แพ้เหงื่อ คือ อาการแพ้ที่ทำให้เกิดผื่นบริเวณผิวหนังซึ่งหลายคนเชื่อว่าเกิดจากเหงื่อออก แท้จริงแล้วมีสาเหตุมาจากอะไร และมีวิธีรักษาอย่างไร รวมทั้งวิธีการป้องกันที่ผู้ป่วยควรทราบเพื่อไม่ให้อาการรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
แพ้เหงื่อ คือลมพิษชนิดหนึ่งที่เกิดจากความร้อน โดยความร้อนจะเข้าไปกระตุ้นการทำงานของต่อมเหงื่อ ทำให้เหงื่อถูกหลั่งออกมาร่วมกับการเกิดผื่น หรือผู้ป่วยบางคนอาจเกิดอาการแพ้เหงื่อจากการที่ร่างกายสร้างแอนตีบอดีหรือภูมิต้านทานอย่าง สารอิมมิวโนโกลบูลิน (Immunoglobulin-G: IgG) ต่อเหงื่อของตัวเองจึงทำให้เกิดเป็นผื่นลมพิษขึ้นมานั่นเอง
อาการแพ้เหงื่อเป็นอย่างไร ?
อาการแพ้เหงื่อมักเกิดขึ้นค่อนข้างเฉียบพลัน และเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย แต่ส่วนใหญ่พบได้มากที่สุด คือ บริเวณหน้าอก ใบหน้า แผ่นหลังส่วนบน และแขน ในเบื้องต้นผื่นลมพิษจะขึ้นหลังจากเริ่มมีเหงื่อออกไม่นานนัก ผื่นที่ขึ้นมีลักษณะเป็นปื้นแดง หรือหนานูนเป็นวงกลม อาจมีอาการคัน หรือมีอาการเจ็บแปลบ ๆ หากสัมผัสตรงผื่นจะรู้สึกอุ่น ๆ บางครั้งอาจคล้ายกับอาการผิวหนังบวม หากผื่นเกิดบริเวณใกล้ ๆ กัน
ทั้งนี้อาการแพ้เหงื่อจะกินเวลาครั้งละประมาณ 30 นาที ไปจนถึง 1 ชั่วโมง นับตั้งแต่เริ่มเกิดอาการจนผื่นลมพิษยุบ ทว่าในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการแพ้ที่รุนแรงจนเป็นอันตรายได้ ดังนั้นหากเกิดอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ท้องเสีย ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ หายใจตื้น หรือหายใจมีเสียงหวีด น้ำลายในปากเยอะขึ้นกว่าปกติ ความดันโลหิตลดต่ำลง และปวดบีบท้อง ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อความปลอดภัย
แพ้เหงื่อเกิดจากอะไร ?
สาเหตุหลักของอาการแพ้เหงื่อคือ ความร้อน เมื่อผู้ป่วยอยู่ในบริเวณที่มีความร้อนสูง หรือทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความร้อนในร่างกาย เช่น ออกกำลังกาย อาบน้ำอุ่น หรือเข้าห้องอบซาวน่า เป็นไข้ สวมใส่เสื้อผ้าที่คับแน่นหรือไม่ระบายอากาศ รับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดจัด กิจกรรมเหล่านี้ทำให้ต่อมเหงื่อสร้างเหงื่อออกมาเพื่อระบายความร้อน และเมื่อผิวหนังมีปฏิกิริยากับเหงื่อและความร้อน ก็จะกระตุ้นให้เกิดลมพิษขึ้นมานั่นเอง ในบางกรณีอาการแพ้เหงื่ออาจกำเริบจากภาวะความเครียด และความวิตกกังวลได้อีกด้วย
ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่มีอาการแพ้เหงื่ออยู่แล้วมักจะไม่ค่อยพบว่ามีอาการของลมพิษชนิดอื่น ๆ ที่เกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น ลมพิษจากการถูกขีดข่วน ลมพิษที่เกิดจากความเย็น หรือลมพิษที่เกิดจากแรงดัน ส่วนผู้ป่วยโรคอื่น ๆ เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบ โรคหอบหืด หรือมีอาการแพ้อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภูมิแพ้อากาศ แพ้อาหาร หรือแพ้เกสรดอกไม้ ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้เหงื่อได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
ใครเสี่ยงต่ออาการแพ้เหงื่อบ้าง ?
