โปลิโอ

ความหมาย โปลิโอ

โปลิโอ (Poliomyelitis) เป็นโรคติดต่อที่สามารถทำให้เกิดอาการร้ายแรง สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งอาจไปทำลายระบบประสาทจนส่งผลให้ผู้ติดเชื้อมีภาวะอัมพาต หายใจลำบาก หรือถึงแก่ความตายได้ โดยส่วนใหญ่เชื้อโปลิโอจะแพร่กระจายจากคนไปสู่คนผ่านการรับเชื้อที่ถูกขับถ่ายออกมาพร้อมกับอุจจาระเข้าสู่ทางปาก

โปลิโอ

ประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยโรคโปลิโอมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยพบรายสุดท้ายในปี พ.ศ. 2540 แต่เด็กทุกคนยังคงต้องได้การฉีดรับวัคซีนตามมาตรการกวาดล้างโรคโปลิโอร่วมกับนานาประเทศทั่วโลก เนื่องจากโปลิโอเป็นโรคร้ายแรงที่สร้างความสูญเสียทั้งทางด้านร่างกายและเศรษฐกิจ และปัจจุบันประเทศไทยยังจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรค เพราะมีอาณาเขตติดกับประเทศที่มีการระบาดของโรคโปลิโออย่างพม่าและลาวที่เพิ่งพบเชื้อโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนกลายพันธ์ุไปเมื่อปี พ.ศ. 2558

อาการโรคโปลิโอ

ผู้ป่วยโรคโปลิโอสามารถแบ่งกลุ่มตามอาการที่ปรากฏได้ดังนี้

กลุ่มไม่แสดงอาการหรือมีอาการคล้ายโรคหวัด พบได้ถึงประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ ผู้ป่วยจะแสดงอาการเล็กน้อยคล้ายอาการหวัดหรืออาจไม่มีอาการใด ๆ บ่งบอกก็ได้ โดยระหว่างที่ติดเชื้อ ร่างกายสามารถต่อสู้และกำจัดเชื้อออกไปโดยผู้ป่วยยังไม่ทันรู้ตัวว่าเคยได้รับเชื้อโปลิโอด้วยซ้ำ

กลุ่มอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ พบได้ประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ มีอาการคล้ายโรคหวัดร่วมกับอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัสที่อาจคงอยู่ประมาณ 3-21 วันและสามารถหายไปได้เอง โดยอาจแสดงอาการต่อไปนี้

  • เจ็บคอ
  • มีไข้
  • ปวดศีรษะ
  • อาเจียน
  • อ่อนเพลีย
  • อาการปวดหรือเมื่อยบริเวณหลัง คอ หรือตามแขนขา
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง เจ็บ หรือฟกช้ำ
  • อาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่น มึนงง สับสน ปวดศีรษะมาก

กลุ่มอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นการติดเชื้อโปลิโอชนิดที่พบได้เพียงประมาณ 0.4 เปอร์เซ็นต์ แต่มีความรุนแรงที่สุด โดยสามารถแบ่งได้เป็นหลายประเภทขึ้นอยู่กับส่วนของร่างกายที่ได้รับผลกระทบ เช่น โปลิโอไขสันหลัง (Spinal Polio) โปลิโอก้านสมองส่วนท้าย (Bulbar Polio) หรือชนิดที่เกิดขึ้นพร้อมกันอย่างโปลิโอไขสันหลังและก้านสมองส่วนท้าย (Bulbospinal Polio)

อาการเบื้องต้นของโรคโปลิโอในกลุ่มอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงมักปรากฏในลักษณะคล้ายโปลิโอกลุ่มเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ เป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงเริ่มแสดงอาการที่แตกต่างออกไป ดังนี้

  • สูญเสียการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ
  • กล้ามเนื้อหดเกร็งหรือเจ็บปวดอย่างรุนแรง
  • กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรงแบบปวกเปียก บางครั้งมีอาการแย่ลงเพียงข้างใดข้างหนึ่ง
  • ภาวะอัมพาตเฉียบพลันที่อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือถาวร

ทั้งนี้ อาการของโรคในผู้ป่วยกลุ่มอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงมักไม่พัฒนาเป็นภาวะอัมพาตอย่างถาวร โดยพบได้ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ทว่า 5-10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยในกลุ่มอาการนี้มีโอกาสที่ไวรัสจะเข้าจู่โจมกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ช่วยในการหายใจจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ซึ่งส่วนใหญ่พบในเด็กหรือผู้ที่เป็นโปลิโอก้านสมองส่วนท้าย

อาการหลังเกิดโรคโปลิโอ เป็นอาการที่อาจกลับมาเกิดขึ้นกับผู้ที่เคยติดเชื้อโปลิโอในช่วงประมาณ 30-40 ปีหลังจากติดเชื้อครั้งก่อน โดยอาการทั่วไปที่เกิดขึ้นมีดังนี้

