แพ้ถั่วเหลือง

ความหมาย แพ้ถั่วเหลือง

แพ้ถั่วเหลือง (Soy allergy) เป็นภาวะที่ร่างกายตอบสนองต่ออาหารที่มีส่วนประกอบของถั่วเหลืองมากผิดปกติ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการหายใจลำบาก ลมพิษ ผื่นคัน ปรากฏรอยแดงตามผิวหนัง หรือในกรณีร้ายแรงอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต โดยอาการแพ้ถั่วเหลืองพบได้ในทุกวัย แต่มักพบมากในทารกและเด็กเล็ก ในบางรายอาจหายไปเองเมื่อโตขึ้น ส่วนการรักษาหากอาการไม่รุนแรงอาจใช้วิธีการรับประทานยาแก้แพ้และป้องกันการแพ้ด้วยการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีถั่วเหลืองเป็นส่วนประกอบ

แพ้ถั่วเหลือง

อาการแพ้ถั่วเหลือง

ความผิดปกติจากการแพ้ถั่วอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะตามความรุนแรง ดังนี้

  • อาการแพ้ที่พบได้ทั่วไป
    อาการแพ้ที่พบได้ทั่วไป เช่น รู้สึกเหน็บชาหรือคันรอบปาก ลมพิษ อาการบวมตามร่างกาย โดยเฉพาะใบหน้าและลำคอ หายใจลำบาก มีน้ำมูก หายใจมีเสียงหวีด ปวดท้อง ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังเป็นผื่นหรือกลายเป็นสีแดง เป็นต้น แม้ว่าอาการแพ้เหล่านี้อาจพบได้ทั่วไป แต่ถ้าหากมีแนวโน้มว่าอาการอาจรุนแรงขึ้นหรือไม่ทุเลาลงควรรีบไปพบแพทย์
  • อาการแพ้ชนิดรุนแรง
    การแพ้อย่างรุนแรงเกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงอย่างเฉียบพลัน (Anaphylaxis) ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ยาก แต่ก็ไม่ควรประมาท โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคหืดหรือมีอาการแพ้อาหารชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย หากปรากฏอาการหรือมีสัญญาณของ Anaphylaxis อย่างอาการคอบวมจนหายใจไม่ออก หัวใจเต้นรัวหรือช้าผิดปกติ เวียนศีรษะ หมดสติ หรืออาการช็อก ควรรีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

สาเหตุของการแพ้ถั่วเหลือง

สาเหตุของการแพ้ถั่วเหลืองนั้นอาจเกิดมาจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อสารบางอย่างในถั่วเหลืองรุนแรงมากกว่าปกติ จึงกระตุ้นให้ร่างกายผลิตแอนติบอดีซึ่งมีหน้าที่ต่อต้านสิ่งแปลกปลอมในร่างกายเพื่อกำจัดสารประกอบของถั่วเหลืองที่อยู่ในร่างกายและเป็นเหตุให้เกิดอาการผิดปกติขึ้น แต่ในอีกกรณี อาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องร่วงหลังจากการรับประทานถั่วเหลืองอาจมีสาเหตุมาจากการทำงานที่ผิดปกติของกระเพาะอาหารหรือลำไส้ในการจัดการกับโปรตีน ซึ่งอาจไม่ใช่อาการแพ้ถั่วเหลืองโดยตรง

โดยผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้ถั่วเหลือง ได้แก่ ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติการแพ้ถั่วเหลือง ทารกหรือเด็กเล็ก และผู้ที่แพ้อาหารชนิดอื่น ๆ

การวินิจฉัยการแพ้ถั่วเหลือง

ในขั้นแรกแพทย์อาจสอบถามอาการและตรวจร่างกาย โดยในขั้นต่อไปแพทย์อาจตรวจสอบด้วยวิธี ดังนี้

