ความหมาย โรคซึมเศร้า (Depression)
โรคซึมเศร้าหรือภาวะซึมเศร้า (Depression) เป็นภาวะทางอารมณ์ที่ผู้ป่วยอาจรู้สึกเศร้า สิ้นหวัง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือรู้สึกว่าตนด้อยค่า ทั้งนี้ แม้ความรู้สึกเหล่านี้จะเกิดได้กับทุกคนเป็นครั้งคราว แต่สำหรับภาวะซึมเศร้าจะแตกต่างออกไป เช่น อาการมักเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุและมีความรุนแรงหรือยาวนานกว่าจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย
โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ทั้งเพศชาย เพศหญิง เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงวัย โดยในด้านสาเหตุ ในปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่ทราบอย่างแน่ชัด แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย ทั้งด้านสารเคมีในสมอง เหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ การเจ็บป่วยด้วยโรคอื่น ๆ การใช้ยาบางชนิด ไปจนถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง
สาเหตุของโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุประกอบกัน จนพัฒนาไปเป็นภาวะซึมเศร้า ได้แก่ การทำงานของสมองบางส่วนที่ผิดปกติ มีระดับของสารเคมีไม่สมดุลกัน ลักษณะนิสัยเดิมของผู้ป่วยที่เอื้อต่อการเผชิญภาวะซึมเศร้า เหตุการณ์ตึงเครียดในชีวิต การกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง รวมถึงอาการป่วยจากโรคและการใช้ยารักษาโรคบางชนิด
อาการของโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ โรคซึมเศร้าชนิดรุนแรงและโรคซึมเศร้าเรื้อรัง โดยในที่นี้จะกล่าวถึงชนิดเรื้อรังเพียงโดยสังเขปด้านล่าง ส่วนบทความทั้งหมดจะเน้นไปที่โรคซึมเศร้าชนิดรุนแรงเท่านั้น
- โรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง (Major Depression) เป็นอาการซึมเศร้าอย่างที่ส่งผลกระทบถึงชีวิตการทำงานหรือการเรียน รวมไปถึงการนอนหลับและการกินอยู่ได้อย่างเป็นปกติสุขอย่างรุนแรง
- โรคซึมเศร้าเรื้อรัง (Persistent Depressive Disorder) แม้จะมีอาการและความรุนแรงของอาการน้อยกว่า แต่ภาวะซึมเศร้าชนิดนี้จะคงอยู่กับผู้ป่วยยาวนานกว่ามาก เป็นเวลาอย่างน้อยตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ซึ่งผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังก็อาจมีบางช่วงเวลาที่ต้องเผชิญภาวะซึมเศร้าชนิดรุนแรงร่วมด้วย
ภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของโรค เพศ หรืออายุ โดยอาจมีอารมณ์ในลักษณะดังต่อไปนี้
- เศร้า หดหู่ สิ้นหวัง
- วิตกกังวล
- มีความรู้สึกว่าตนไร้ค่า โดดเดี่ยว
- หงุดหงิดง่าย
- เก็บตัวมากขึ้น
- มีอาการในลักษณะของภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia) เช่น รู้สึกสิ้นหวัง เฉยชาต่อสิ่งรอบตัว และการแสดงออกทางอารมณ์น้อยลง
ทั้งนี้ แม้ความรู้สึกและอารมณ์เหล่านี้จะอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนเป็นครั้งคราว แต่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะเกิดอารมณ์เหล่านี้ในลักษณะที่รุนแรงกว่าและคงอยู่อย่างยาวนานหลายสัปดาห์
นอกจากนี้ยังสามารถส่งผลกระทบทำให้ร่างกายรู้สึกอ่อนล้าตลอดเวลา เจ็บปวดตามร่างกาย นอนหลับยากหรือหลับมากเกินไป หรือมีพฤติกรรมแยกตัวจากสังคม ไม่มีสมาธิ ทำงานไม่ได้ หมดความสนใจในเรื่องที่เคยชอบ ไปจนถึงการคิดฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองได้
สัญญาณสำคัญของโรคซึมเศร้าที่ควรไปพบแพทย์
ผู้ที่เริ่มสังเกตเห็นว่าตนเองมีอาการที่เริ่มเข้าข่ายภาวะซึมเศร้าควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่เห็นว่าตนเองเริ่มมีความคิดอยากทำร้ายตนเอง หรือมีความคิดเรื่องการฆ่าตัวตาย
การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า
ในการวินิจฉัยโรคซึมเศร้า แพทย์จะเริ่มต้นด้วยการพูดคุยสอบถามถึงอาการ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของผู้ป่วยว่าเข้าข่ายภาวะซึมเศร้าหรือไม่ มีความรุนแรงระดับใด โดยใช้ชุดคำถามมาตรฐานในการตรวจสอบ
จากนั้น แพทย์อาจใช้วิธีตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด หรือตรวจปัสสาวะ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าภาวะซึมเศร้าที่สงสัยไม่ได้เป็นเกิดจากโรคอื่น ๆ เนื่องจากการรักษาที่โรคต้นเหตุจะเป็นการรักษาภาวะซึมเศร้าโดยตรง แล้วพิจารณาถึงวิธีการรักษาที่เหมาะสมในขั้นต่อไป
การรักษาโรคซึมเศร้า
การรักษาโรคซึมเศร้าในปัจจุบัน หลัก ๆ มีด้วยกัน 3 วิธี คือ การใช้ยาต้านซึมเศร้า (Antidepressants) การพูดคุยบำบัดทางจิต (Psychotherapy) และการกระตุ้นเซลล์สมองและประสาท (Brain Stimulation Therapies)
โดยมากแพทย์จะรักษาด้วยการใช้ยาต้านซึมเศร้าและการพูดคุยบำบัดกับผู้ป่วยควบคู่กันไป ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรงมาก มีพฤติกรรมมุ่งทำร้ายทำตัวเองหรือฆ่าตัวตาย จึงจะเลือกใช้การกระตุ้นเซลล์สมองและประสาทเพื่อรักษาได้ทันท่วงที
ทั้งนี้ แพทย์ยังต้องพิจารณาอีกด้วยว่าจะใช้ยาตัวใด การพูดคุยบำบัด และการกระตุ้นเซลล์สมองรูปแบบใดจึงจะปลอดภัยและเหมาะสมกับผู้ป่วยรายนั้น ๆ ที่สุด
ภาวะแทรกซ้อนของโรคซึมเศร้า
หากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจมีอาการที่แย่ลงและเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับการเข้าสังคม มีความคิดทำร้ายตนเอง หรือเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย รวมถึงอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาการนอนไม่หลับ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และเสี่ยงมีพฤติกรรมติดแอลกอฮอล์
การป้องกันโรคซึมเศร้า
ภาวะซึมเศร้าไม่มีวิธีการป้องกันที่แน่นอน เนื่องจากสาเหตุอาจเกิดจากโรคบางประการ เช่น ความผิดปกติในสมอง อาการเจ็บป่วย หรือการใช้ยาที่เกิดภาวะซึมเศร้าแทรกซ้อนได้ ถือว่าเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม
แต่การสร้างพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดีด้วยการเลือกรับประทานอาหารและออกกำลังกาย การรักษาสภาวะอารมณ์ให้แจ่มใสด้วยการทำกิจกรรมเพื่อความสนุกสนานและผ่อนคลาย นับเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะซึมเศร้าได้