กระดูกสันหลังเสื่อม

ความหมาย กระดูกสันหลังเสื่อม

กระดูกสันหลังเสื่อม (Spondylosis) เป็นอาการที่กระดูก หมอนรองกระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็นกระดูก และกล้ามเนื้อหลังเสื่อมสภาพ ส่งผลให้กระดูกสันหลังขาดความยืดหยุ่นและติดแข็งมากขึ้น กระดูกสันหลังเสื่อมมักเกิดบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอ (Cervical Spine) กระดูกสันหลังส่วนอก (Thoracic Spine) และกระดูกสันหลังส่วนบั้นเอว (Low Back) แต่ที่พบได้มากที่สุดคือบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอและบั้นเอว กระดูกสันหลังเสื่อมเกิดจากการเสื่อมสภาพเมื่ออายุเพิ่มขึ้น โดยทั่วไปแล้วโรคนี้พบได้ในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันเริ่มพบในผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่านั้นมากขึ้น หากความสามารถในการเคลื่อนไหวเริ่มผิดปกติหรือมีปัญหา มือ แขน เท้า และขามีอาการชาและอ่อนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อหาทางรักษาและช่วยป้องกันกระดูกสันหลังเสื่อมเพิ่ม 

กระดูกสันหลังเสื่อม

อาการของกระดูกสันหลังเสื่อม

อาการของกระดูกสันหลังเสื่อมจะปรากฎอาการปวดคอหรือปวดหลังแบบเป็น ๆ หาย แต่ผู้ป่วยบางรายอาจประสบกับอาการปวดเรื้อรัง หรือในบางครั้งอาการปวดอาจจะรุนแรงขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่าทาง อาการอื่น ๆ ของกระดูกสันหลังเสื่อมมีดังนี้

  • ปวดบั้นเอว
  • กระดูกสันหลังติดแข็งและขยับตัวลำบาก
  • มือ แขน เท้า หรือขา ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างมีอาการชา อ่อนแรง หรือ เป็นเหน็บ
  • ปวดศีรษะในบางครั้ง
  • กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ค่อยอยู่
  • ในกรณีที่มีการกดเบียดเส้นประสาทรุนแรง จะทำให้เดินลำบาก เดินแล้วไม่สมดุล ไม่มั่นคงเหมือนจะหกล้ม โดยเฉพาะเวลาขึ้นบันได

สาเหตุของกระดูกสันหลังเสื่อม

กระดูกสันหลังเสื่อม คือการที่กระดูก หมอนรองกระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็นกระดูก และกล้ามเนื้อหลังเสื่อมสภาพเมื่ออายุเพิ่มขึ้น จากการที่กระดูกสันหลังโค้งงอเป็นเวลานาน จนก่อให้เกิดแรงกดบนหมอนรองกระดูกและข้อต่อของกระดูกสันหลัง และเสียความยืดหยุ่นไป ยกตัวอย่างเช่น การนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ โดยเฉพาะการนั่งหลังค่อม พอลุกจากเก้าอี้กระดูกสันหลังจะถูกทำให้ตรงในทันทีจึงทำให้เกิดการเสียดทานขึ้น ร่างกายจึงสร้างกระดูกงอกออกมาจากข้อต่อเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ในบางครั้งกระดูกที่งอกขึ้นมานั้นมีขนาดใหญ่เกินไปจนเบียดกับเส้นประสาทและไขสันหลังทำให้เกิดอาการปวด ซึ่งมักพบทั่วไปในผู้สูงอายุ

การวินิจฉัยกระดูกสันหลังเสื่อม

แพทย์วินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังเสื่อมจากอาการที่ผู้ป่วยเล่าให้ฟังว่ามีอาการปวดลักษณะดังกล่าว แล้วตรวจร่างกายเบื้องต้นสำหรับกระดูกสันหลังส่วนคอ โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยหันศีรษะจากซ้ายไปขวา และให้เอียงศีรษะไปที่บ่า สำหรับการตรวจกระดูกสันหลังส่วนบั้นเอวนั้น แพทย์อาจให้ผู้ป่วยก้มลงหรือเคลื่อนไหวหลังและเอวไปในทิศทางต่าง ๆ ทั้งหมดนี้เพื่อทดสอบว่าการเคลื่อนไหวนั้นถูกจำกัดหรือไม่ และเนื่องจากกระดูกสันหลังเสื่อมส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการใช้มือและการเดิน แพทย์อาจทดสอบมือ แขน เท้าและขาของผู้ป่วยว่ายังรู้สึกตอบสนองต่อการสัมผัสหรือไม่ หากพบว่าผู้ป่วยมีปัญหาต่อการตอบสนองที่อาจบ่งบอกถึงความเสียหายของเส้นประสาท แพทย์อาจต้องขอเอกซเรย์เพื่อจะได้วินิจฉัยอาการเพิ่มเติมต่อไป