  • กล้ามเนื้อหรือข้อต่ออ่อนแรงลงเรื่อย ๆ
  • กล้ามเนื้อหดตัวหรือลีบลง
  • ข้อต่อหดรั้ง
  • กล้ามเนื้อแขนขาผิดรูป โดยเฉพาะบริเวณสะโพก เท้า และข้อเท้า
  • อาการเจ็บกล้ามเนื้อรุนแรงขึ้น
  • อ่อนเพลียหรือเหนื่อยล้าหลังการทำกิจกรรมเล็กน้อย
  • มีปัญหาในการกลืนหรือหายใจ
  • ความผิดปกติของการหายใจที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อบริเวณอื่นเพิ่มขึ้น
  • อดทนต่ออากาศหนาวได้น้อยลง
  • มีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการรับรู้ เช่น ปัญหาด้านสมาธิและความทรงจำ
  • มีภาวะซึมเศร้าหรืออารมณ์แปรปรวน

สาเหตุของโรคโปลิโอ

โรคโปลิโอเกิดจากไวรัสโปลิโอ (Poliovirus) ที่จะอาศัยอยู่แต่ภายในร่างกายของมนุษย์เท่านั้น โดยไวรัสชนิดนี้ติดออกมากับอุจจาระของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโปลิโอ หรือเมื่อไอ จาม และแพร่กระจายผ่านการสัมผัสเชื้อที่ปนเปื้อนมาในอาหารหรือน้ำที่รับประทานเข้าไป นอกจากนี้การสัมผัสกับผู้ป่วยโรคนี้โดยตรงก็มีโอกาสได้รับเชื้อเช่นกัน

ไวรัสโปลิโอจะเดินทางเข้าไปภายในปาก ผ่านลำคอ ลำไส้ แล้วจึงเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้น หรือในบางกรณียังสามารถเข้าสู่กระแสเลือดและแพร่กระจายไปยังระบบประสาทในที่สุด โดยสามารถแพร่กระจายจากผู้ป่วยตั้งแต่ก่อนเริ่มแสดงอาการไปจนถึงหลายสัปดาห์ถัดไป นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการใด ๆ ปรากฏเลยก็ยังสามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อโปลิโอได้

การให้วัคซีนเป็นวิธีช่วยป้องกันโรคโปลิโอ แม้ในประเทศไทยจะไม่พบผู้ป่วยโรคนี้แล้วก็ตาม ผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโปลิโอนั้นจะยิ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อยิ่งขึ้นหากอยู่ในภาวะต่อไปนี้

  • หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และเด็กเล็กซึ่งจะมีความไวต่อการได้รับเชื้อโปลิโอ
  • เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโปลิโอหรือเพิ่งเกิดการระบาดของโรคเมื่อไม่นานมานี้
  • เป็นผู้ดูแลหรืออาศัยอยู่กับผู้ติดเชื้อโรคโปลิโอ
  • ทำงานในห้องปฏิบัติการที่สัมผัสใกล้ชิดกับเชื้อไวรัส
  • ผู้ที่ผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลออกไป
  • มีความเครียดมากเกินหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงหนักหลังมีการสัมผัสกับไวรัส ซึ่งจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแย่ลง

การวินิจฉัยโรคโปลิโอ

แพทย์จะวินิจฉัยโรคโปลิโอด้วยการสอบถามอาการจากผู้ป่วยว่ารู้สึกเจ็บปวดบริเวณหลังและคอ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการกลืนหรือหายใจหรือไม่ ตรวจดูปฏิกิริยาสะท้อนกลับของร่างกาย รวมถึงการตรวจทางน้ำเหลือง โดยเก็บตัวอย่างในช่วงระยะเฉียบพลันและระยะแฝงของโรค ตรวจสารภูมิคุ้มกัน IgM หรือ IgG นอกจากนี้เพื่อยืนยันให้แน่ใจอาจมีการตรวจหาเชื้อไวรัสโปลิโอด้วยการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากลำคอ อุจจาระ หรือน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ

การรักษาโรคโปลิโอ

ปัจจุบันโรคโปลิโอยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แพทย์สามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยตามอาการ เร่งการฟื้นตัวและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้เท่านั้น โดยอาจให้ผู้ป่วยนอนพักผ่อน ให้ยาบรรเทาอาการปวด ให้รับประทานอาหารบำรุงสุขภาพ ออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อสูญเสียการทำงานและผิดรูปร่างไป หรือบางรายอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมด้วย

กรณีที่เกิดปัญหาระยะยาวจากการติดเชื้อโปลิโอ ผู้ป่วยอาจต้องรับการรักษาและการดูแลอย่างต่อเนื่อง อาจมีการทำกายภาพบำบัดเพื่อช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวหรือใช้อุปกรณ์ เช่น เฝือกหรืออุปกรณ์ช่วยพยุงแขนขาที่อ่อนแรง รวมทั้งการให้ทำกิจกรรมบำบัดช่วยปรับการเคลื่อนไหวที่ยากลำบาก และเป็นไปได้ที่จะใช้การผ่าตัดเพื่อแก้ไขข้อต่อที่ผิดรูปร่างไป

อย่างไรก็ตาม อาการหลังการรักษาโรคโปลิโอจะดีขึ้นมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับระดับความเสียหายที่ร่างกายได้รับจากการติดเชื้อไวรัส ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการเพียงเล็กน้อยอาจมีผลการรักษาที่ดี แต่อาการหลังการรักษาอาจแย่ลงได้หากผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการในกลุ่มกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะกรณีที่ความสามารถในการกลืนหรือการหายใจลดลง นอกจากนี้ผู้ป่วยหลายคนยังสามารถพัฒนาไปสู่อาการของโรคโปลิโอในระดับที่รุนแรงกว่าเดิม

ภาวะแทรกซ้อนของโรคโปลิโอ

โรคโปลิโอชนิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้

ภาวะแทรกซ้อนระยะแรกเริ่ม ผู้ป่วยอาจเผชิญภาวะอัมพาตซึ่งมักเกิดขึ้นกับขาเพียงข้างเดียวหรือร่างกายส่วนล่าง อาการอัมพาตที่แขนและขานี้จะพบในผู้ใหญ่ได้มากกว่า และอาจมีอาการร่วมกับกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะและกล้ามเนื้อทางเดินหายใจทำงานผิดปกติ นอกจากนี้ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่ยังเกิดขึ้นในระยะแรกได้เช่นกัน ได้แก่ โรคปอดบวมและการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนระยะหลัง

  • โรคกระดูกพรุนและโรคกระดูกอ่อน (Osteomalacia) ในระยะยาวแขนหรือขาที่ไม่มีการลงน้ำหนักหรือถูกใช้น้อยกว่าจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน ส่วนผู้ป่วยที่ไม่ค่อยออกไปข้างนอกนั้นจะเสี่ยงขาดวิตามินดีและเกิดโรคกระดูกอ่อนตามมา จนอาจทำให้สะโพก เท้า และข้อเท้าผิดรูปร่างไป หรือส่งผลให้ปัญหาเกี่ยวกับกระดูกและข้อต่อที่มีอยู่แล้วยิ่งทรุดลงได้
  • กลุ่มอาการหลังเกิดโปลิโอ โรคโปลิโอแบบเฉียบพลันที่เคยเผชิญมาก่อนอาจกลับมาอีกครั้งในลักษณะของอาการแทรกซ้อนที่ทำให้เกิดความบกพร่องในการทำหน้าที่ของร่างกาย รู้สึกอ่อนเพลีย และมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจได้ ทั้งนี้อาการหลังเกิดโปลิโอนี้สามารถป้องกันหรือบรรเทาให้ดีขึ้นได้ด้วยการใช้อุปกรณ์ช่วยเคลื่อนไหวหรือพยุงร่างกาย หลีกเลี่ยงการใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป และควรหมั่นตรวจรักษาอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นแต่เนิ่น ๆ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ

การป้องกันโรคโปลิโอ

โรคโปลิโอป้องกันได้ด้วยการรับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน โดยมีทั้งชนิดหยอดและชนิดฉีด เดิมประเทศไทยใช้วัคซีนแบบหยอดชนิด 3 สายพันธ์ุ (tOPV) แต่ในเดือนเมษายน ปี 2559 ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้ประกาศยกเลิกให้เปลี่ยนมาใช้วัคซีนหยอดชนิด 2 สายพันธ์ุ (bOPV) ร่วมกับวัคซีนชนิดฉีด (IPV) เช่นเดียวกันกับอีก 155 ประเทศและเขตแดนทั่วโลก เนื่องจากในวัคซีนโปลิโอแบบหยอดชนิด 3 สายพันธ์ุนั้นมีไวรัสโปลิโอชนิดหนึ่งที่มักพบว่ามีการกลายพันธุ์ จึงตัดออกไป

การรับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ ทารกจะต้องรับวัคซีนแบบฉีดเมื่ออายุ 4 เดือน และรับวัคซีนแบบหยอดจนครบ 5 ครั้ง ดังนี้

  • ครั้งที่ 1, 2, 3 เมื่ออายุ 2, 4 และ 6 เดือน
  • ครั้งที่ 4 เมื่ออายุ 1.5 ปี
  • ครั้งที่ 5 เมื่ออายุ 4 ปี

นอกจากนี้ยังควรรับวัคซีนกระตุ้นทุกครั้งเมื่อมีการรณรงค์หรือต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่กระจายของโรค รวมถึงในกรณีที่ในอดีตยังได้รับวัคซีนไม่ครบ หรือครั้งสุดท้ายที่ได้รับวัคซีนผ่านมานานกว่า 10 ปีแล้ว และไม่เพียงแต่การฉีดวัคซีน การป้องกันและยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยควรล้างมือก่อนรับประทานอาหารเป็นประจำ รับประทานแต่อาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ดื่มน้ำสะอาด ถ่ายอุจจาระลงโถส้วม และล้างมือหลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง