ตรวจดูการอุดตันของเส้นเลือดจากภาพเอกซเรย์ โดยการฉีดสีเข้าไปทางหลอดเลือดที่แขนหรือขา
  • ตรวจอุจจาระ เพื่อตรวจดูว่ามีเลือดปนหรือไม่ เพราะอาจเกิดเลือดออกในลำไส้หรือกระเพาะอาหาร
  • ตรวจการตั้งครรภ์ เพื่อตรวจหาภาวะโลหิตจาง ซึ่งมักพบในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์
  • อัลตราซาวด์ช่องท้อง เป็นการใช้คลื่นเสียงเพื่อหาสิ่งผิดปกติในร่างกายผู้ป่วย
  • เอกซเรย์ช่องท้อง เพื่อตรวจดูอวัยวะภายในช่องท้องผ่านภาพฉายรังสี
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีที สแกน (CT Scan) เพื่อดูภาพฉายรังสีความละเอียดสูงบริเวณอวัยวะและหลอดเลือดภายในช่องท้อง

การรักษาซีด
ในบางครั้ง อาการซีดอาจไม่ใช่สัญญาณการเจ็บป่วยที่รุนแรง แต่หากซีดเกิดจากปัญหาสุขภาพ ควรรักษาตามโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุ เช่น

  • การขาดสารอาหาร ผู้ป่วยควรรับประทานให้ถูกหลักโภชนาการอย่างสมดุล หรือรับประทานอาหารเสริมตามคำแนะนำของแพทย์
  • ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก โฟเลต หรือวิตามิน บี12 ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็ก โฟเลต หรือวิตามิน บี12
  • โรคประจำตัวอื่น ๆ ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม รับประทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อยู่เสมอ เพื่อควบคุมไม่ให้อาการกำเริบ และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา
  • การเสียเลือดอย่างเฉียบพลัน หรือมีการอุดตันของเส้นเลือดแดง ผู้ป่วยอาจต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดอย่างทันท่วงที

ภาวะแทรกซ้อนของซีด

ภาวะแทรกซ้อนของอาการซีดขึ้นอยู่กับสาเหตุของการป่วย ซึ่งโดยส่วนใหญ่เกิดจากโรคโลหิตจางที่ไม่ได้รับการรักษา ทำให้ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมกับอาการซีด เช่น

  • หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดโฟเลต อาจเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
  • อ่อนเพลียอย่างรุนแรง จนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
  • หัวใจเต้นเร็ว เพราะภาวะโลหิตจางทำให้หัวใจต้องสูบฉีดเลือดมากขึ้น เพื่อชดเชยออกซิเจนในเลือดที่ขาดไป และอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจโตหรือหัวใจวายได้
  • เสียเลือดปริมาณมากอย่างรวดเร็ว และอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

การป้องกันซีด

การป้องกันขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการซีด หากซีดเกิดจากการขาดสารอาหาร ผู้ป่วยสามารถป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการอย่างสมดุลอยู่เสมอ หรือหากเป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กหรือวิตามิน ก็ป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารที่คุณค่าทางโภชนาการสูงและมีวิตามินที่หลากหลาย เช่น

  • ธาตุเหล็ก พบได้ในเนื้อสัตว์ ถั่ว ผักใบสีเขียวเข้ม ธัญพืชและผลไม้แห้ง
  • วิตามิน บี 12 พบได้ในเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ธัญพืช และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง
  • วิตามิน ซี พบไดในผลไม้จำพวกมะนาวและส้ม น้ำผลไม้ บร็อคโคลี่ มะเขือเทศ พริกไทย สตอเบอร์รี่ และเมลอน
  • โฟเลต พบได้ในผลไม้และน้ำผลไม้ ผักใบสีเขียวเข้ม ถั่วลิสง ถั่วแดง ถั่วเขียว และผลิตภัณฑ์ที่อุดมด้วยธัญพืช เช่น ขนมปัง เมล็ดธัญพืช ข้าวและพาสต้า

ส่วนโรคโลหิตจางบางชนิดอาจไม่สามารถป้องกันได้ ผู้ป่วยควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีหากต้องรับมือกับโรคและการเจ็บป่วยใด ๆ

นอกจากนั้น อาจป้องกันอาการซีดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับความเย็นหรืออากาศเย็นจัด รับแสงแดดในช่วงเวลาและระยะเวลาที่เหมาะสม ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรรับการรักษาอย่างเหมาะสม รับประทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อยู่เสมอ หมั่นสังเกตอาการป่วยที่เกิดขึ้น และหากพบว่าตนเองมีอาการซีดอย่างเฉียบพลัน หรือมีอาการป่วยอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้องและรักษาได้อย่างทันท่วงที