จาม

ความหมาย จาม

จาม เป็นอาการที่ร่างกายใช้ขจัดหรือขับสิ่งแปลกปลอมที่ทำให้เกิดการระคายเคืองออกทางจมูกและปากอย่างแรงและรวดเร็ว ในขณะที่จามจะเกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหน้าอกและกะบังลมอย่างฉับพลันไม่ทันตั้งตัว โดยมักมีสาเหตุจากเยื่อเมือกในจมูกเกิดการระคายเคือง

จาม

อาการจามมักทำให้เกิดความรำคาญและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันบ้าง แต่มักไม่ได้เกิดขึ้นจากปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงเสมอไป

อาการจาม
อาการจามจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและไม่สามารถควบคุมการกระจายลมหายใจที่ขับออกทางจมูกหรือทางปากได้ และอาจมีอาการอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้จามเกิดขึ้นร่วมด้วยดังต่อไปนี้

  • น้ำมูกไหล หรือคัดจมูก
  • ตาแฉะ แสบตา หรือคันตา
  • ไอ
  • เจ็บคอ

หากพบว่าอาการจามเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จามร่วมกับมีไข้ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และรักษาอาการด้วยตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือหายไป ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา

สาเหตุของอาการจาม
อาการจามเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับจมูก โดยจมูกมีหน้าที่กรองอากาศที่หายใจเข้าไปให้ปราศจากสิ่งสกปรกและเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งส่วนใหญ่สิ่งสกปรกและแบคทีเรียจะถูกดักจับไว้ในน้ำมูกและถูกย่อยโดยกรดในกระเพาะ แต่ในบางครั้งสิ่งสกปรกก็สามารถผ่านเข้าไปภายในจมูกและทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณเยื่อเมือกในจมูกและคอจนทำให้เกิดอาการจาม

โดยปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการจาม ได้แก่

  • สิ่งกระตุ้นจากสภาพแวดล้อม เช่น ฝุ่น ควัน มลภาวะทางอากาศต่าง ๆ สภาพอากาศแห้งหรือเย็น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ละอองเกสรดอกไม้ เชื้อรา สะเก็ดผิวหนังของสัตว์ และการรับประทานอาหารรสเผ็ด
  • โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยจามอย่างต่อเนื่องและจามบ่อย
  • เป็นหวัดหรือไข้หวัดจากการติดเชื้อไวรัส
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาพ่นจมูกคอร์ติโคสเตียรอยด์
  • จามจากการเกิดปฏิกิริยาหลังสัมผัสกับแสงสว่างจ้า (Photic Sneeze Reflex)
  • เกิดการบาดเจ็บที่จมูก
  • การถอนยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มโอปิออยด์

การวินิจฉัยอาการจาม

การวินิจฉัยอาการจามขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลตามระยะเวลาและความรุนแรงของอาการ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพราะโดยปกติแพทย์จะสามารถวินิจฉัยได้จากการสอบถามประวัติทางการแพทย์ ลักษณะอาการจาม และอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมด้วย จากนั้นจึงตรวจจมูกและคอของผู้ป่วย หรือในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ อาจต้องทำการทดสอบภูมิแพ้ด้วย เพื่อหาสาเหตุและหาสารก่อภูมิแพ้ของผู้ป่วยรายนั้น 

การรักษาอาการจาม

การรักษาอาการจามขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ หากอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ที่บ้าน แต่หากจามจากโรคและการเจ็บป่วยควรได้รับการรักษาจากแพทย์

การดูแลรักษาอาการด้วยตนเอง 

หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้หรือสิ่งกระตุ้นที่อาจทำให้จาม ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการจามที่มีสาเหตุมาจากโรคภูมิแพ้ได้ เพราะโรคภูมิแพ้เกิดจากร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไป นอกจากนั้น อาจเปลี่ยนแปลงบางสิ่งภายในที่อยู่อาศัย เพื่อลดความเสี่ยงเกิดการระคายเคือง หรือลดความเสี่ยงในการสัมผัสกับสิ่งที่กระตุ้นให้มีอาการจาม เช่น

