โพซาโคนาโซล

โพซาโคนาโซล

Posaconazole (โพซาโคนาโซล) เป็นยาที่ใช้รักษาโรคที่เกิดจากเชื้อรา อย่างโรคเชื้อราในปาก และยังใช้เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อราในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำอย่างรุนแรงจากโรคหรือผลข้างเคียงของการรักษา โดยยานี้อาจนำไปใช้รักษาโรคหรือภาวะสุขภาพอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ ยาโพซาโคนาโซลอาจทำปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นได้ และยังอาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ ดังนั้น จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

Posaconazole

เกี่ยวกับยาโพซาโคนาโซล

กลุ่มยา ยาต้านเชื้อรา
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ ใช้รักษาโรคที่เกิดจากเชื้อรา
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ เด็ก
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาฉีด
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิด
ความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์
หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์
ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์

คำเตือนในการใช้ยาโพซาโคนาโซล

ยา Posaconazole มีข้อควรระมัดระวัง ดังนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง หากมีประวัติการแพ้ยา ไม่ว่าจะเป็นยาชนิดนี้หรือยารักษาโรคอื่น ๆ รวมถึงยารักษาโรคจากเชื้อราชนิดอื่น ๆ เช่น โคลไตรมาโซล ฟลูโคนาโซล คีโตโคนาโซล ไมโคนาโซล และโวริโคนาโซล เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งหากมีประวัติการแพ้อาหาร หรือสารใด ๆ เพราะยาโพซาโคนาโซลอาจมีส่วนผสมของสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการรักษาและการผ่าตัดเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อมารับประทานเอง สมุนไพร รวมถึงอาหารเสริมที่ใช้เป็นประจำ โดยเฉพาะยาพิโมไซด์ ควินิดีน ไซโรลิมัส ยาในกลุ่มยาลดคอเลสเตอรอล อย่างยาอะทอร์วาสแตติน โลวาสแตติน ซิมวาสแตติน และยาในกลุ่มเออร์กอต อย่างยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน เออร์โกตามีน ยาขับน้ำ เนื่องจากยาเหล่านี้อาจทำปฏิกิริยากับยาโพซาโคนาโซล ได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีโรคประจำตัวหรือประวัติการรักษา เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคตับ โรคไต อาการท้องร่วง อาเจียน มีเหงื่อออกมากผิดปกติ รวมทั้งผู้ที่ตนเองหรือคนในครอบครัวมีประวัติคลื่นไฟฟ้าหัวใจช่วง QT ยาวผิดปกติ เป็นต้น
  • ยานี้อาจทำให้เวียนศีรษะ จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะและการทำงานที่ใช้เครื่องจักร นอกจากนี้ ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสารอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดอาการมึนเมา
  • การใช้ยานี้ในผู้สูงอายุอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจช่วง QT ยาวผิดปกติมากกว่าคนกลุ่มอื่น
  • ยานี้ไม่อนุญาตให้ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี
  • ยา Posaconazole ในรูปแบบฉีดเข้าเส้นเลือดดำ การฉีดต้องดำเนินการโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายานี้ส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้หรือไม่
  • ผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรหยุดการให้นมบุตรในระหว่างการใช้ยาโพซาโคนาโซล และควรปรึกษาแพทย์หากต้องการใช้ยานี้
  • ในกรณีได้รับยาเกินขนาดและเกิดอาการ อย่างหัวใจเต้นช้า หายใจมีเสียงหวีด หายใจลำบาก หรือเป็นลม ให้โทรเรียกหน่วยพยาบาลฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด

ปริมาณการใช้ยาโพซาโคนาโซล

ปริมาณยาที่ใช้ในการรักษานั้นอาจมีความแตกต่างกันไปตามจุดประสงค์การใช้ จึงควรใช้ยาในปริมาณตามที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงผลในทางลบและเพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้ 

โรคที่เกิดจากเชื้อรา

ตัวอย่างการใช้ยา Posaconazole เพื่อรักษาการติดเชื้อราในกระแสเลือดในผู้ใหญ่มีดังนี้

  • ยาชนิดฉีดเข้าเส้นเลือดดำ วันแรกที่เริ่มใช้ยา ฉีดยาโพซาโคนาโซล 300 มิลลิกรัมเข้าทางหลอดเลือดดำ 2 ครั้ง/วัน ในวันต่อไป ฉีดยา 300 มิลลิกรัมเข้าทางหลอดเลือดดำ 1 ครั้ง/วัน โดยระยะเวลาการรักษาอาจขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำหรือภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ รวมทั้งดุลยพินิจของแพทย์
  • ยาชนิดเม็ด วันแรกที่เริ่มใช้ยา รับประทานยาโพซาโคนาโซล 300 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน ในวันต่อไป รับประทานยา 300 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน โดยระยะเวลาการรักษาอาจขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำหรือภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ รวมทั้งดุลยพินิจของแพทย์
  • ยาชนิดน้ำ รับประทาน 200 มิลลิกรัม 3 ครั้ง/วัน

ตัวอย่างการใช้ยา Posaconazole เพื่อรักษาการติดเชื้อราในกระแสเลือดในเด็กมีดังนี้

  • ยาชนิดเม็ด วันแรกที่เริ่มใช้ยา เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป รับประทานยาโพซาโคนาโซล รูปแบบเม็ด ปริมาณ 300 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน ในวันต่อไป รับประทานยา 1 ครั้ง/วัน โดยระยะเวลาการรักษาอาจขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำหรือภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ รวมทั้งดุลยพินิจของแพทย์
  • ยาชนิดน้ำ รับประทาน 200 มิลลิกรัม 3 ครั้ง/วัน

โรคเชื้อราในปาก

ตัวอย่างการใช้ยา Posaconazole เพื่อรักษาโรคเชื้อราในปาก

ผู้ใหญ่ ในวันแรกที่เริ่มใช้ยา รับประทานยาโพซาโคนาโซลชนิดน้ำ 100 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน ในวันต่อไป รับประทานยา โพซาโคนาโซลชนิดน้ำ 100 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน และใช้ติดต่อกันจนครบ 13 วัน

เด็ก ในวันแรกที่เริ่มใช้ยา เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป รับประทานยาโพซาโคนาโซลชนิดน้ำ 100 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน ในวันต่อไป รับประทานยาโพซาโคนาโซลชนิดน้ำ 100 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน และใช้ติดต่อกันจนครบ 13 วัน

โรคเชื้อราในช่องปากกรณีที่เกิดเชื้อไม่ตอบสนองต่อยาชนิดอื่น

ตัวอย่างการใช้ยา Posaconazoe เพื่อรักษาโรคเชื้อราในช่องปาก ในกรณีที่เชื้อดื้อต่อยาไอทราโคนาโซลหรือยาฟลูโคนาโซล

ผู้ใหญ่ รับประทานยาโพซาโคนาโซลชนิดน้ำ 400 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน โดยระยะเวลาการรักษาอาจขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการรักษาและโรคประจำตัวอื่น ๆ

เด็ก เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป รับประทานยาโพซาโคนาโซลชนิดน้ำ 400 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน โดยระยะเวลาการรักษาอาจขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการรักษาและโรคประจำตัวอื่น ๆ

การใช้ยาโพซาโคนาโซล

ยา Posaconazole โพซาโคนาโซลมีวิธีการใช้และข้อควรรู้ ดังนี้

  • อ่านใบกำกับยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด
  • รับประทานยาในปริมาณที่แพทย์กำหนด ห้ามลดหรือเพิ่มปริมาณยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • รับประทานยาให้ครบตามระยะเวลาการรักษาที่แพทย์กำหนด หากรับประทานไม่ครบตามจำนวนอาจส่งผลให้เชื้อในร่างกายอาจดื้อยาได้
  • ยาโพซาโคนาโซลชนิดเม็ด ควรรับประทานทั้งเม็ดในคราวเดียว ห้ามบด เคี้ยว หรือละลายยา
  • ยาโพซาโคนาโซลชนิดน้ำ ควรเขย่าขวดยาเพื่อให้ยากระจายตัวเสมอกันก่อนการตวงวัดเพื่อรับประทาน
  • ยาโพซาโคนาโซลควรรับประทานร่วมกับมื้ออาหาร หรือการให้สารอาหารผ่านทางหลอดเลือดในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้
  • ยาโพซาโคนาโซลไม่สามารถรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสได้
  • ตรวจเลือดอยู่เป็นประจำ ในช่วงการรักษาด้วยยานี้
  • ในกรณีที่ลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าหากเวลาของการใช้ยาครั้งถัดไปน้อยกว่า 12 ชั่วโมง ให้ข้ามไปใช้ยาครั้งถัดไปโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยา
  • ยา Posaconazole รูปแบบฉีด ควรเก็บไว้ในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส รูปแบบเม็ดควรเก็บไว้ในอุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส และรูปแบบน้ำควรเก็บไว้ในอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ ควรเก็บยาให้ห่างจากความร้อน และห้ามนำยาแช่ช่องแข็ง

ผลข้างเคียงของยาโพซาโคนาโซล

การใช้ยาโพซาโคนาโซลอาจมีผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ปวดท้อง มีปัญหาในการนอนหลับ แร่ธาตุโพแทสเซียมในเลือดต่ำ เป็นต้น แม้ว่าจะเป็นผลข้างเคียงทั่วไป แต่ถ้าหากอาการไม่ทุเลาหรือรุนแรงขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์

ทั้งนี้ หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงหลังจากการใช้ยาโพซาโคนาโซล ดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

  • อาการแพ้ยา เช่น หายใจติดขัด ลมพิษ ใบหน้า ปาก และลำคอบวม เป็นต้น
  • ผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ เหนื่อยล้าโดยไม่ทราบสาเหตุ ตะคริว เท้าบวม หายใจสั้น อ่อนแรง อารมณ์เปลี่ยนแปลง มีไข้ หนาวสั่น เกิดรอยช้ำหรือเลือดออกง่ายกว่าปกติ มีเลือดออกบริเวณช่องคลอด
  • ผลข้างเคียงรุนแรงที่ต้องการการรักษาทันที หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ เวียนศีรษะ หน้ามืดอย่างรุนแรง และหมดสติ
  • ผลข้างเคียงรุนแรงที่พบได้ยากซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทารก ตาเหลือง ตัวเหลือง ซึ่งเป็นอาการของดีซ่าน คลื่นไส้ตลอดเวลา ปัสสาวะสีคล้ำ ปวดท้องอย่างรุนแรง