หากตรวจพบว่าอาการของผู้ป่วยนั้นรุนแรง ไม่ตอบสนองต่อวิธีการรักษาแบบเดิมอาจจำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

การทำเอ็มอาร์ไอ

วิธีนี้ถูกนำมาใช้เพื่อแสดงให้เห็นภาพภายในร่างกายอย่างละอียด การสแกนโดยใช้สนามแม่เหล็กและคลื่นวิทยุของเอ็มอาร์ไอนั้นเป็นประโยชน์มากต่อการตรวจหาความเสียหายของเส้นประสาทที่สำคัญและซ่อนอยู่

การทำซีทีสแกน

การทำซีทีสแกนคือการนำชุดภาพเอกซเรย์จากการเอกซเรย์หลาย ๆ ครั้งจากหลาย ๆ มุมมาประกอบรวมกัน ทำให้ได้ภาพกระดูกที่ละเอียดกว่าการทำเอกซเรย์ธรรมดา และในบางกรณีที่ผู้ป่วยมีเหตุผลทางการแพทย์ ทำให้ไม่สามารถทำเอ็มอาร์ไอได้ ซีทีสแกนจึงเป็นวิธีที่ถูกนำมาใช้แทน

การตรวจกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าและการตรวจคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อ (EMG)

ทั้งสองวิธีนี้จะกระทำในเวลาเดียวกันเพื่อให้ผลลัพธ์และรายละเอียดที่ดีที่สุดของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท แต่วิธีและอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจจะแตกต่างกันไป

การตรวจกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าเป็นการวัดความเร็วและความแรงของการส่งสัญญาณประสาท โดยการปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ กระตุ้นประสาทของผู้ป่วยผ่านขั้วตรวจจับสัญญาณไฟฟ้า ลักษณะเป็นแผ่นโลหะชิ้นเล็ก ๆ ที่ถูกนำมาวางบนร่างกายของผู้ป่วย

การตรวจคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อจะมีการใช้ยาชาระงับความรู้สึกเฉพาะที่ร่วมกับการใช้ขั้วตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าที่มีลักษณะคล้ายเข็มเล็ก ๆ สอดผ่านผิวหนังของผู้ป่วยเข้าไปยังกล้ามเนื้อ

การรักษากระดูกสันหลังเสื่อม

หากพบว่ามีอาการ ผู้ป่วยสามารถรักษาตนเองในเบื้องต้นได้ ยกตัวอย่างเช่น การประคบร้อนหรือประคบเย็นบริเวณที่ปวด และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้นได้เช่นกัน หากยังไม่ดีขึ้น อาจใช้ยาช่วยแต่ยาบางชนิดอาจส่งผลต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคหัวใจหรือผู้ที่เคยมีแผลในกระเพาะอาหาร ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ได้ หรือหากรักษาด้วยยาไม่ได้ผล แนะนำให้ลองวิธีอื่นเช่นการทำกายภาพบำบัด การฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลัง หรือแม้แต่การผ่าตัด แต่การผ่าตัดเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง เพราะมีผลข้างเคียงในหลาย ๆ ด้าน ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อน วิธีการรักษาต่างๆ มีดังนี้

  • รักษาด้วยยาในกลุ่มต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) ซึ่งเป็นยาแก้ปวดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดต่ออาการกระดูกสันหลังเสื่อม และยาทั่วไปที่ใช้กันได้แก่ ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และนาพรอกเซน (Naproxen)
  • ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นยาที่ใช้ลดการปวด หาซื้อได้ทั่วไปโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ แต่หากไม่ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างถูกต้องอาจส่งผลเสียต่อตับได้
  • รักษาด้วยยาตามใบสั่งแพทย์
  • การทำกายภาพบำบัดช่วยให้ผู้ป่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวและความแข็งแรง บางกรณีนักกายภาพบำบัดอาจใช้วิธียืดกระดูกสันหลังที่กดทับเส้นประสาท ให้มีช่องระหว่างกระดูกสันหลังมากขึ้น เพื่อช่วยลดอาการปวดของผู้ป่วยลง
  • การฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลังช่วยลดอาการปวดและแผลที่อักเสบบริเวณหมอนรองกระดูกสันหลัง
  • การผ่าตัดมีหลายประเภท เช่น การผ่าตัดเชื่อมข้อต่อกระดูกสันหลังหรือการผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกสันหลังเทียม แพทย์มักแนะนำวิธีรักษาด้วยการผ่าตัดให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทที่รุนแรง เช่น ผู้ป่วยมีอาการแสดงออกของเส้นประสาทถูกกดทับได้แก่ กล้ามเนื้อขาลีบ ชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือระบบควบคุมการขับถ่ายสูญเสียไป นอกจากนี้ การผ่าตัดจะถูกนำมาพิจารณาก็ต่อเมื่อการรักษาโดยวิธีอื่น ๆ นั้นใช้ไม่ได้ผล ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง ทั้งนี้การผ่าตัดอาจจะช่วยป้องกันอาการไม่ให้แย่ลง แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

