โรคไฟลามทุ่ง

ความหมาย โรคไฟลามทุ่ง

โรคไฟลามทุ่ง (Erysipelas) คือ โรคทางผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียอย่างรุนแรงในชั้นหนังแท้ (Dermis) ส่วนที่อยู่ตื้น ๆ และท่อน้ำเหลืองใกล้เคียง ซึ่งก่อให้เกิดผื่นแดง อักเสบบวมแดงตามผิวหนัง อาการมักลุกลามอย่างรวดเร็วคล้ายไฟลามทุ่งจึงเป็นที่มาของชื่อโรค และยังจัดเป็นประเภทหนึ่งของโรคเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า  

566 ErysipelasRe

อาการของโรคไฟลามทุ่ง

ผิวหนังบริเวณที่เกิดการติดเชื้อจะอักเสบ เป็นผื่นหรือปื้นแดง มีขอบนูนแยกออกจากผิวหนังปกติอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเวลาที่สัมผัสโดนผิวหนังบริเวณนั้นจะก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด บวมแดง และแสบร้อน ผิวหนังจะมีลักษณะคล้ายผิวเปลือกส้มหรืออาจมีเลือดออกใต้ผิวหนัง ทำให้เป็นรอยจ้ำเขียว

การอักเสบของผิวหนังมักเกิดขึ้นตามแขนขาท่อนล่าง แต่บางรายก็พบผื่นแดงบริเวณใบหน้า ซึ่งมักจะลามออกไปทั่วแก้มและจมูกอย่างรวดเร็ว หรือพบว่าผิวหนังบริเวณนั้นเกิดเป็นเส้นสีแดง เนื่องจากมีการอักเสบของท่อน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียง ผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจเกิดแผลพุผอง มีน้ำหนอง หรือเนื้อเยื่อตายบางส่วน นอกจากนี้ ยังพบอาการอื่น ๆ ในระหว่างที่เกิดการอักเสบของผิวหนัง เช่น มีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว รู้สึกไม่สบายตัว หนาวสั่น

สาเหตุของโรคไฟลามทุ่ง

โรคไฟลามทุ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เบตา เฮโมไลติก สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (Group A Beta-Hemolytic Streptococcus) ซึ่งโดยปกติแบคทีเรียชนิดนี้อาศัยอยู่บริเวณผิวหนังของคนเราและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่เมื่อผิวหนังได้รับความเสียหาย เช่น เกิดบาดแผลหรือรอยแตกที่ผิวหนัง รอยแมลงกัด โรคผิวหนังที่ส่งผลให้เกิดรอยแยกบนผิวหนังอย่างโรคน้ำกัดเท้า โรคสะเก็ดเงิน หรือผื่นผิวหนังอักเสบ แผลพุพอง จึงทำให้แบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายและก่อให้เกิดการติดเชื้อตามมา

อย่างไรก็ตาม ในบางรายอาจได้รับเชื้อหรือติดเชื้อจากทางอื่นเข้าสู่ร่างกาย เช่น ได้รับเชื้อผ่านทางระบบทางเดินหายใจจากการติดเชื้อที่จมูกหรือลำคอ เชื้อเข้าสู่บาดแผลในขณะการผ่าตัด แมลงกัด อาการขาบวมที่เป็นผลมาจากภาวะหัวใจล้มเหลว โรคเบาหวาน หรือปัญหาด้านสุขภาพอื่น ๆ การฉีดสารเสพติดอย่างเฮโรอีนเข้าสู่ร่างกาย

นอกจากนี้ บุคคลบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ได้ง่ายหรือมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป ได้แก่

  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะเด็กอายุ 2-6 ปี และผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป)
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต
  • ผู้ที่ใช้ยาซึ่งมีฤทธิ์กดระบบภูมิต้านทานของร่างกาย เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) รวมทั้งยาสำหรับผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (Peripheral Arterial Disease: PAD) โรคหลอดเลือดดําตีบและอักเสบ

การวินิจฉัยโรคไฟลามทุ่ง

โดยทั่วไปแพทย์จะวินิจฉัยโรคได้ทันทีจากการตรวจร่างกาย โดยเฉพาะอาการผิดปกติที่พบตามผิวหนัง เช่น ลักษณะผื่น อาการบวมแดง หรืออาการแสบร้อน ควบคู่กับประวัติทางการแพทย์และประวัติการบาดเจ็บ ซึ่งอาจทำให้ทราบสาเหตุการติดเชื้อ

เนื่องจากการติดเชื้ออาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ในบางรายเมื่อแพทย์คาดว่าติดเชื้อโรคชนิดอื่น  อาจต้องตรวจเพิ่มเติม เช่น

  • นำตัวอย่างของเหลวจากแผลหรือเชื้อโรคจากบริเวณผิวหนังไปตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ
  • การตรวจสารเคมีและองค์ประกอบในเลือด เช่น การนับจำนวนเม็ดเลือดขาว การตรวจหาระดับ C-Reactive Protein: CRP ซึ่งเป็นโปรตีนที่สร้างขึ้นเมื่อร่างกายเกิดการอักเสบ การเพาะเชื้อจากเลือด (Blood Culture)
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เช่น เอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging: MRI) หรือซีที สแกน  (Computerized Tomography Scan: CT-Scan) ในกรณีที่การติดเชื้อมีความรุนแรงและกินลึกลงในชั้นผิวหนัง

การรักษาโรคไฟลามทุ่ง

โรคไฟลามทุ่งรักษาให้หายขาดได้ ส่วนใหญ่เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการผู้ป่วย โดยแพทย์จะพิจารณาจากความรุนแรงของโรค บางรายที่อาการไม่รุนแรงรักษาและบรรเทาอาการได้จากที่บ้าน ส่วนในผู้ป่วยที่อาการรุนแรงอาจต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล โดยรักษาด้วยการฉีดยาปฏิชีวนะและเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด การเกิดเนื้อตาย ซึ่งต้องรับการรักษาโดยการผ่าตัด

การรักษาตัวที่บ้าน

หากเป็นการรักษาตัวอยู่ที่บ้าน แพทย์มักแนะนำให้จำกัดการเคลื่อนไหวบริเวณที่เกิดการติดเชื้อ ดื่มน้ำมาก ๆ รับประทานยาแก้ปวด และพยายามลดอาการบวมในบริเวณที่เกิดการติดเชื้อ เช่น ผู้ป่วยที่เกิดการติดเชื้อที่ขาควรจำกัดการเดินให้น้อยลง อาจมีการลุกเดินเป็นครั้งคราว ในขณะที่นั่งหรือนอนควรยกขาให้สูงกว่าสะโพก ใช้ผ้ารัดขา เพื่อไม่ให้ขาบวมมากขึ้น เมื่อมีอาการปวดมากให้ประคบเย็นบริเวณที่เกิดอาการหรือรับประทานยาแก้ปวด ส่วนแผลเปิดควรล้างและทำแผลเป็นประจำ รวมไปถึงรักษาความสะอาดของแผล

การรักษาด้วยยา

เป็นการรักษาพื้นฐานโดยทั่วไป แพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลิน (Penicillin)ให้ผู้ป่วยที่มีอาการอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งระยะเวลาการใช้ยาจะอยู่ประมาณ 10-14 วันตามความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยอาจรักษาตัวที่บ้านโดยรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น รับประทานยาแก้ปวดหรือยาลดไข้ เพื่อช่วยลดไข้และบรรเทาความรู้สึกไม่สบายตัว

หากการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะไม่ได้ผลดี แพทย์อาจเปลี่ยนวิธีการให้ยาหรือเปลี่ยนชนิดของยาเป็นประเภทอื่น เช่น เปลี่ยนจากการรับประทานยาปฏิชีวนะเป็นการฉีดยาปฏิชีวนะเข้าทางหลอดเลือดดำ หรือใช้ยาต้านเชื้อราในผู้ที่มีสาเหตุของโรคมาจากโรคน้ำกัดเท้า ส่วนในรายที่มีอาการแพ้ยาเพนิซิลลิน แพทย์อาจใช้ยาอีริโธรมัยซิน (Erythromycin) ยาร็อกซิโทรมัยซิน (Roxithromycin) หรือยาปริสตินามัยซิน (Pristinamycin) ทดแทน

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อรับยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือด โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ และแพทย์อาจให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ หากผู้ป่วยดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารได้น้อย

การผ่าตัด

เป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยที่อาการแย่ลงอย่างรวดเร็วและตัวโรคทำให้เกิดเนื้อเยื่อตาย โดยแพทย์จะผ่าเอาเนื้อเยื่อที่ตายออกบางส่วน

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไฟลามทุ่ง

โรคไฟลามทุ่งพบภาวะแทรกซ้อนได้น้อย แต่ผู้ป่วยที่ปล่อยให้มีอาการเรื้อรังอาจทำให้เกิดเนื้อตายเน่าบริเวณที่มีการติดเชื้อ การอักเสบเฉียบพลันของหลอดเลือดดำจนเกิดลิ่มเลือดและอุดตัน (Thrombophlebitis) ขาบวมเรื้อรัง หรือเชื้อกระจายเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้โลหิตเป็นพิษ (Septicemia/Bacteremia) และก่อให้เกิดการติดเชื้อตามอวัยวะอื่น ๆ ตามมา เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะติดเชื้อของเยื่อบุหัวใจ (Infective Endocarditis) ข้ออักเสบติดเชื้อ การติดเชื้อที่ถุงน้ำลดการเสียดสี (Bursa) เอ็นอักเสบ การอักเสบของกรวยกรองไต (Post-Streptococcal Glomerulonephritis) โรคหลอดเลือดดำสมองอุดตัน (Cavernous Sinus Thrombosis) หรือภาวะที่พบได้น้อยอย่างกลุ่มอาการ Streptococcal Toxic Shock Syndrome เมื่อเกิดการติดเชื้อในบริเวณใกล้เคียงกับสมอง

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วย 1 ใน 3 รายอาจกลับมาเป็นโรคนี้ได้ใหม่เมื่อมีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอยู่เป็นประจำหรือเกิดความผิดปกติกับท่อน้ำเหลือง ทำให้การระบายของเสียออกจากร่างกายไม่ดี   

การป้องกันโรคไฟลามทุ่ง

โรคไฟลามทุ่งยังไม่สามารถป้องกันได้เต็มประสิทธิภาพ แต่หลีกเลี่ยงโอกาสในการเกิดโรคได้ตามคำแนะนำ ดังนี้

  • ผู้ที่เกิดบาดแผลตามร่างกายควรล้างแผลอย่างสม่ำเสมอและรักษาบาดแผลให้สะอาด
  • ทาครีมบำรุงผิวเป็นประจำ เพื่อป้องกันผิวแห้งและแตก
  • ไม่ควรเกาผิวหนังแรง ๆ รวมไปถึงขูดหรือแกะผิวหนังเมื่อเกิดแผล
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือโรคผิวหนัง เช่น โรคหลอดเลือดส่วนปลาย (Peripheral Artery Disease: PAD) โรคน้ำกัดเท้า ผิวหนังอักเสบ โรคเบาหวาน ควรรักษาโรคให้หายขาดหรือควบคุมโรคอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ
  • เมื่อเกิดความผิดปกติหรือการติดเชื้อที่ผิวหนัง ควรไปพบแพทย์ เพื่อรักษาให้หายขาดและป้องกันเชื้อกระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายจนเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา