โรคบรูเซลโลซิส (Brucellosis)

ความหมาย โรคบรูเซลโลซิส (Brucellosis)

Brucellosis หรือโรคบรูเซลโลซิส เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่แพร่กระจายจากสัตว์สู่คน โดยเฉพาะจากวัว ควาย หมู แพะ หรือสุนัขล่าเนื้อ หรือมักพบหลังรับประทานเนื้อสัตว์ดิบหรือผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ รวมถึงสูดดมเชื้อแบคทีเรียที่ปะปนในอากาศหรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งของสัตว์ที่ติดเชื้อ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการไข้ ปวดข้อต่อ และอ่อนเพลีย 

ผู้ป่วยโรค Brucellosis ในปัจจุบันพบได้ค่อนข้างน้อย แต่อาจมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น การรักษามักจะเป็นการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งอาจกินเวลานานหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน และอาจกลับมาเป็นซ้ำได้

โรคบรูเซลโลซิส (Brucellosis)

อาการของ Brucellosis

เมื่อเกิดการติดเชื้อต้นเหตุ Brucellosis อาการของโรคอาจแสดงออกมาภายใน 5–60 วัน โดยในระยะแรกมักพบอาการคล้ายไข้หวัด ร่วมกับอาการอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อแบคทีเรียก่อโรค เช่น มีไข้ หนาวสั่น ไม่อยากอาหาร น้ำหนักตัวลดลง มีเหงื่อออกมาก อ่อนแรง เหนื่อยล้า ปวดตามข้อต่อ กล้ามเนื้อ และหลัง ปวดศีรษะ ปวดท้อง ไอ อาเจียน ท้องเสีย หรือเกิดอาการบวมหรือฝีที่อวัยวะบางส่วน เป็นต้น

ในกรณีที่ไม่ได้รับการรักษาจะก่อให้เกิดการติดเชื้อ เช่น อ่อนเพลีย มีไข้เป็น ๆ หาย ๆ ข้ออักเสบ หัวใจอักเสบ ข้อกระดูกสันหลังอักเสบ อาการบวมบริเวณอัณฑะและถุงอัณฑะในผู้ป่วยชาย ตับ หรือม้ามโต อาการทางระบบประสาท หรือซึมเศร้า ผู้ป่วยบางรายอาจมีบางอาการคงอยู่เป็นเวลานานแม้จะได้รับการรักษาแล้วก็ตาม

หากสงสัยว่าตนเองมีอาการเข้าข่ายโรค Brucellosis โดยเฉพาะมีอาการไข้ขึ้นอย่างรวดเร็ว ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียผิดปกติ หรือมีไข้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ร่วมกับมีความเสี่ยงต่อโรคนี้ เช่น ทำงานในปศุสัตว์ สัมผัสกับสัตว์ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด 

สาเหตุของ Brucellosis

โรคบรูเซลโลซิสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบรูเซลลา (ฺBrucella) ที่พบมากในวัว ควาย หมู แกะ แพะ และสุนัขที่ใช้ล่าเนื้อ สามารถแพร่กระจายไปสู่คนได้และน้อยมากที่จะแพร่เชื้อจากคนสู่คน โดยสายพันธุ์ที่พบในคนส่วนใหญ่จะมีด้วยกัน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ B. abortus จากวัวและควาย B. melitensis จากแพะและแกะ B. suis จากหมู และ B. canis จากสุนัข 

โดยผู้ป่วยอาจได้รับเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายจากหลายทาง ได้แก่

  • การรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย เช่น เนื้อสัตว์ดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ น้ำนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมที่ยังไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์หรือการฆ่าเชื้อโรค เช่น ชีส เนย และไอศกรีม 
  • การสูดดมเชื้อโรคที่ปะปนอยู่ในอากาศเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ หรือห้องปฏิบัติการ 
  • การสัมผัสกับเนื้อเยื่อและสารคัดหลั่งของสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น เลือด น้ำอสุจิ หรือรกสัตว์ โดยเชื้อแบคทีเรียจะเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางบาดแผล รอยขีดข่วนบริเวณผิวหนัง หรือเยื่อบุตาและปาก สำหรับการสัมผัสหรือเล่นกับสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัข จะพบการแพร่เชื้อได้น้อยมาก 
  • สตรีมีครรภ์หรือสตรีที่ให้นมบุตรอาจส่งผ่านเชื้อโรคไปสู่ทารกในครรภ์หรือทารกแรกเกิด แต่พบได้น้อยมาก เช่นเดียวกับการแพร่กระจายเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การได้รับเลือด หรือการปลูกถ่ายไขกระดูก 

นอกจากนี้ บางอาชีพที่คลุกคลีหรือทำงานกับสัตว์ที่เป็นพาหะอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป เช่น สัตวแพทย์ เกษตกรผู้เลี้ยงโคนม คนงานในฟาร์มสัตว์ หรือคนงานโรงฆ่าสัตว์ จึงจำเป็นต้องอาศัยความระมัดระวังและป้องกันตัวเองอยู่เสมอ

การวินิจฉัย Brucellosis

แพทย์จะพิจารณาหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น อาการที่เกิดขึ้นและความเสี่ยงของการได้รับเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ จากนั้นจะตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคหรือหาสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนจาก Brucellosis เช่น

  • ตรวจเลือด เพื่อหาการติดเชื้อในร่างกายหรือแอนติบอดีซึ่งเป็นภูมิต้านทานต่อเชื้อแบคทีเรียก่อโรค รวมถึงจำแนกสายพันธุ์ของเชื้อแบคทีเรียที่พบในร่างกาย  
  • ตรวจเอกซเรย์กระดูกและข้อต่อ เพื่อหาความผิดปกติในบริเวณดังกล่าว 
  • ตรวจด้วยการสร้างภาพถ่ายอย่าง CT Scan หรือ MRI Scan จะช่วยให้แพทย์มองเห็นอาการอักเสบ ฝีในสมองและเนื้อเยื่อตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย
  • ตรวจน้ำไขสันหลัง จะช่วยบ่งบอกการติดเชื้อในร่างกายบริเวณเยื่อหุ้มสมองและสมอง โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่างน้ำไขสันหลังที่อยู่บริเวณรอบไขสันหลังและสมองไปส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ   
  • ตรวจคลื่นเสียงหัวใจ (Echocardiography) จะช่วยจำลองภาพของหัวใจ ซึ่งมีประโยชน์ในการหาตำแหน่งของการติดเชื้อหรือความเสียหายต่อหัวใจ

การรักษา Brucellosis

โรค Brucellosis รักษาและบรรเทาอาการได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะภายใต้คำสั่งของแพทย์ และผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาติดต่อกันอย่างน้อย 6 สัปดาห์ โดยตัวอย่างยาที่แพทย์อาจสั่งจ่าย เช่น ยาด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) ยาสเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) หรือยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) เป็นต้น

ทั้งนี้ อาการจากโรค Brucellosis อาจยังคงอยู่นานหลายเดือนแม้ได้รับการรักษาแล้ว แต่หากผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาเร็วหรือภายใน 1 เดือนหลังเริ่มมีอาการก็มีโอกาสหายได้เร็ว

ภาวะแทรกซ้อนของ Brucellosis

โรค Brucellosis ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้แทบทุกส่วนของร่างกาย เช่น การติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ ข้ออักเสบ ลูกอัณฑะอักเสบ ม้ามและตับอักเสบและมีขนาดใหญ่ขึ้น การติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะเยื่อหุ้มสมองอักเสบและสมองอักเสบ และอาจเกิดอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง สำหรับสตรีมีครรภ์อาจประสบปัญหาแท้งบุตร 

การป้องกัน Brucellosis 

ปัจจุบันโรค Brucellosis ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ในเบื้องต้นสามารถป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ดิบหรืออาหารกึ่งสุงกึ่งดิบ น้ำนมและผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์ เพราะไม่เพียงแค่เชื้อบลูเซลลา แต่อาจมีเชื้อก่อโรคอื่นปะปนมาด้วย เช่น ซาลโมเนลลา (Salmonella) และอีโคไล (E. Coli) 

นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องทำงานหรือคลุกคลีอยู่กับสัตว์อย่างวัว ควาย หมู และแพะ ควรสวมถุงมือยาง แว่นป้องกันดวงตา และผ้ากันเปื้อน เพื่อลดการสัมผัสกับตัวสัตว์ ซากสัตว์ เนื้อสัตว์ และสารคัดหลั่งของสัตว์โดยตรง อีกทั้งยังควรล้างมือหรือชำระล้างร่างกายให้สะอาดหลังเสร็จภารกิจที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อแบคทีเรียไปสู่ผู้อื่นและคนในครอบครัว

ในกรณีที่สงสัยว่าตัวเองเข้าข่ายติดเชื้อโรค Brucellosis แม้ไม่อาการใด ๆ แสดงออกมา หรือพบสัตว์มีอาการผิดปกติหรือตาย ควรแจ้งให้แพทย์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่ หรือกรมปศุสัตว์ให้ทราบโดยเร็ว