ไตบวมน้ำ (Hydronephrosis)

ความหมาย ไตบวมน้ำ (Hydronephrosis)

ไตบวมน้ำ (Hydronephrosis) เป็นภาวะที่ไตมีสารน้ำคั่งอยู่จนเกิดอาการบวมเนื่องจากระบบทางเดินปัสสาวะเกิดการอุดตันหรือทำงานผิดปกติ โดยอาจเกิดขึ้นเฉพาะไตข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาจเกิดขึ้นทั้งสองข้าง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติบางอย่าง เช่น ปวดหลัง ปวดบั้นเอว ปัสสาวะเป็นเลือด มีไข้ หรือรู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ 

ไตบวมน้ำเป็นภาวะที่สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ทั้งผู้ใหญ่ เด็ก และทารกในครรภ์ หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ ภาวะไตบวมน้ำมักไม่ส่งผลเสียใด ๆ ต่อร่างกายในระยะยาว แต่หากผู้ป่วยไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาหรือปล่อยอาการทิ้งไว้นานเกินไป ภาวะไตบวมน้ำอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการทำงานของไตอย่างถาวรได้

ไตบวมน้ำ (Hydronephrosis)

อาการไตบวมน้ำ

ภาวะไตบวมน้ำเป็นภาวะที่เป็นผลมาจากโรคหรือภาวะผิดปกติอื่น ๆ ผู้ที่มีภาวะไตบวมน้ำจึงอาจพบอาการที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน ซึ่งลักษณะอาการอาจเกิดขึ้นได้ทั้งอย่างฉับพลันหรือแย่ลงอย่างช้า ๆ โดยอาการที่มักพบ เช่น

  • ปวดหลังหรือปวดบั้นเอว และอาการจะยิ่งแย่ลงเมื่อดื่มน้ำมาก ๆ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • อาการเกี่ยวกับปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อยขึ้น รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ ปริมาณน้ำปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะไม่สุดหรือรู้สึกว่ามีปัสสาวะค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ กลั้นปัสสาวะไม่ได้ 
  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
  • มีไข้

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่บางคนอาจพบอาการผิดปกติในลักษณะข้างต้น ผู้ที่มีภาวะไตบวมน้ำบางคนอาจไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ โดยเฉพาะในเด็ก แต่เนื่องจากภาวะไตบวมน้ำอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ ดังนั้น ผู้ที่พบอาการในลักษณะข้างต้นหรือเริ่มสังเกตพบอาการผิดปกติ เช่น ไข้ขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งในกรณีเด็กและผู้ใหญ่ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ

สาเหตุของไตบวมน้ำ

โดยปกติแล้วระบบทางเดินปัสสาวะของร่างกาย ซึ่งประกอบไปด้วยไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ จะมีหน้าที่หลักในการกำจัดของเหลวส่วนเกินและของเสียออกจากร่างกาย แต่เมื่อกลไกการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะทำงานผิดปกติไป เช่น เกิดการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ อาจส่งผลให้น้ำปัสสาวะไม่สามารถระบายออกนอกร่างกายได้ ซึ่งจะทำให้สารน้ำและของเสียคั่งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ท่อไต หรือไหลย้อนกลับจนนำไปสู่ภาวะไตบวมน้ำได้

โดยภาวะดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ทราบสาเหตุ หรืออาจมีสาเหตุมาจากโรคหรือภาวะผิดปกติบางอย่าง เช่น

  • นิ่วในไต ก้อนนิ่วอาจอุดตันอยู่ในไต หรือบริเวณอื่น ๆ ของระบบทางเดินปัสสาวะได้
  • มะเร็งบางชนิดอาจส่งผลให้เกิดการอุดตัน หรือขัดขวางทางเดินของน้ำปัสสาวะได้ เช่น มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งรังไข่ 
  • โรคต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia) ต่อมลูกหมากที่โตผิดปกติอาจไปเบียดท่อปัสสาวะจนส่งผลให้น้ำปัสสาวะไหลติดขัด
  • การตั้งครรภ์ มดลูกที่ขยายตัวในช่วงตั้งครรภ์อาจไปกดทับท่อไตจนส่งผลให้น้ำปัสสาวะไหลลำบาก
  • ทางเดินปัสสาวะตีบตัน โดยอาจเป็นผลมาจากการติดเชื้อ การผ่าตัด อาการบาดเจ็บ หรืออาจเป็นโดยกำเนิด
  • อวัยวะบริเวณอุ้งเชิงกรานหย่อน เช่น ภาวะกระเพาะปัสสาวะหย่อน หรือภาวะมดลูกหย่อน 
  • ความผิดปกติทางเส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อที่ส่งผลกระทบต่อไตหรือท่อไต
  • สาเหตุอื่น ๆ เช่น ถุงน้ำในรังไข่ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในไตหรือท่อไต ภาวะปัสสาวะไม่ออก โรคเบาหวาน ภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับ หรือภาวะส่วนปลายสุดของท่อไตที่เชื่อมกับกระเพาะปัสสาวะบวมผิดปกติ (Uterocele) 