แม้อาการแพ้เหงื่อจะสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดขึ้นในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และจะเริ่มแสดงอาการให้เห็นครั้งแรกในช่วงอายุ 10 ปี และ 30 ปี โดยคนที่มีแนวโน้มเสี่ยงต่ออาการนี้ ได้แก่ ผู้ที่มีอาการลมพิษเรื้อรัง และผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการภูมิแพ้ อาทิ โรคหอบหืด โรคจมูกอักเสบ หรือผื่นผิวหนังอักเสบ เป็นต้น
แพ้เหงื่อรักษาได้อย่างไร ?
เบื้องต้น การรักษาอาการแพ้เหงื่อจะมุ่งเน้นไปที่วิธีลดอาการแพ้ และควบคุมไม่ให้อาการกำเริบ โดยสามารถดูแลตัวเองได้ดังนี้
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เช่น ว่านหางจระเข้ หากเกิดอาการผื่นคันแล้ว สามารถใช้ว่านหางจระเข้จากธรรมชาติ หรือเจลว่านหางจระเข้ที่ไม่ผสมสี น้ำหอม และสารเคมี เพื่อป้องกันการระคายเคืองของผิวที่อาจเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังอาจใช้สเปรย์ว่านหางจระเข้ที่มีมาตรฐาน ฉีดพ่นบริเวณที่เกิดอาการเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวโดยตรง อย่างไรก็ตาม หากมีหนอง ผื่นแดง คันมากขึ้นหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์ ควรหยุดใช้และปรึกษาแพทย์
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น การออกกำลังกาย หากเป็นไปได้ควรออกกำลังกายในบริเวณที่มีอากาศไม่ร้อนจนเกินไป หรือหลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นและการอบซาวน่า ควบคุมความเครียดและความวิตกกังวลให้ได้
- เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม หากพบว่าตนเองมีภาวะแพ้เหงื่อจากความร้อน ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด ลดปริมาณการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร้อน ๆ อีกทั้งควรควบคุมปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะช่วยลดความถี่ในการเกิดอาการได้
ทั้งนี้หากอาการแพ้เหงื่อกำเริบ แพทย์มักสั่งยา เช่น ยายับยั้งลิวโคทรีน หรือยากดภูมิคุ้มกัน และยาชนิดอื่น ๆ เช่น
- ยาแก้แพ้ เช่น ยาเซทิริซีนที่ช่วยออกฤทธิ์ในการขัดขวางสารฮีสตามีนซึ่งส่งผลให้เกิดอาการแพ้ ทำให้อาการแพ้ค่อย ๆ ลดลงอย่างได้ผล
- ยาคีโตไตเฟน เป็นยาที่ช่วยบรรเทาอาการแพ้เหงื่อได้เป็นอย่างดี โดยสามารถช่วยลดปริมาณผื่น และอาการคันได้ ทว่าก็เป็นยาที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจได้เช่นกัน จึงควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างระมัดระวัง
- ยาเบต้าบล็อกเกอร์ เช่น ยาโพรพราโนลอล เป็นยาที่มักใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง และทำให้ปัจจัยในการกระตุ้นอาการแพ้เหงื่อลดลง
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจต้องดูแลตัวเองควบคู่ไปกับการใช้ยา ซึ่งนอกจากจะช่วยให้อาการแพ้ลดลงแล้ว ก็ยังอาจทำให้ความถี่ในการเกิดอาการลดลงด้วย
แพ้เหงื่อป้องกันได้อย่างไร ?
อาการแพ้เหงื่อไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่สามารถลดความถี่ในการเกิดอาการได้ หากตรวจพบว่ามีอาการแพ้เหงื่อ ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น หากมีปัจจัยมาจากความเครียด ควรหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด และควรหาทางจัดการกับความเครียด นอกจากนี้ ยังสามารถป้องกันอาการแพ้ได้ด้วยวิธีเหล่านี้
- ออกกำลังกายแต่พอดี และควรหยุดออกกำลังกายทันทีหากเริ่มมีผื่นลมพิษขึ้นตามผิวหนัง
- หลีกเลี่ยงความเครียด หรือความวิตกกังวล
- อาบน้ำเย็น หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่อุณหภูมิสูง
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
- ปรับปรุงสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัยให้มีอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ร้อน หรืออบอ้าวจนเกินไป
- ใช้สเปรย์ว่านหางจระเข้ที่มีมาตรฐาน ฉีดพ่นทันทีหลังจากเจอแสงแดดหรือตอนเจออากาศร้อน