  • หมั่นทำความสะอาดบ้าน ปัดกวาดกำจัดฝุ่น ซักผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนด้วยน้ำอุ่นอุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียส เพื่อฆ่าไรฝุ่น
  • ไม่เลี้ยงสัตว์ไว้ในบ้าน เพื่อป้องกันเศษผิวหนังของสัตว์ปลิวเข้าจมูก และหมั่นตัดขนสััตว์เลี้ยง
  • ซื้อเครื่องกรองอากาศไว้ในบ้าน เพื่อให้อากาศภายในบ้านสะอาดและช่วยกรองละอองเกสรดอกไม้ได้ด้วย
  • หากบ้านมีปัญหาของสปอร์เชื้อรา ควรได้รับการตรวจสอบ ในกรณีที่ร้ายแรง อาจจำเป็นต้องย้ายออกไปจากบ้านหลังนั้น เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพตามมา

ส่วนอาการจามที่ไม้ได้เกิดจากภูมิแพ้ มักหายไปได้เองเมื่อโรคที่เป็นสาเหตุได้รับการรักษาหรือเมื่อหายป่วย

การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ

หากผู้ป่วยมีอาการจามจากโรคภูมิแพ้ เบื้องต้นแพทย์จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ด้วยวิธีต่าง ๆ รวมถึงอาจให้ยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาลอราทาดีน และยาเซทิไรซีน

ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้รุนแรง แพทย์อาจแนะนำการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดด้วยการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าใต้ผิวหนังทีละน้อยเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยป้องกันร่างกายไม่ให้เกิดปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้ในอนาคต

ส่วนการจามจากการติดเชื้อ เช่น เป็นหวัด หรือไข้หวัด สามารถบรรเทาอาการระคายเคืองที่ทำให้จาม และอาการคัดจมูกน้ำมูกไหลได้ด้วยการใช้ยา ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์และยาที่หาซื้อจากร้านขายยา โดยผู้ป่วยควรใช้ยาอย่างถูกต้องเคร่งครัดภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรเสมอ นอกจากนั้น ควรดื่มน้ำให้มากและพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูได้เร็วขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของอาการจาม

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นร่วมกับการจามเป็นไปตามสาเหตุของการป่วยด้วย เช่น

  • โรคหวัด หากป่วยรุนแรง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ โรคหืดกำเริบ หลอดลมอักเสบ ติดเชื้อในหู และปวดบวม
  • โรคภูมิแพ้ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ผื่นผิวหนัง หากเกิดการแพ้อย่างรุนแรง อาจมีความดันโลหิตต่ำ หายใจหอบเหนื่อย หรือหมดสติ
  • โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หูช้ั้นกลางอักเสบ โพรงจมูกอักเสบ และริดสีดวงจมูก
  • ไข้หวัดใหญ่ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดบวม

การป้องกันอาการจาม

อาการจามมักเกิดจากการได้รับสารก่อภูมิแพ้หรือสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองเข้าไปในจมูก ดังนั้น การป้องกันอาจทำได้โดยการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสารที่ทำให้ระคายเคืองเหล่านั้น เช่น หลีกเลี่ยงสถานที่หรือกิจกรรมที่อาจต้องสัมผัสฝุ่นควันหรือเกสรดอกไม้

ส่วนโรคต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไอกรน โรคอาร์เอสวี และโรคซาร์ส ที่สามารถแพร่กระจายติดต่อกันได้จากการจาม ผู้ป่วยควรดูแลตนเองไม่ให้แพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่น ดังนี้

  • เมื่อจามควรใช้กระดาษทิชชู่ปิดปากและจมูกเอาไว้
  • ทิ้งทิชชู่ที่ใช้ปิดปากและจมูกขณะจามหรือไอลงถังขยะให้เรียบร้อย
  • หากในขณะที่จามไม่มีกระดาษทิชชู่ ควรใช้แขนส่วนบนปิดปากและจมูกเอาไว้ โดยหลีกเลี่ยงการใช้มือ เพราะเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคได้มากกว่า
  • ในระหว่างที่จามหรือไอบ่อย ๆ ควรหมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรืออาจใช้น้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับทำความสะอาดมือ ซึ่งมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อย่างน้อย 60 เปอร์เซ็นต์
  • หากกำลังป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจที่สามารถติดต่อสู่ผู้อื่นได้ ผู้ป่วยควรรักษาตัวแยกออกจากผู้อื่น หรือผู้ที่ไม่ได้ป่วยก็ควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ที่กำลังป่วย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค