การรักษางูสวัด งูสวัด (Shingles)
การรักษางูสวัด
แพทย์จะรักษาโรคงูสวัดตามอาการ ร่วมกับใช้ยาต้านไวรัสเพื่อเร่งกระบวนการการหายของโรคและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยยาที่แพทย์นิยมใช้ ได้แก่ ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) และแฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir)
นอกจากนี้ งูสวัดยังก่อให้เกิดอาการปวดที่รุนแรง แพทย์จึงอาจสั่งยาเพื่อบรรเทาอาการชนิดอื่นร่วมด้วย เช่น
- ยาพาราเซตามอล
- ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
- ครีมแคปไซซิน (Capsaicin Cream)
- ยาในกลุ่มต้านอาการชัก เช่น กาบาเพนติน (Gabapentin)
- ยาต้านอาการซึมเศร้า เช่น อะมิทริปไทลิน (Amitriptyline)
- ยาในกลุ่มยาชา เช่น ลิโดเคน (Lidocaine) ซึ่งเป็นยาชนิดทา มีทั้งรูปแบบเจล และครีม
- ยาโคเดอีน (Codeine)
สำหรับสตรีมีครรภ์ โรคงูสวัดในหญิงตั้งครรภ์จะไม่ส่งผลอันตรายต่อทารกในครรภ์ แต่แพทย์จะพิจารณาเรื่องการใช้ยาในกรณีที่จำเป็นเป็นกรณีไป ส่วนงูสวัดในเด็ก บางกรณีอาจไม่ต้องรักษาเพราะมีแนวโน้มที่จะมีอาการไม่รุนแรงและมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย ยกเว้นกรณีบางกรณีที่อาจต้องใช้การรักษาเข้าช่วย ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เช่น เด็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำอาจต้องใช้ยาต้านไวรัส
โดยทั่วไปอาการมักหายจนผิวหนังกลับมาเป็นปกติในระยะเวลา 2–6 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นงูสวัดเพียงครั้งเดียว แต่บางรายอาจกลับมาเป็นซ้ำได้หลายครั้ง ขึ้นอยู่กับระดับภูมิคุ้มกันของร่างกาย
นอกจากการรักษาทางการแพทย์แล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องดูแลตัวเองให้มากขึ้นในช่วงที่ป่วยด้วยโรคงูสวัดตามคำแนะนำต่อไปนี้
- รักษาความสะอาดผื่นและตุ่มน้ำ โดยให้บริเวณดังกล่าวแห้งให้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อบริเวณที่เกิดตุ่มน้ำ
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เพื่อลดความรู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว
- ไม่ปิดบริเวณแผลด้วยพลาสเตอร์หรือทายาที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะ เพราะจะทำให้หายช้าลง
- สวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น แต่ควรระวังไม่ให้เนื้อผ้าเสียดสีกับแผลมากเกินไป
- หากมีอาการคัน สามารถใช้ยาคาลาไมน์บรรเทาอาการได้
- ไม่ใช้เสื้อผ้าร่วมกับผู้อื่น เพราะเชื้ออาจแพร่กระจายได้