เอ็นข้อศอกด้านในอักเสบ (Golfer's Elbow)

ความหมาย เอ็นข้อศอกด้านในอักเสบ (Golfer's Elbow)

Golfer's Elbow หรือโรคเอ็นข้อศอกด้านในอักเสบ เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณเอ็นของกล้ามเนื้อข้อศอกด้านใน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดตามแนวท้องแขนตั้งแต่ข้อศอกกระจายไปยังข้อมือ มือและข้อมืออ่อนแรง โดยอาการเจ็บอาจรุนแรงขึ้นเมื่อขยับศอกหรือข้อมือ

Golfer's Elbow มักพบได้บ่อยในคนที่ต้องใช้ข้อมือหรือกำมือทำกิจกรรมต่าง ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น นักกอล์ฟ นักเทนนิส นักธนู หรือคนที่ใช้เครื่องมือในการประกอบอาชีพ เป็นต้น โรคเอ็นข้อศอกด้านในอักเสบนี้สามารถบรรเทาอาการและรักษาได้ตามสาเหตุและอาการที่เกิดขึ้นในแต่ละคน

เอ็นข้อศอกด้านในอักเสบ (Golfer's Elbow)

อาการของ Golfer's Elbow

อาการของ Golfer's Elbow อาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหรือค่อย ๆ เกิดขึ้น โดยผู้ป่วยมักมีอาการต่อไปนี้

  • ปวดตามแนวท้องแขนตั้งแต่ข้อศอกไปจนถึงข้อมือฝั่งนิ้วก้อย และรู้สึกเจ็บเมื่องอข้อมือ
  • มือและข้อมืออ่อนแรง
  • มีอาการเหน็บชาหรือเหมือนถูกของแหลมทิ่มบริเวณนิ้วใดนิ้ว หนึ่ง โดยเฉพาะนิ้วนางและนิ้วก้อย หรือกระจายไปหลายนิ้ว 
  • มีอาการข้อศอกติด ส่งผลให้เจ็บข้อมือ

หากบรรเทาอาการด้วยการประคบเย็นหรือการรับประทานยาแก้ปวดแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น มีอาการอักเสบ แสบร้อนบริเวณข้อศอก มีไข้ งอข้อศอกไม่ได้ ศอกผิดรูป มีอาการคล้ายกระดูกหักเกิดขึ้น ผู้ป่วยควรพบไปแพทย์

สาเหตุของ Golfer's Elbow

Golfer's Elbow เกิดจากกล้ามเนื้อและเอ็นที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของข้อมือและนิ้วได้รับความเสียหาย โดยสาเหตุมาจากการเกร็งและงอข้อมือ กล้ามเนื้อไหล่และข้อมืออ่อนแรง การใช้งานข้อมือและนิ้วอย่างหนักหรือใช้งานซ้ำ ๆ เช่น ยกของในท่าที่ไม่เหมาะสม ถือกระเป๋าหรือสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก ใช้เลื่อยไฟฟ้าหรือเครื่องมืออย่างต่อเนื่อง เล่นกีฬาชนิดที่ใช้ไม้ตีลูกด้วยอุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมกับมือผู้เล่น เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรค Golfer's Elbow ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ผู้ที่ทำกิจกรรมซ้ำ ๆ ติดต่อกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมงต่อวัน มีภาวะอ้วน และผู้ที่สูบบุหรี่

การวินิจฉัย Golfer's Elbow

แพทย์จะวินิจฉัย Golfer's Elbow จากการสอบถามประวัติทางการแพทย์ร่วมกับการตรวจร่างกายเพื่อทดสอบความรุนแรงของอาการปวดและความฝืด โดยผู้ป่วยจะต้องวางแขนไว้บนโต๊ะ หันด้านท้องแขนขึ้น ทดสอบการยกมือโดยการดัดข้อมือ ทดสอบการเคลื่อนไหวของข้อศอก ข้อมือหรือนิ้วด้วยวิธีต่าง ๆ หรือการกดแขนเพื่อตรวจหาบริเวณที่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจเอกซเรย์หรือทำ MRI เพื่อช่วยยืนยันได้ว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากสาเหตุอื่นที่มีความคล้ายกัน อย่างกระดูกหักหรืออาการข้อต่ออักเสบ 