ภาวะแทรกซ้อนของกระดูกสันหลังเสื่อม

เมื่อกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ขึ้นได้ เช่น

  • การกดทับไขสันหลังบริเวณคอ
  • แผลกดทับ
  • ปอดติดเชื้อเป็น ๆ หาย ๆ
  • การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเป็น ๆ หาย ๆ
  • อัมพาตครึ่งล่าง
  • อัมพาตแขนขาสองข้าง

และหากกระดูกสันหลังบั้นเอวเสื่อมอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้

เมื่อช่องไขสันหลัง (Neuroforamen) ลดลงเหลือน้อยกว่า 30% จากปกติจะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการที่กระดูกสันหลังงอกออกมากดทับเส้นประสาท ที่แย่กว่านั้นคืออาการโพรงกระดูกสันหลังตีบและอาการหลอดเลือดแดงเอออร์ตาโป่งพองอาจเกิดขึ้นได้ และยังมีภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลให้กระดูกสันหลังเอวข้อที่ 4 กดทับลำไส้เล็กตอนต้นอีกด้วย

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดกระดูกสันหลังเสื่อม มีดังนี้

  • อาการแทรกซ้อนจากการใช้ยาชา ซึ่งมีโอกาสได้เกิดขึ้นได้น้อยมาก เช่น หัวใจวาย มีลิ่มเลือดในปอด (Pulmonary Embolism) หรืออาการแพ้อย่างรุนแรง
  • อาการแผลติดเชื้อหลังการผ่าตัด อาการนี้ไม่ค่อยร้ายแรงและรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ
  • เส้นประสาทถูกทำลาย ซึ่งมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดขึ้น แต่ผลข้างเคียงนี้ก็ส่งผลให้ร่างกายไร้ความรู้สึกหรือเป็นเหน็บชาแบบถาวรได้
  • อัมพาต อาจเกิดขึ้นได้หากเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาทไขสันหลังถูกทำลายหรือมีเลือดออกในช่องไขสันหลังหลังจากการผ่าตัด

การป้องกันกระดูกสันหลังเสื่อม

เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่มักต้องเผชิญกับอาการปวดหลังและคอ แต่สามารถป้องกันกระดูกสันหลังเสื่อมด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • นั่งในท่าที่ดี ควรนั่งตัวตรง มีหมอนหรือเบาะรองระหว่างหลังเก้าอี้เพื่อรองรับส่วนบั้นเอว เท้าทั้งสองข้างแตะพื้นพอดี โดยการวางข้อศอกสองข้างบนโต๊ะจะช่วยลดอาการตึงบริเวณบ่าและคอหากต้องพิมพ์งานเป็นเวลานาน ๆ ได้
  • จัดให้คอมพิวเตอร์สูงพอดีในระยะสายตา ช่วยให้สายตาของคุณมองต่ำลงมาเป็นมุม 15-20 องศา เพื่อลดอาการตึงบริเวณคอ
  • พักการใช้คอมพิวเตอร์เป็นระยะ ๆ ผลัดนั่งตัวตรงเป็นเวลา 10-15นาที แล้วลุกขึ้นเดิน ยืดเส้นยืดสายบ้าง
  • ออกกำลังกายโดยใช้ท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อและท่าเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง
  • หลีกเลี่ยงการก้ม ๆ เงย ๆ
  • ไม่นั่งหรือทำกิจกรรมที่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนาน ๆ
  • ไม่ยกของหนัก (อาจหาคนช่วยหรือใช้เครื่องผ่อนแรง)
  • ระมัดระวังไม่ให้หลังได้รับการกระทบกระเทือนหรืออุบัติเหตุ