แคลซิโทนิน (Calcitonin)

แคลซิโทนิน (Calcitonin)

Calcitonin (แคลซิโทนิน) เป็นยาที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ทดแทนฮอร์โมนแคลซิโทนินในร่างกายมนุษย์ซึ่งถูกสร้างขึ้นจากต่อมไทรอยด์ มักใช้รักษาโรคกระดูกพรุนของสตรีในวัยหมดประจำเดือน โรคพาเจทของกระดูก (Paget's Disease) และภาวะแคลเซียมในเลือดสูง โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสลายตัวของกระดูก ลดปริมาณแคลเซียมในเลือด รวมถึงช่วยเพิ่มกระบวนการขับแคลเซียมของไตด้วย

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยาแคลซิโทนินถูกใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุน โรคพาเจทของกระดูก และภาวะแคลเซียมในเลือดสูงน้อยลง เนื่องจากมีการใช้ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonate) ทดแทน เช่น ยาอเลนโดรเนต (Alendronate) ยาไอแบนโดรเนต (Ibandronate) ยาไรซีโดรเนต (Risedronate)

แคลซิโทนิน (Calcitonin)

กลุ่มยา ยาที่ออกฤทธิ์ต่อกระบวนการเผาผลาญของกระดูก
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรคกระดูกพรุน โรคพาเจทของกระดูก และภาวะแคลเซียมในเลือดสูง
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่าทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่ามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ รวมถึงผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เพราะยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันว่าสามารถใช้ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเด็กทารกที่รับประทานนมแม่
รูปแบบของยา ยาฉีด ยาพ่นจมูก

คำเตือนการใช้ยา Calcitonin

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา Calcitonin ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติการแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยา Calcitonin รวมถึงยาชนิดอื่น ๆ เพราะอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากวางแผนที่จะตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีข้อสรุปทางการแพทย์ที่แน่ชัดว่าตัวยามีความปลอดภัยต่อผู้ที่ตั้งครรภ์และกำลังให้นมบุตร
  • การใช้ยา Calcitonin ในเด็กควรปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันแน่ชัดเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา
  • การใช้ยา Calcitonin ในผู้สูงอายุต้องใช้ความระมัดระวังและอาจต้องมีการปรับลดขนาดยาลง เพราะผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับตับ ไต และหัวใจได้ง่ายกว่าคนวัยอื่น  
  • ผู้ที่มีภาวะสุขภาพบางประการ เช่น มีภาวะขาดวิตามินดี หรือมีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ (Hypocalcemia) ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะอาจทำให้อาการแย่ลง
  • การใช้ยา Calcitonin อาจทำให้ปฏิกิริยาทางร่างกายหรือการตอบสนองช้าลง จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ การใช้เครื่องจักร รวมถึงการทำงานที่เสี่ยงอันตราย
  • การใช้ยา Calcitonin อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งไทรอยด์ในบางคนได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
  • ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือพยายามเลิกสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง และอาจส่งผลให้กระดูกหักได้ง่ายขึ้น

ปริมาณการใช้ยา Calcitonin

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Calcitonin ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยตัวอย่างการใช้ยามีดังนี้

โรคกระดูกพรุนของสตรีในวัยหมดประจำเดือน

ตัวอย่างการใช้ยา Calcitonin เพื่อรักษาโรคกระดูกพรุนของสตรีในวัยหมดประจำเดือน

ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนัง 100 หน่วยสากล (IU) หรือ 0.5 มิลลิลิตร วันเว้นวัน

โรคพาเจทของกระดูก (Paget's Disease)

ตัวอย่างการใช้ยา Calcitonin เพื่อรักษาโรคพาเจทของกระดูก

ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนัง 100 หน่วยสากล (IU) หรือ 0.5 มิลลิลิตร วันละ 1 ครั้ง

การใช้ยา Calcitonin

โดยทั่วไปยา Calcitonin จะถูกใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือแพทย์จะเป็นผู้ฉีดยาให้เท่านั้น แต่ในบางกรณี แพทย์อาจสอนวิธีการฉีดยาเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ยาเองที่บ้านได้ การฉีดยาด้วยตนเองควรปฏิบัติตามวิธีการดังต่อไปนี้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา

  • ปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์หรือคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยา
  • ใช้เข็มฉีดยาและกระบอกฉีดยาใหม่ทุกครั้ง รวมถึงควรตรวจสอบบรรจุภัณฑ์และตัวยาก่อนการใช้ทุกครั้ง หากบรรจุภัณฑ์ชำรุดหรือตัวยามีลักษณะขุ่น มีตะกอนผง และเปลี่ยนสีไม่ควรใช้ยา
  • เปลี่ยนตำแหน่งที่ใช้ในการฉีดยาให้อยู่ห่างจากบริเวณที่ฉีดยาครั้งก่อนหน้าประมาณ 1.5 นิ้วทุกครั้ง เพื่อป้องกันปัญหาผิวหนังที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดยา
  • ทิ้งเข็มฉีดยาที่ใช้แล้วลงในภาชนะปิดทึบที่เข็มฉีดยาไม่สามารถแทงทะลุได้ และควรทิ้งเข็มฉีดยาให้ห่างจากเด็กและสัตว์เลี้ยงด้วย
  • กรณียาพ่นจมูก ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด
  • ในกรณีที่ลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนดให้ใช้ยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่ถ้าหากนึกขึ้นได้ตอนที่ใกล้กับเวลาใช้ยาครั้งถัดไปให้ข้ามไปใช้ครั้งถัดไป ไม่ต้องใช้ยาซ้ำ 2 ครั้ง
  • การเก็บยาควรเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส ไม่ควรเก็บในช่องแช่แข็งเพราะถ้าหากยาแข็งตัวจะไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถใช้ได้ รวมถึงไม่ควรใช้ยาที่หมดอายุแล้ว

ปฏิกิริยาระหว่างยา Calcitonin กับยาอื่น

การใช้ยา Calcitonin ร่วมกับยาที่ออกฤทธิ์ต้านแคลเซียม (Calcium Channel Blockers) หรือยาในกลุ่มคาร์ดิแอก ไกลโคไซด์ (Cardiac Glycoside) เช่น ยาดิจิทาลิส (Digitalis) อาจทำให้ระดับความเข้มข้นของลิเทียมในเลือดลดลง จึงต้องมีการปรับขนาดยาหากใช้ร่วมกัน

นอกจากนี้ ยา Calcitonin อาจทำปฏิกิริยากับตัวอย่างยา วิตามิน หรือสมุนไพรอื่น ๆ และทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลงไดด้วย ดังนั้นหากผู้ป่วยกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอเพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Calcitonin

การใช้ยา Calcitonin อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงทั่วไปที่ไม่รุนแรง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เลือดกำเดาไหลหรือระคายเคืองรูจมูก มึนหรือปวดศีรษะ มีอาการบวมบริเวณที่ฉีดยา ผิวหนังแดง รู้สึกเสียวแปลบ รวมถึงอาจมีอาการปวดกระดูกและข้อเพิ่มขึ้นในช่วง 2–3 เดือนแรกของการใช้ยา

นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงที่ควรรีบไปพบแพทย์ อย่างอาการวิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม อาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง ชาหรือรู้สึกเสียวแปลบบริเวณรอบปาก นิ้วมือ และนิ้วเท้า ซึ่งเป็นสัญญาณของการมีระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ รวมถึงการเกิดอาการแพ้ยา เช่น เกิดลมพิษ หายใจลำบาก มีอาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอในบางคนด้วย