การรักษา Golfer's Elbow

แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บเป็นเวลาอย่างน้อย 2–3 สัปดาห์หรือจนกว่าจะหายดี ร่วมกับการดูแลตนเองและอาจรักษาด้วยวิธีลดอาการบวมอักเสบอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น

  • การประคบเย็นบริเวณข้อศอกประมาณ 15–20 นาที วันละ 3–4 ครั้ง หรือใช้น้ำแข็งลูบบริเวณข้อศอกด้านในครั้งละ 5 นาที วันละ 2–3 ครั้ง โดยให้ใช้ผ้าขนหนูหรือผ้าสะอาดห่อไว้น้ำแข็งไว้เพื่อไม่ให้สัมผัสกับผิวหนังโดยตรง
  • การรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ยากลุ่มเอ็นเสด (Non-Steroidal Anti-Inflammatory: NSAIDs) อย่างยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และยานาพรอกเซน (Naproxen) 
  • การฉีดยาคอร์ติโซน (Cortisone) และยาชาเพื่อลดอาการปวดบวมในบริเวณที่เอ็นติดกับกระดูก 
  • การใช้อุปกรณ์เสริมป้องกันแรงสั่นสะเทือน อย่างสายรัดแขนส่วนล่าง (Counter-Force Bracing) เพื่อลดอาการปวดของเอ็นและกล้ามเนื้อ
  • การออกกำลังกาย การทำกายภาพบำบัด หรือกิจกรรมบำบัด เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและความยืดหยุ่นในบริเวณที่มีอาการ
  • การผ่าตัด ในกรณีที่อาการของผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาภายในเวลา 6–12 เดือน 

ในกรณีที่เกิดอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ควรตรวจสอบหรือปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ รูปแบบการเล่น และลดเวลาการเล่นลงจากเมื่อก่อน หากอาการหายดีแล้วค่อย ๆ เพิ่มระดับของการทำกิจกรรมขึ้นทีละน้อยเนื่องจากอาการของ Golfer's elbow อาจกลับมาเกิดซ้ำและกลายเป็นโรคเรื้อรัง

ภาวะแทรกซ้อนของ Golfer's Elbow

Golfer's Elbow อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ หากไม่ได้รับการรักษา เช่น มีอาการปวดเรื้อรัง เส้นประสาทเสื่อม เอ็นได้รับความเสียหาย โรคเอ็นข้อศอกด้านนอกอักเสบ หรือกลุ่มอาการประสาทมือชา (Carpal Tunnel Syndrome) เป็นต้น

การป้องกัน Golfer's Elbow

Golfer's Elbow สามารถป้องกันได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ยกของในท่าที่ถูกต้องโดยเกร็งที่ข้อมือเพื่อลดการใช้ข้อศอก
  • พักการใช้งานแขนเป็นระยะและไม่ควรใช้งานข้อศอกหนักเกินไป หากรู้สึกเจ็บบริเวณข้อศอกควรหยุดทำกิจกรรมทันที
  • เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อท้องแขนเป็นประจำ
  • ก่อนทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาใด ๆ ควรอบอุ่นร่างกายด้วยการเดินหรือวิ่งเบา ๆ เป็นเวลา 2–3 นาที และยืดเส้นยืดสายก่อนเสมอ รวมทั้งควรปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือท่าทางการเล่นที่ไม่ถูกลักษณะเพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อกล้ามเนื้อ
  • เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์เล่นกีฬาที่เหมาะสมต่อร่างกาย อย่างการใช้ไม้กอล์ฟหรือไม้เทนนิสที่มีน้ำหนักเบา