  • ตรวจเลือด
    การตรวจเลือดเป็นการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปทดสอบในห้องปฏิบัติการ เพื่อหาปริมาณสารต้านภูมิแพ้หรือแอนติบอดี
  • ทดสอบทางผิวหนัง
    การทดสอบทางผิวหนังแบ่งได้เป็น 2 วิธี วิธีแรกเป็นการใช้เข็มสะกิดผิวหนังและหยอดสารที่คาดว่าจะก่ออาการแพ้ลงไปเพื่อดูการตอบสนองของผิวหนัง และวิธีที่สองใช้สารก่อภูมิแพ้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังและรอดูอาการเช่นเดียวกับวิธีแรก แต่อาจใช้สารก่อภูมิแพ้ในปริมาณที่มากกว่า
  • ทดสอบการแพ้อาหาร
    การทดสอบรูปแบบนี้เป็นการทดสอบด้วยการรับประทานอาหารชนิดนั้น ๆ เพื่อสังเกตอาการผิดปกติ วิธีนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และอยู่ในสถานพยาบาลที่มีเครื่องมือแพทย์ที่พร้อมสำหรับกรณีที่เกิดอาการแพ้ที่รุนแรง
  • จำกัดอาหาร
    การจำกัดอาหารเป็นการสังเกตอาการด้วยตนเอง ด้วยการงดรับประทานอาหารที่มีถั่วเหลืองเป็นส่วนประกอบ จากนั้นค่อย ๆ กลับมารับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของถั่วเหลืองอีกครั้งเมื่อผ่านไปสักระยะและสังเกตว่ากลับมามีอาการแพ้อีกหรือไม่ โดยหากต้องการใช้วิธีนี้ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงก่อนสังเกตอาการ

การรักษาการแพ้ถั่วเหลือง

อาการแพ้ถั่วที่พบในทารกและในเด็กเล็กอาจหายไปเองเมื่อโตขึ้น แต่บางรายอาการเหล่านี้อาจยังคงอยู่และอาจไม่สามารถรักษาให้หายได้ การรักษาจึงเน้นไปที่การบรรเทาอาการแพ้ที่เกิดขึ้น ด้วยการรับประทานยาแก้แพ้ที่อาจช่วยบรรเทาอาการผื่นคัน ลมพิษ หรือหายใจลำบากได้ และหากกังวลเกี่ยวกับอาการแพ้ขั้นรุนแรง ควรไปปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์อาจจ่ายยายาเอพิเนฟรีนในรูปแบบปากกาฉีดยาสำหรับพกพา สำหรับใช้เมื่อเกิดอาการที่อาจนำไปสู่ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงอย่างเฉียบพลัน ซึ่งต้องได้รับการสอนวิธีการฉีดจากแพทย์หรือพยาบาลเท่านั้น หลังจากฉีดยาควรพาผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลทันที โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการดูแลแพทย์และพยาบาลจนกว่าอาการจะดีขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของการแพ้ถั่วเหลือง

ภาวะแทรกซ้อนของอาการแพ้ถั่วเหลืองอาจปรากฏอยู่ในรูปแบบปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงอย่างเฉียบพลันที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต และโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่อาจเกิดจากการแพ้บริเวณผิวหนัง

การป้องกันการแพ้ถั่วเหลือง

อาการแพ้ถั่วเหลืองนั้นเป็นอาการที่ไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากเป็นความผิดปกติโดยกำเนิด จึงควรเน้นไปที่การป้องกันไม่ให้เกิดอาการ หากได้รับการวินิจฉัยว่าแพ้ถั่วเหลือง ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของถั่วเหลืองทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นน้ำเต้าหู้ ซอสถั่วเหลือง เต้าเจี้ยว มิโซะ น้ำมันถั่วเหลือง รวมถึงอาหารอื่น ๆ ที่มีอาหารประเภทถั่วหรือถั่วเหลืองเป็นส่วนประกอบ เมื่อต้องรับประทานอาหารที่ไม่ได้ปรุงเอง ควรสอบถามหรือแจ้งผู้ปรุงอาหารเกี่ยวกับอาการแพ้ถั่วเหลืองเพื่อป้องกันอาการแพ้ รวมทั้งอ่านฉลากอาหารก่อนการซื้อหรือรับประทานทุกครั้ง นอกจากนี้ หากแพทย์สั่งจ่ายยาเอพิเนฟรีนให้ ควรพกยานี้ติดตัวไว้ตลอดสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน และสวมกำไรหรือสร้อยข้อมือสำหรับตรวจจับอาการแพ้อยู่เสมอ