สำหรับกรณีทารกในครรภ์ นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว ภาวะไตบวมน้ำยังอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่น เช่น การที่ร่างกายของทารกผลิตน้ำปัสสาวะมากขึ้นในช่วงใกล้คลอด หรืออาจเป็นผลมาจากการที่ท่อไตของทารกอยู่ผิดตำแหน่งตั้งแต่เกิด 

การวินิจฉัยไตบวมน้ำ

ในการวินิจฉัยภาวะไตบวมน้ำ แพทย์จะสอบถามประวัติและอาการผิดปกติต่าง ๆ ของผู้ป่วย และตรวจร่างกายทั่วไป โดยเฉพาะการคลำบริเวณไตและกระเพาะปัสสาวะ ร่วมกับการใช้วิธีตรวจทางการแพทย์อื่นเพิ่มเติมเพื่อหาสัญญาณของภาวะไตบวมน้ำ เช่น 

  • กรณีผู้ชาย แพทย์อาจสอดนิ้วผ่านทางทวารหนักเพื่อตรวจดูขนาดของต่อมลูกหมาก (Rectal Exam) 
  • กรณีผู้หญิง แพทย์อาจใช้วิธีตรวจภายใน (Pelvic Exam) เพื่อตรวจดูความผิดปกติของมดลูกและรังไข่
  • การตรวจเลือด เพื่อตรวจดูการทำงานของไต หรือตรวจหาสัญญาณการติดเชื้อของร่างกาย
  • การตรวจปัสสาวะ แพทย์อาจตรวจปัสสาวะเพื่อหาความผิดปกติบางอย่าง เช่น การติดเชื้อของร่างกาย หรือนิ่วในปัสสาวะ 
  • การใช้ภาพวินิจฉัย แพทย์อาจใช้วิธีอัลตราซาวด์หรือเอกซเรย์ร่วมกับการฉีดสี เพื่อช่วยให้แพทย์เห็นภาพการทำงานและความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ ในบางกรณีแพทย์อาจใช้วิธีซีทีสแกน (CT Scan) หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) ร่วมด้วย

การรักษาไตบวมน้ำ

ในการรักษาภาวะไตบวมน้ำ แพทย์จะรักษาผู้ป่วยแต่ละคนแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรง เช่น

  • โรคก้อนนิ่วในไต แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาโรคก้อนนิ่วในไตที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน โดยวิธีที่แพทย์มักใช้จะเป็นการใช้คลื่นเสียงสลายก้อนนิ่ว (Shock Wave Lithotripsy) หรือการผ่าตัดในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่เกินไป 
  • มะเร็ง วิธีการรักษามะเร็งที่แพทย์มักใช้ เช่น เคมีบำบัดหรือคีโม รังสีรักษา หรือการผ่าตัด 
  • ต่อมลูกหมากโต ในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาตามความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน เช่น การใช้ยา หรือการผ่าตัดนำต่อมลูกหมากบางส่วนออก 
  • การติดเชื้อ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง แพทย์อาจเพียงให้ยาบางชนิดและนัดตรวจเพิ่มเติมเป็นระยะ ๆ หรือในกรณีผู้ป่วยตั้งครรภ์ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักหายได้เองในระยะเวลา 2–3 สัปดาห์หลังจากคลอดบุตร แพทย์อาจไม่จำเป็นต้องรักษา และเพียงติดตามอาการเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดสอดสายยางเพื่อระบายน้ำปัสสาวะในไตของผู้ป่วย โดยอาจระบายผ่านทางท่อปัสสาวะ หรือผ่านทางไตโดยตรง ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน

ภาวะแทรกซ้อนของไตบวมน้ำ  

โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ มักไม่พบภาวะแทรกซ้อนรุนแรง แต่อาจพบอาการปัสสาวะมากผิดปกติหลังการรักษา ในบางกรณี ภาวะไตบวมน้ำอาจส่งผลให้ผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งสามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอื่น เช่น ภาวะกรวยไตอักเสบ หรือการติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis) 

โดยการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการผิดปกติบางอย่าง เช่น ปัสสาวะขุ่น รู้สึกเจ็บแสบขณะปัสสาวะ น้ำปัสสาวะไหลเบา ปวดหลัง รู้สึกปวดบริเวณกระเพาะปัสสาวะ หนาวสั่น หรือไข้ขึ้น

ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา ภาวะไตบวมน้ำอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาวได้ เช่น ภาวะไตวาย (Kidney Failure) 

การป้องกันไตบวมน้ำ

เนื่องจากภาวะไตบวมน้ำเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางกรณีอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ การป้องกันจึงอาจทำได้ยาก แต่ในเบื้องต้นอาจลดความเสี่ยงได้โดยการป้องกันตัวเองจากโรคหรือปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่ภาวะไตบวมน้ำ เช่น ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวันและหลีกเลี่ยงการบริโภคเกลือมากเกินพอดีเพื่อป้องกันการเกิดนิ่วในไต 

นอกจากนี้ ควรหมั่นสังเกตอาการตัวเองอยู่เสมอ หากพบอาการผิดปกติใด ๆ หรือกำลังป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด