โกจิเบอร์รี่กับประโยชน์ด้านสุขภาพ

โกจิเบอร์รี่ (Goji Berry) เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศจีน ลักษณะเป็นไม้พุ่มผลัดใบ ผลมีสีแดงสด อุดมไปด้วยวิตามิน ซี ไฟเบอร์ ธาตุเหล็ก วิตามิน เอ ซิงค์ สารต้านอนุมูลอิสระอื่น ๆ และกรดอะมิโนจำเป็น 8 ชนิดที่ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ได้

โกจิเบอร์รี่

ในทวีปเอเชีย ผู้คนนิยมรับประทานโกจิเบอร์รี่เป็นยาอายุวัฒนะ เพราะเชื่อกันว่าช่วยให้อายุยืนยาว รับประทานผลสดได้ ใช้ประกอบอาหาร แปรรูปเป็นชาสมุนไพร น้ำผลไม้ ไวน์ รวมถึงใช้ทำเป็นยา โดยมักใช้ส่วนของผลที่อบแห้งและเปลือกของราก ซึ่งเชื่อว่ามีฤทธิ์เป็นยารักษาหลายโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง เป็นต้น และช่วยบำรุงสายตา ผ่อนคลายอารมณ์ และช่วยแก้ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ

จากฐานข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการแพทย์ทางธรรมชาติ (Natural Medicines Comprehensive Database) ได้แบ่งระดับความน่าเชื่อถือของการรักษาด้วยทางเลือกจากธรรมชาติเป็น 7 ระดับ คือ ได้ผล (Effective) น่าจะได้ผล (Likely Effective) อาจได้ผล (Possibly Effective) อาจไม่ได้ผล (Possibly Ineffective) น่าจะไม่ได้ผล (Likely Ineffective) ไม่ได้ผล (Ineffective) และยังมีหลักฐานไม่เพียงพอต่อการบ่งบอกประสิทธิภาพ (Insufficient Evidence to Rate) สำหรับคุณสมบัติในการรักษาโรคของโกจิเบอร์รี่ส่วนใหญ่ยังมีหลักฐานไม่เพียงพอต่อการบ่งบอกประสิทธิภาพ โดยมีงานวิจัยที่ศึกษาโกจิเบอร์รี่ต่อประโยชน์ในการรักษาโรคบางส่วนไว้ ดังต่อไปนี้

ปรับปรุงคุณภาพชีวิต การค้นคว้าทางคลินิกเกี่ยวกับคุณสมบัติทางยาของโกจิเบอร์รี่เพียงอย่างเดียวยังมีอยู่น้อย ส่วนใหญ่มักใช้ควบคู่กับสมุนไพรหลายชนิดสำหรับใช้เป็นยารักษาโรค จากการศึกษาประสิทธิภาพของโกจิเบอร์รี่ต่อระบบภูมิคุ้มกัน สุขภาวะ และความปลอดภัยในผู้สูงอายุ 55-72 ปี จำนวน 60 คน โดยให้รับประทานโกจิเบอร์รี่ 120 มิลลิลิตรต่อวัน (เทียบเท่าโกจิเบอร์รี่สด 150 กรัม) เปรียบเทียบกับยาหลอกเป็นเวลาติดต่อกัน 30 วัน ผลพบว่ากลุ่มที่รับประทานโกจิเบอร์รี่มีการตอบสนองทางด้านระบบภูมิคุ้มกันที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก รวมทั้งมีสุขภาวะดีขึ้นหลายเรื่อง เช่น ความจำระยะสั้น สมาธิ อาการเหนื่อย การนอน และยังไม่พบอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ

อีกการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิผลของน้ำโกจิเบอร์รี่ต่อผลทั่วไป เพื่อเปรียบเทียบกับยาหลอกแบบสารละลายในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง จำนวน 34 คน ยังพบว่า การดื่มน้ำโกจิเบอร์รี่ 120 มิลลิลิตรต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน ช่วยให้สุขภาวะด้านต่าง ๆ ดีขึ้น ฟื้นฟูการทำงานของระบบประสาทและจิตใจ รวมถึงการทำงานของระบบทางเดินอาหารให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อช่วยยืนยันผลของโกจิเบอร์รี่ต่อสุขภาพ เนื่องจากเป็นการประเมินผลโดยใช้การตอบแบบสอบถาม แต่ไม่ได้มีการทดลองวัดโดยตรง

โรคมะเร็ง การศึกษาทางคลินิกเดิมเกี่ยวกับการใช้ผลเบอร์รี่โกจิเป็นการรักษาทางเลือกเสริมในผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะแพร่กระจายหลายชนิด จำนวน 79 คน พบว่าการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดร่วมกับสารพอลิแซ็กคาไรด์ในโกจิเบอร์รี่ (Lycium Barbarum Polysaccharides: LBPs) ช่วยชะลอการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง จึงเชื่อว่าโกจิเบอร์รี่อาจมีส่วนช่วยต้านโรคมะเร็งในผู้ป่วย

สอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นเกี่ยวประสิทธิภาพของโกจิเบอร์รี่ต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยให้ผู้ป่วยรับประทานสาร LBPs ขนาด 100-1,000 มิลลิกรัม เป็นระยะเวลา 1-8 วัน ผลพบว่า การรักษาด้วยสาร LBPs ในระยะยาวช่วยยับยั้งกระบวนการเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ งานวิจัยนี้ชี้แนะว่าสารพอลิแซ็กคาไรด์ที่พบในโกจิเบอร์รี่อาจเป็นสารต้านมะเร็งอีกชนิด

ลดน้ำหนัก โกจิเบอร์รี่เชื่อว่าเป็นยาดั้งเดิมที่ช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญและลดน้ำหนักตัว จากการศึกษานำร่องทางคลินิกในเรื่องของโกจิเบอร์รี่ต่ออัตราการเผาผลาญของร่างกายและการเปลี่ยนแปลงของเส้นรอบเอวในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ในระยะเวลา 14 วัน ในการทดลองแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับประทานโกจิเบอร์รี่ ขนาด 30, 60 และ 120 มิลลิลิตรต่อวัน เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ใช้ยาหลอก ผลพบว่าความเข้มข้นของปริมาณสารสกัดที่รับประทานส่งผลต่ออัตราการเผาผลาญพลังงานที่ใช้ไปหลังการรับประทานอาหารแตกต่างกัน โดยกลุ่มที่ได้รับโกจิเบอร์รี่ 120 มิลลิลิตรต่อวันอัตราการเผาผลาญพลังงานที่ใช้ไปหลังการกินอาหารเพิ่มสูงสุด และหลังผ่านไป 14 วัน ยังพบว่าเส้นรอบเอวของผู้เข้าร่วมการทดลองลดลงเช่นกัน ในขณะที่กลุ่มที่ใช้ยาหลอกไม่ค่อยพบความเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัยต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ จำนวน 548 ชิ้น ซึ่งได้ศึกษาประสิทธิภาพของอาหารเสริมจากโกจิเบอร์รี่ต่อความเสี่ยงของโรคทางหัวใจและเมตาบอลิซึม ผลปรากฏว่าอาหารเสริมจากโกจิเบอร์รี่ไม่ส่งผลต่อน้ำหนักตัว ระดับไขมันในเลือด และความดันเลือด แต่พบความเกี่ยวข้องต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งข้อมูลที่พบในข้างต้นทั้งจากการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลของงานวิจัยยังมีความขัดแย้งกัน จึงอาจต้องรอหลักฐานยืนยันผลการค้นคว้าเพิ่มเติมในอนาคต

โรคเบาหวาน จากการศึกษาการใช้สารพอลิแซ็กคาไรด์ในโกจิเบอร์รี่ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 67 คน เพื่อดูระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด โดยกลุ่มแรกให้รับประทานสารพอลิแซ็กคาไรด์ 300 มิลลิกรัมต่อวัน หลังรับประทานข้าวมื้อเย็น และอีกกลุ่มเป็นยาหลอก จากนั้นจึงติดตามผลเป็นเวลา 3 เดือน ผลพบว่าผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงและระดับไขมันชนิดดีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าสารพอลิแซ็กคาไรด์มีประโยชน์ต่อการรักษาโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 อย่างไรก็ตาม ยังเป็นการศึกษากลุ่มทดลองขนาดเล็กและเป็นช่วงระยะเวลาสั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต

บำรุงสายตา ผลเบอร์รี่โกจิอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระปริมาณสูง โดยเฉพาะสารซีแซนทีน ไดปาล์มิเตท (Zeaxanthin Dipalmitate) ซึ่งเป็นสารที่เป็นส่วนประกอบในจอตา จึงเชื่อกันว่าอาจมีคุณสมบัติบำรุงสายตาและลดความเสี่ยงจากโรคเกี่ยวกับดวงตาบางโรคได้

จากการศึกษาผู้เข้าร่วมการทดลองที่มีสุขภาพแข็งแรง จำนวน 14 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม รับประทานอาหารเสริมที่มีโกจิเบอร์รี่เป็นส่วนประกอบวันละ 15 กรัม (มีสารซีแซนทีนประมาณ 3 มิลลิกรัม) เปรียบเทียบกับอีกกลุ่มที่รับประทานอาหารเสริมที่ไม่มีโกจิเบอร์รี่เป็นส่วนประกอบ เป็นระยะเวลา 28 วัน ผลพบว่า การรับประทานโกจิเบอร์รี่ในปริมาณพอเหมาะเป็นประจำจะช่วยเพิ่มระดับสารซีแซนทีนในเลือดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจมีส่วนช่วยในการมองเห็นได้ดีขึ้น

สอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นที่ศึกษาสารต้านอนุมูลอิสระส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพสายตา โดยเฉพาะสารซีแซนทีน จากการทดลองให้กลุ่มผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรง อายุ 65-70 ปี ดื่มนมที่มีส่วนผสมของน้ำโกจิเบอร์รี่ 13.7 กรัมต่อวัน เปรียบเทียบกับยาหลอกเป็นระยะ 90 วัน จากนั้นจึงตรวจสุขภาพตา ผลที่ได้ออกมาคล้ายคลึงกัน โดยกลุ่มที่รับประทานอาหารเสริมจากโกจิเบอร์รี่มีระดับสารซีแซนทีนและสารต้านอนุมูลอิสระเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่พบความเสื่อมด้านอื่น ๆ ของดวงตาเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอก จึงเชื่อว่าการรับประทานโกจิเบอร์รี่อาจมีส่วนช่วยในการมองเห็นและชะลอโรคทางดวงตาบางโรคในกลุ่มผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานมากเพียงพอเพื่อสรุปผล ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตเกี่ยวกับสารซีแซนทีนต่อการเปลี่ยนแปลงของจอตา

โรคและอาการอื่น เช่น ภาวะตาแห้ง ความดันโลหิตสูง อาการไข้ โรคมาลาเรีย ความผิดปกติของระบบไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลือง ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ วิงเวียนศีรษะ หูอื้อ ซึ่งมีการวิจัยและค้นคว้าข้อมูลบางส่วนที่เชื่อว่าโกจิเบอร์รี่อาจมีส่วนช่วยโรคเหล่านี้ แต่ยังคงต้องหาหลักฐานยืนยันถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรับประทานโกจิเบอร์รี่ เพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาโรคเพิ่มเติม

การรับประทานโกจิเบอร์รี่อย่างปลอดภัย

ความเชื่อและการใช้สมุนไพรนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ บางส่วนยังคงต้องมีการศึกษาในระยะยาว เพื่อดูประสิทธิภาพและความปลอดภัย โดยทั่วไปการรับประทานโกจิเบอร์รี่ในชีวิตประจำวันมักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่มีข้อระมัดระวังในการรับประทานบางประการ ดังนี้

  • การรับประทานโกจิเบอร์รี่ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ค่อนข้างปลอดภัย แต่ในบางรายอาจเกิดผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน
  • สตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานโกจิเบอร์รี่ เนื่องจากมีสารบีเทนหรือเบทาอีน (Betaine) ที่อาจทำให้เสี่ยงต่อภาวะแท้ง รวมถึงคุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร เพราะยังไม่มีข้อมูลยืนยันความปลอดภัย
  • ผู้ที่แพ้โปรตีน ผลิตภัณฑ์จากยาสูบ ผลไม้บางชนิดอย่างมะเขือเทศหรือลูกท้อ และถั่วบางชนิด ควรระมัดระวังในการใช้และปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทาน หากมีอาการแพ้หรือผิดปกติควรหยุดรับประทานและไปพบแพทย์
  • โกจิเบอร์รี่อาจทำให้ความดันเลือดลดต่ำลง ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ โรคความดันโลหิตสูง หรือรับประทานยาที่ส่งผลต่อความดันเลือดควรหลีกเลี่ยงในการรับประทาน
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรหลีกเลี่ยงการรับประทานโกจิเบอร์รี่ โดยเฉพาะส่วนที่มาจากเปลือกรากของต้นโกจิเบอร์รี่ เพราะอาจจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง และควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ
  • โกจิเบอร์รี่อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา สมุนไพร และอาหารเสริมบางชนิดเมื่อรับประทานร่วมกัน เช่น ยาที่ต้องดูดซึมผ่านเอ็นไซม์ Cytochrome P450 จากตับ ยารักษาโรคเบาหวาน ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยาวาร์ฟารินหรืออีกชื่อคือ คูมาดิน ในกรณีที่มียารับประทานประจำหรือมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานโกจิเบอร์รี่ทุกครั้ง
  • การรับประทานโกจิเบอร์รี่ในปริมาณมากยังเสี่ยงต่อภาวะความเป็นพิษจากการได้รับวิตามิน เอ เกินขนาด

โกจิเบอร์รี่อาจเป็นผลไม้ที่มากประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย แต่ในแง่ของการรักษาโรคหรือภาวะต่าง ๆ ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันประสิทธิภาพและรับรองผลการใช้โกจิเบอร์รี่เพียงอย่างเดียวในการป้องกันโรคอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอและไปพบแพทย์เมื่อมีอาการป่วยยังเป็นสิ่งสำคัญ