กะหล่ำดอกกับประโยชน์น่ารู้ด้านสุขภาพ

กะหล่ำดอก ไม่เพียงนิยมนำมาทำเป็นอาหาร แต่เสมือนเป็นยาบำรุงสุขภาพและต้านโรคไปในตัว เพราะอุดมด้วยสารอาหารที่มีคุณค่านานาชนิด เชื่อกันว่ากะหล่ำดอกมีสรรพคุณป้องกันปัญหาสุขภาพ เช่น โรคลักปิดลักเปิด กระดูกพรุน ภาวะวัยทอง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง เป็นต้น

กะหล่ำดอก

กะหล่ำดอกจัดเป็นพืชในตระกูลกะหล่ำเช่นเดียวกับบร็อคโคลี่และกะหล่ำปลี เป็นผักเนื้อกรอบ หารับประทานได้ง่าย สามารถนำไปทำอาหารได้หลายประเภท และยังประกอบด้วยสารอาหารหลายชนิด เช่น วิตามินซี วิตามินเค วิตามินบี 5 โฟเลต โพแทสเซียม ตลอดจนสารต้านอนุมูลอิสระและสารพฤกษเคมีอื่น ๆ ซึ่งเชื่อว่าสารเหล่านี้อาจช่วยต้านโรคบางชนิดได้ จึงมีการศึกษาประสิทธิภาพของกะหล่ำดอกต่อการรักษาและป้องกันโรค แม้หลักฐานส่วนใหญ่เป็นการค้นคว้าในผักตระกูลกะหล่ำโดยรวม แต่ก็มีหลักฐานบางส่วนที่พิสูจน์และกล่าวอ้างผลทางการแพทย์ว่ากะหล่ำดอกมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนี้

ลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจและหลอดเลือดอาจเป็นผลมาจากความเสื่อมของร่างกายจากการใช้ชีวิตประจำวัน การเลือกรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น สารแคโรทีนอยด์ ฟลาโวนอยด์ วิตามินต่าง ๆ อย่างกะหล่ำดอก อาจช่วยต้านการอักเสบและชะลอความเสื่อมของร่างกายได้ ซึ่งจากงานวิจัยหนึ่งที่ติดตามการรับประทานอาหารของอาสาสมัครชาวจีนชายและหญิงจำนวน 134,796 คน เป็นเวลา 4-10 ปี พบว่าผู้ที่ไม่บริโภคผักตระกูลกะหล่ำ หรือผลไม้ มีอัตราเสี่ยงในการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าผู้ที่บริโภคเป็นประจำ จึงอาจกล่าวได้ว่า การรับประทานผักตระกูลกะหล่ำควบคู่กับผักชนิดต่าง ๆ และผลไม้เพิ่มมากขึ้น อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และช่วยให้มีสุขภาพดี มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นได้

ผลการศึกษาข้างต้นสอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ติดตามการรับประทานอาหารของอาสาสมัครหญิง 84,251 คน และชาย 42,148 คน ในระยะเวลา 8-14 ปี พบว่าการรับประทานผักและผลไม้ปริมาณมากอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้เช่นเดียวกัน โดยงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าการรับประทานผักผลไม้วันละ 1 ส่วน ช่วยลดอัตราการเกิดโรคนี้ลงได้ถึง 4 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะผักใบเขียว หรือผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงอย่างกะหล่ำดอก

แม้ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการรับประทานกะหล่ำดอกน่าจะมีส่วนช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ แต่ควรมีการศึกษาที่มุ่งใช้กะหล่ำดอกทดลองโดยเฉพาะ เพื่อให้ทราบถึงประสิทธิภาพของกะหล่ำดอกอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การป้องกันโรคต่าง ๆ อย่างได้ผล ควรปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตควบคู่ไปด้วย เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงทำลายสุขภาพ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มหรือลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก เป็นต้น

ต้านมะเร็ง มะเร็งเป็นโรคร้ายที่เซลล์ในร่างกายเจริญเติบโตอย่างผิดปกติ ซึ่งกระทบต่อระบบการทำงานต่าง ๆ และอาจทำให้เกิดอาการป่วยจนเสียชีวิตได้ การบริโภคกะหล่ำดอกอาจช่วยป้องกันการเสียหายของเซลล์และลดการอักเสบในร่างกายได้ เนื่องจากประกอบด้วยสารที่มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งและต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น สารกลูโคไซโนเลท (Glucosinolate) สารซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) และสารไอโซไธโอไซยาเนต (Isothiocyanate) เป็นต้น โดยมีผลการทดลองจากการศึกษาในเซลล์มนุษย์บางส่วนพบว่าสารเหล่านี้ช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งศึกษาคุณประโยชน์ด้านนี้ของกะหล่ำดอกจากการติดตามพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด 1,830 คน เป็นเวลา 8 ปี พบว่าการกินผลไม้และผักต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงผักในตระกูลกะหล่ำเพิ่มขึ้นวันละ 100 กรัม ช่วยลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งปอดบางชนิดลงได้

อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยอีกชิ้นที่ศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะจำนวน 239 คน กับการบริโภคผักต่าง ๆ ในตระกูลกะหล่ำ พบว่าการรับประทานกะหล่ำดอกอาจไม่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตหรือแนวโน้มในการเกิดโรคนี้อย่างชัดเจน แต่กลับพบว่าการรับประทานผักตระกูลกะหล่ำแบบดิบอย่างบร็อคโคลี่อาจส่งผลดีต่อการป้องกันมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมากกว่า

ผลการทดลองเหล่านี้อาจยืนยันได้ไม่ชัดเจนนักว่ากะหล่ำดอกมีส่วนช่วยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง เพราะบางงานไม่ได้ศึกษาทดลองจากการรับประทานกะหล่ำดอกเพียงอย่างเดียว และอาจมีปัจจัยด้านอื่น ๆ เช่น พฤติกรรมการสูบหรี่มาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก โดยควรเจาะจงใช้กะหล่ำดอกมาทดลองในมนุษย์ รวมทั้งศึกษาปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อการป้องกันมะเร็งด้วย

ป้องกันโรคเบาหวาน เบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลินหรือดื้อต่อฮอร์โมนนี้ ส่งผลต่อการดูดซึมน้ำตาลในเลือด ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดมากเกินไปและจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลให้คงที่ โดยเฉพาะการเลือกรับประทานอาหาร ซึ่งกะหล่ำดอกเป็นผักที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่ำ มีกากใยอาหารสูง และยังมีสารอาหารให้ประโยชน์อีกมากมายที่อาจส่งผลดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาล จึงมีงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่ให้ผู้ทดลองรับประทานผักผลไม้ในปริมาณที่แตกต่างกันเป็นเวลา 10 ปีขึ้นไป พบว่าการรับประทานผักและผลไม้มากขึ้นช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยเฉพาะผักในตระกูลกะหล่ำ พืชผักที่มีสีเขียวและสีเหลือง บลูเบอร์รี่ และผักผลไม้ที่มีกากใยอาหารสูงชนิดอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยในปัจจุบันยังไม่อาจระบุประโยชน์ของกะหล่ำดอกในการป้องกันโรคเบาหวานได้อย่างชัดเจนและควรมีการศึกษาเพิ่มเติมให้แน่ชัดต่อไป แต่การรับประทานกะหล่ำดอกหรือผักผลไม้ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพโดยรวม และอาจช่วยป้องกันโรคบางอย่างได้

สำหรับผู้ที่ต้องการรับประทานหรือใช้กะหล่ำดอกในรูปแบบอื่น ๆ  ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมอาการของโรคไม่ให้รุนแรงขึ้น  

ช่วยควบคุมน้ำหนัก กะหล่ำดอกมีแคลอรี่ต่ำและมีกากใยอาหารในปริมาณมาก จึงเป็นผลดีต่อการควบคุมน้ำหนัก เพราะช่วยให้อิ่มท้องได้นานและรับประทานอาหารได้น้อยลง จากการให้อาสาสมัครชายหญิงชาวอเมริกัน 133,468 คน รับประทานกะหล่ำดอก รวมถึงผักและผลไม้หลายชนิดเป็นเวลา 24 ปี พบว่าการรับประทานกะหล่ำดอกและถั่วเหลือง ช่วยลดน้ำหนักลงได้ดีกว่าการรับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยน้อย มีน้ำตาลและแป้งสูง อย่างข้าวโพด ถั่วลันเตา และมันเทศ

ผลการศึกษาดังกล่าวพอจะบอกได้ว่าการรับประทานกะหล่ำดอกอาจส่งผอย่างลดีต่อการควบคุมน้ำหนักอยู่บ้าง แต่เป็นการทดลองโดยให้อาสาสมัครควบคุมอาหารร่วมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตในทางที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ลดการสูบบุหรี่ และเพิ่มการออกกำลัง ดังนั้น ควรมีงานค้นคว้าที่ทดลองเจาะจงด้านการบริโภคกะหล่ำดอกเพียงชนิดเดียว ส่วนผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักให้ได้ผลดีและส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ควรควบคุมการรับประทานอาหารควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมด้านอื่น ๆ ไปด้วย เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

รับประทานกะหล่ำดอกอย่างไรให้ปลอดภัยและได้ประโยชน์

ในปัจจุบัน มีข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณที่เหมาะสมและความปลอดภัยในการบริโภคกะหล่ำดอกค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะข้อมูลด้านการรักษาหรือป้องกันโรคซึ่งยังไม่อาจสรุปประสิทธิภาพในแต่ละด้านได้อย่างแน่ชัด ผู้บริโภคจึงควรคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก โดยมีข้อควรระวังในการรับประทานกะหล่ำดอก ดังต่อไปนี้

  • การรับประทานกะหล่ำดอกในปริมาณปกติจากมื้ออาหารทำให้ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและไม่ทำให้เกิดอันตราย แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่รับรองความปลอดภัยหากรับประทานกะหล่ำดอกในปริมาณมากหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน จึงควรรับประทานแต่ในปริมาณที่พอดี
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือแน่นท้อง ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานกะหล่ำดอก เพราะอาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะได้มาก
  • กะหล่ำดอกมีสารพิวรีนอยู่ในระดับปานกลาง จึงไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์ เพราะอาจกระตุ้นให้อาการของโรคแย่ลง
  • สารอาหารสำคัญในกะหล่ำดอกอาจสูญสลายได้ง่ายและละลายไปกับน้ำเมื่อโดนความร้อน การนำกะหล่ำดอกไปทำอาหารจึงควรใช้ความร้อนต่ำและใช้ระยะเวลาทำไม่นานเกินไป เพื่อคงคุณค่าสารอาหาร ป้องกันการเสียรสชาติและเกิดกลิ่นไม่น่ารับประทาน เนื่องจากกะหล่ำดอกมีสารประกอบของกำมะถันที่อาจส่งกลิ่นเหม็นเมื่อปรุงอาหารนาน ๆ